‘จีน’ ตัวเปลี่ยนเกม? ยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน

‘จีน’ ตัวเปลี่ยนเกม? ยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน

หรือ "จีน" จะเป็น "ตัวเปลี่ยนเกม" สงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยนักวิเคราะห์มองจีนสามารถส่งกองกำลังรักษาสันติภาพช่วยปกป้องยูเครนได้ ขณะที่ยูเครนก็มองจีนเป็นผู้นำโลกใต้ที่มีศักยภาพ

ขณะที่สงครามยูเครนซึ่งกินเวลามานานเกือบ 3 ปี มุ่งหน้าสู่อีกระดับอย่างรวดเร็ว บทบาทจีนในการเจรจาเพื่อสันติภาพและในสถานการณ์หลังความขัดแย้งก็เป็นที่น่าจับตามองเป็นพิเศษในการประชุมความมั่นคงมิวนิก ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันอาทิตย์ (16 ก.พ.) ที่ผ่านมา

อดีตเจ้าหน้าที่ระดับพันเอกรายหนึ่งคาดว่า จีนอาจส่งกองกำลังรักษาสันติภาพให้ยูเครนเพื่อช่วยปกป้องความมั่นคงตามข้อตกลงสันติภาพของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตราบใดที่จีนทำงานร่วมกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เช่น อินเดีย

โจว โป นักวิชาการอาวุโสจากศูนย์เพื่อความมั่นคงแห่งชาติและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงหวา ให้สัมภาษณ์นอกรอบการประชุมความมั่นคงมิวนิกว่า จีนมีกองทัพที่มีประสิทธิภาพ และมีกำลังทหารมากพอที่จะสนับสนุนการทำงานของนานาชาติหลังสงครามได้ แต่ก็เตือนว่า การปฏิบัติการรักษาสันติภาพร่วมกับประเทศในยุโรป อาจทำให้รัสเซียมองว่าความพยายามนั้นเป็นอิทธิพลนาโตอีกรูปแบบหนึ่ง 

แม้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้เชี่ยวชาญในที่ประชุมมิวนิกยังคงสงสัยถึงการมีส่วนร่วมของจีนในการเจรจาเบื้องต้น แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดว่าจีนจะเข้ามามีบทบาทในที่สุด

ซุน เฉิงห่าว ผู้เชี่ยวชาญด้านสหภาพยุโรปและสหรัฐจากมหาวิทยาลัยชิงหวา บอกว่า จีนอาจมีบทบาทในการเจรจาอย่างจำกัด เพราะยุโรปและยูเครนต้องการข้อตกลงที่มาพร้อมกับการรับประกันความมั่นคงอย่างแข็งแกร่ง

“เมื่อดูที่บริบทนี้ จีนจะมีบทบาทสำคัญได้แค่ไหนกัน จีนไม่ได้อยู่ในจุดที่จะเสนออะไรได้มากนักในตอนนี้” ซุน กล่าว

แต่โจวไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของซุน โดยบอกว่า จีนสามารถมีส่วนร่วมในการรับประกันความมั่นคงร่วมกับชาติมหาอำนาจอื่นๆได้ และย้ำถึงการมีส่วนร่วมของรัฐบาลปักกิ่งเมื่อทศวรรษ 1990 หลังจากยูเครนยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทั้งหมด รวมถึงประเทศจีน ได้ออกมารับประกันความมั่นคงให้กับยูเครน

“ถ้าไม่มีการรับประกันความมั่นคงร่วม ยูเครนจะรู้สึกไม่สบายใจ กลัวว่ารัสเซียอาจโจมตีอีกครั้งเมื่อไหร่ก็ได้” โจวกล่าว

ในฝั่งยูเครนเองนั้นก็คาดว่าในที่สุดแล้วจีนจะเข้ามามีบทบาทเช่นกัน และได้ปรับวิธีการสื่อสารใหม่ ถึงขั้นที่เคยขอให้ทางการยุโรปหยุดเหมารวมจีนกับอิหร่านและเกาหลีเหนือว่ามีบทบาทสนับสนุนรัสเซียมาแล้ว และในตอนที่คาจา คัลลา นักการทูตระดับสูงของสหภาพยุโรป (อียู) และอันโตนิโอ คอสตา ประธานสภายุโรป เยือนกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนเมื่อเดือน ธ.ค. 2567 ทั้งสองคนก็ได้รับคำขอให้หยุดกล่าวหาโรงงานผลิตโดรนในจีนว่าผลิตโดรนเกรดที่ใช้ในการทหารให้กับรัสเซีย

ทั้งนี้ รัฐบาลเคียฟมองว่ารัฐบาลปักกิ่งเป็นผู้นำกลุ่มประเทศโลกใต้มาตลอด และพยายามไม่ให้จีนแยกตัวออกห่างในช่วงที่มีสงคราม ส่วนหนึ่งมาจากความหวังที่ต้องการให้ประเทศต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม

เมื่อถามว่าจีนจะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการสู่การยุติสงครามหรือไม่ ปาฟโล คลิมกิน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน บอกว่า

“ตอบสั้นๆ คือ มี และนั่นจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมสำหรับยุโรป สหรัฐ และจีนเอง”

และเสริมว่าจะเป็นครั้งแรกของจีนที่จะได้เริ่มหารือเกี่ยวกับความมั่นคงอย่างสร้างสรรค์และจริงจัง รวมถึงบทบาทในการช่วยรักษาความมั่นคง

คลิมกินบอกด้วยว่า จีนจะมีบทบาทสำคัญในสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะมีการสนับสนุนจากประเทศที่ไม่ใช่ชาติตะวันตกร่วมด้วย หลังบรรลุข้อตกลงยุติสงครามใดๆ

อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนคาดการณ์ด้วยว่า อาจได้เห็นหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หรือประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เยือนกรุงเคียฟ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่อาจช่วยทำให้ยูเครนเชื่อมั่นในจีนได้ หลังจากจีนถูกโจมตีจนเสียความน่าชื่อถือในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา และคลิมกินคาดว่า สี จิ้นผิง อาจไปเยือนเคียฟก่อนหรือหลังจากการเข้าร่วมพิธีรำลึกสงครามโลกครั้งที่ 2 ในกรุงมอสโก วันที่ 9 พ.ค.

ขณะที่ในการประชุมความมั่นคงมิวนิกกับรัฐมนตรีจากยูเครนและสหภาพยุโรป รัฐมนตรีหวังชี้ให้เห็นชัดเจนว่าปักกิ่งสนับสนุนตัวแทนของรัฐบาลเคียฟและยุโรปในการเจรจาสันติภาพ หลังจากเจ้าหน้าที่สหรัฐเคลือบแคลงใจเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของทั้งสองฝ่าย

ด้านหลี่ เฉิง ผู้อำนวยการผู้ก่อตั้งศูนย์จีนและโลกร่วมสมัย มหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า ผลประโยชน์ของจีนไม่ได้แตกต่างไปจากผลประโยชน์ของรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งทั้งสงครามในยูเครน และความขัดแย้งในกาซาไม่ได้เป็นผลดีต่อจีน

“ไม่มีสงครามยูเครน ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยุโรปก็จะดีขึ้นมากเรื่อยๆ ดังนั้นถ้าสงครามสิ้นสุด อย่างน้อยจีนอาจได้พัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศยุโรปบางแห่งได้” หลี่กล่าว

นอกจากนี้ หลี่คาดว่ารัฐบาลปักกิ่งอาจมีบทบาทเชิงบวกต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของยูเครนได้ ขณะเดียวกันจีนก็ต้องการสร้างความเชื่อมั่นว่ารัสเซียจะอยู่รอดได้เช่นกัน

 

อ้างอิง: South China Morning Post