เข้าใจ “โดนัลด์ ทรัมป์” เข้าใจการเมืองสหรัฐ | บัณฑิต นิจถาวร

เข้าใจ “โดนัลด์ ทรัมป์” เข้าใจการเมืองสหรัฐ | บัณฑิต นิจถาวร

วันนี้ครบสามสัปดาห์ที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” เข้ารับตําแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเป็นสมัยที่สอง ซึ่งต้องบอกว่าออกตัวแรงมากด้วยคําสั่งฝ่ายบริหารกว่า 50 ฉบับในช่วง 10 วันแรก

พื่อขับเคลื่อนนโยบาย America First ที่สร้างความวุ่นวายและความไม่แน่นอนไปทั่วทั้งในสหรัฐและต่างประเทศ 

คําถามคือ ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการอะไรจากสิ่งเหล่านี้ และเราจะเข้าใจตัวตนของทรัมป์ รวมถึงการเมืองในสหรัฐอเมริกาขณะนี้ได้อย่างไร นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

สามสัปดาห์แรกของประธานาธิบดีทรัมป์ต้องถือว่าแอคทีฟมาก เฉพาะช่วง 10 วันแรก ทรัมป์ได้ออกคําสั่งบริหารไปแล้วมากกว่า 50 ฉบับ เพื่อเปลี่ยนอเมริกาไปในทิศทางที่เขาต้องการ

ไม่ว่าการเอาจริงกับผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ขึ้นภาษีสินค้านําเข้าจากแคนาดา เม็กซิโก จีน หยุดความช่วยเหลือที่สหรัฐให้กับต่างประเทศ ลดบทบาทสหรัฐในเรื่องโลกร้อนและองค์การอนามัยโลก ยุตินโยบายส่งเสริมความแตกต่างและความเท่าเทียมในหน่วยงานรัฐ

ทั้งหมดสะท้อนความเป็นตัวตนของทรัมป์ที่พร้อมจะทําอะไรแตกต่างโดยไม่สนใจใครหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งผลกระทบที่จะตามมามีมากมาย ทั้งการค้าระหว่างประเทศที่จะลดลง ตลาดแรงงานในสหรัฐที่ค่าจ้างจะปรับสูงขึ้น แรงกดดันเงินเฟ้อที่จะมีมากขึ้น และการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่จะลดลง ทั้งหมดจะเกิดขึ้นเพียงแต่ตลาดการเงินยังไม่สะท้อนความเสี่ยงเหล่านี้มากพอในราคาสินทรัพย์

คำถามคือทรัมป์คือใคร เขากําลังทําอะไรและต้องการอะไรจากนโยบายเหล่านี้ และเราจะเข้าใจความเป็นตัวตนของเขาได้อย่างไร

ในเรื่องนี้ สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจคือทรัมป์ไม่ใช่คนอเมริกันทั่วไป เขาเป็น “อีลีท” (Elite) หรือผู้มีอํานาจทางการเมืองและเศรษฐกิจคนสำคัญในสังคมอเมริกัน มีพื้นเพมาจากการเป็นนักธุรกิจที่รํ่ารวยระดับมหาเศรษฐีตั้งแต่หนุ่ม มีทรัพย์สินกว่า 6.4 พันล้านดอลลาร์

คนที่รํ่ารวยมากส่วนใหญ่จะมองตนเองเหนือกว่าคนอื่น บางคนถึงขั้นมองตนเองเป็นอภิสิทธิ์ชนที่ใครแตะต้องไม่ได้ แต่คนร่ำรวยมากในสังคมก็มีไม่น้อยและอาจไม่ยอมรับกัน

บางคนจึงใฝ่สูงเข้าสู่การเมือง เพื่อใช้อํานาจทางการเมืองนําไปสู่ความสูงสุดในสังคม ให้อีลีทด้วยกันยอมรับ และเพื่อใช้อํานาจการเมืองทําในสิ่งที่ตนต้องการ ด้วยการออกนโยบาย การบังคับใช้กฎหมาย และการใช้ทรัพยากรของประเทศ

ทั้งเพื่อความรํ่ารวยของตนเอง และเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอภิสิทธิ์ที่ตนมีไม่ให้ใครแย่งเอาไป นี่คือโลกของอีลีทที่การเเก่งแย่งชิงอํานาจมีอยู่ตลอดและเป็นโลกของทรัมป์เช่นกัน

ทรัมป์เข้าสู่การเมืองเมื่อ 37 ปีก่อน ผ่านมาหลายพรรค และได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐสมัยแรกในปี 2560 โดยเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน ในฐานะผู้นําประเทศเขามีไอเดียชัดเจนที่จะทําให้สหรัฐอเมริกากลับไปสู่ความยิ่งใหญ่

แม้ความคิดเขาจะไม่ตรงกับความคิดกระแสหลักและถูกต่อต้านมากแต่เขาก็พร้อมผลักดันให้เกิดขึ้น เช่น สร้างกําแพงตามแนวชายแดนเพื่อลดผู้อพยพ ขึ้นภาษีสินค้านําเข้าเพื่อสร้างงานให้คนอเมริกัน และลดบทบาทสหรัฐในเวทีโลกที่สหรัฐเสียมากกว่าได้

แต่การผลักดันนโยบายเหล่านี้ไปได้ไม่ไกล ส่วนหนึ่งเพราะเเรงหนืดในระบบราชการที่ไม่ยอมปรับตัว ที่การทํางานเน้นแต่กฎระเบียบจนเป็นอุปสรรคไม่สามารถผลักดันอะไรได้ จนทรัมป์ต้องใช้อํานาจประธานาธิบดีเข้าขับเคลื่อน

อีกส่วนคือความคิดเสรีนิยมที่มีอยู่ในสังคมสหรัฐและระบบราชการที่ต่อต้านแนวคิดของเขาและการใช้อำนาจ ทั้งหมดบวกกับการระบาดของโควิดทําให้ทรัมป์ 1.0 ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง ขณะที่ทรัมป์เองถูกมองว่าเป็นนักการเมืองขวาจัด อํานาจนิยม รักชาติแบบเอาแต่ประโยชน์ และประชานิยม

แต่ทรัมป์สมัยที่สองเข้มแข็งและพร้อมกว่าสมัยแรกมาก เขากลับมาด้วยเสียงสนับสนุนของคนส่วนใหญ่ของประเทศ พรรครีพับลิกันคุมเสียงข้างมากทั้งในสภาล่างและสภาบน

ส่วนนโยบายของเขาก็ยังเหมือนเดิมแต่จริงจังและเข้มข้นกว่าเดิมมาก ไม่ว่าเรื่องผู้อพยพ การขึ้นภาษีนำเข้า การสร้างความยิ่งใหญ่ให้สหรัฐเรื่องพลังงานและความสามารถของภาคธุรกิจ การลดบทบาทที่ไม่จําเป็นของสหรัฐในระดับสากล และความเป็นอิสระของสหรัฐในเวทีโลก

อีกประเด็นที่ชัดมากคราวนี้คือการเอาคืนระบบราชการที่วิธีการทํางานเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนนโยบาย รวมถึง ลดอิทธิพลเสรีนิยมในนโยบายสาธารณะที่ทรัมป์มองว่าเป็นศัตรูทางการเมืองกับแนวคิดของเขา สะท้อนสิ่งเหล่านี้ ความเป็นตัวตนของทรัมป์คือ

1.ไม่ชอบและแอนตี้เสรีนิยม ต้องการรื้อทิ้งนโยบาย แนวคิด รวมถึงสถาบันและหน่วยงานที่ส่งเสริมเสรีนิยม ล่าสุดคือปิดหน่วยงาน USAID ของรัฐบาลสหรัฐที่ให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมคุณค่าประชาธิปไตย ลดความยากจน และรักษาสิ่งแวดล้อม

2.พร้อมแทรกแซงการทำงานของกลไกตลาดด้วยอํานาจฝ่ายบริหารเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ โดยไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ตัวอย่างล่าสุดคือการขึ้นภาษีสินค้านําเข้ากับสามประเทศคือ แคนาดา เม็กซิโก และจีน แม้จะสร้างผลเสียมากกว่าผลดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

3.นำวิธีคิดแบบธุรกิจมาใช้บริหารประเทศ คือ ไม่ว่าจะตัดสินใจเรื่องอะไร คําถามแรกคือเราได้อะไรจากสิ่งที่จะทำ เป็นวิธีคิดแบบธุรกิจที่เอาประโยชน์ของบริษัทเป็นที่ตั้ง ไม่สนใจผลที่อาจมีต่อผู้อื่นหรือส่วนรวม

ซึ่งในระดับประเทศคือประเทศจะมุ่งแต่หาประโยชน์ให้ตนเองโดยไม่สนใจเรื่อง public goods หรือผลที่จะมีต่อส่วนรวม เป็นการตัดสินใจแบบทําดีลของธุรกิจ ตัวอย่างก็เช่น ถอนบทบาทสหรัฐที่เป็นประเทศผู้นําโลกออกจากองค์การอนามัยโลกและเรื่องโลกร้อน

นี่คือตัวตนของทรัมป์ที่เราจะเห็นมากขึ้น คําถามคือ เขาจะประสบความสำเร็จหรือไม่คราวนี้

ที่ต้องตระหนักคือคราวนี้ทรัมป์ไม่ได้มาคนเดียว แต่มากับผู้สนับสนุนที่มีพลังทางเศรษฐกิจและเห็นด้วยกับความคิดของเขา และหลายคนก็เข้ามารับตําแหน่งบริหารในคณะรัฐบาลของเขา เช่น “อีลอน มัสก์

คนเหล่านี้คืออีลีทกลุ่มใหม่ในสังคมสหรัฐ เป็นเงินใหม่หรือ New money ที่ร่ำรวยมากๆ จาก ดิจิทัลเทคโนโลยี AI พลังงาน และ เงินคริปโต

เป็นพลังทางเศรษฐกิจที่เข้ามาตอบโต้พลังทางเศรษฐกิจและอํานาจทางการเมืองของกลุ่มอํานาจเก่าหรือ Old money ที่รํ่ารวยมาจากเสรีนิยม คือโลกาภิวัตน์และการค้าเสรี ซึ่งเป็นกลุ่มอีลีทที่ทรงอิทธิพลอย่างมากต่อการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา และนี่คือการเมืองสหรัฐขณะนี้

ดังนั้น การเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างเปิดเผยของกลุ่มเงินใหม่ ถึงขั้นมีนักธุรกิจเข้ามาบริหารประเทศภายใต้การนําของประธานาธิบดี ทรัมป์ เพื่อใช้อํานาจทางการเมืองเปลี่ยนประเทศสหรัฐในทิศทางที่พวกเขาต้องการ

คือบริบททางการเมืองที่เราต้องเข้าใจและติดตามเพราะเป็นบริบทที่จะเปลี่ยนการเมืองสหรัฐ ประเทศสหรัฐ และเศรษฐกิจโลกอย่างสําคัญในช่วง 4 ปีข้างหน้า.

เข้าใจ “โดนัลด์ ทรัมป์” เข้าใจการเมืองสหรัฐ | บัณฑิต นิจถาวร

เศรษฐศาสตร์บัณฑิต 

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]