ปรับแผนห่วงโซ่อุปทาน ‘จีน’ ครั้งใหญ่ รับมือ ‘ทรัมป์’ 2.0 เมื่อ ‘ไทย’ คือเซฟโซน

“บริษัทข้ามชาติหลายแห่ง“ เริ่มตื่นตัว เห็นความจำเป็นต้องปรับแผนย้ายแหล่งผลิตห่วงโซ่อุปทาน “สินค้าจีน“ ไปยังแห่งใหม่ หลีกเลี่ยงมาตรการทางภาษีเข้มงวดจาก “โดนัลด์ ทรัมป์“ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ไทย“ จัดอยู่ในเซฟโซน
KEY
POINTS
Key Pionts :
- บริษัทข้ามชาติหลายแห่งเริ่มตระหนักได้ว่า จำเป็นต้องคิดหากลยุทธ์ขึ้นใหม่ เพื่อรับมือการบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ สมัยสองที่กำหนดมาตาการทางภาษีเข้มงวดเพิ่มขึ้น
- ไทย เกาหลี และไต้หวัน น่าจะเป็นพื้นที่ห่วงโซ่อุปทานที่ “ปลอดภัย” จากมาตรการทางภาษีของสหรัฐ
- ขณะที่ เวียดนามเป็นตัวเลือกยอดนิยม เพราะค่าแรงราคาถูก โครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างดี และอยู่ใกล้ประเทศจีน แต่นักวิเคราะห์มองว่า “เวียดนามมีความเสี่ยงสูง จะตกเป็นเป้าหมายจัดหนักจากสหรัฐ”
นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก เปิดศึกทำสงครามการค้ากับจีน มีบริษัทข้ามชาติจำนวนมาก นำแนวทาง “จีน+1 (ประเทศ/ดินแดน)” มาปรับใช้ในการทำธุรกิจ จนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ผันผวน
แนวคิด “การย้ายแหล่งผลิตห่วงโซ่อุปทาน” หรือซัพพลายเชน ส่วนหนึ่งออกจากศูนย์กลางการผลิตในประเทศจีน ไปยังศูนย์กลางการผลิตใหม่ เช่นเวียดนาม และเม็กซิโก ก็เพื่อบรรเทาผลกระทบจากที่สหรัฐ ออกมาตรการภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มสูงขึ้น
แต่ตอนนี้ “บริษัทข้ามชาติหลายแห่งเริ่มตระหนักได้ว่า จำเป็นต้องคิดหากลยุทธ์ขึ้นใหม่” เพื่อรับมือการบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ สมัยสองที่มีความเข้มงวดขึ้น
เพราะนับตั้งแต่ทรัมป์กลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ประกาศแผนเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากเม็กซิโก และแคนาดา 25% แต่เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีน 10%
แม้สหรัฐได้ทำข้อตกลงกับเพื่อนบ้านประเทศในอเมริกาเหนือ เพื่อหลีกเลี่ยงการตอบโต้สงครามภาษีระหว่างกัน แต่อย่างน้อยตอนนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทข้ามชาติ และซัพพลายเออร์พากันวิตกกังวลในสถานการณ์เพิ่มมากขึ้น
ตอนนี้ นักลงทุนจำนวนมากเริ่มผวาว่า สหรัฐจะใช้มาตรการเพิ่มเติมจากเดิมกับประเทศที่สงสัยจะเป็น “ศูนย์กลางการขนส่งสินค้าให้กับจีน” ทำให้นักลงทุนบางรายมองหาพื้นที่กระจายการลงทุนไปยังตลาดใหม่ อย่างจีน ไปถึงแอฟริกาใต้
แดน ดิเกร ซีอีโอ Misco Speakers ผู้ผลิตเครื่องเสียงที่มีฐานการผลิตในมินนิโซตากล่าวว่า บริษัทได้ฝ่าฟันอุปสรรคด้านภาษีศุลกากรต่างๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยการกระจายความเสี่ยงไปยังพื้นที่ผลิตอื่นๆ ให้มากที่สุด
“บริษัทส่งส่วนประกอบสินค้าไปยังเกาหลี ไต้หวัน และเม็กซิโก เพื่อประกอบและนำเข้ากลับมายังสหรัฐ โดยไม่มีภาษี” ซีอีโอ Misco Speakers
ดิเกร ชี้ว่า ไทย เกาหลี และไต้หวัน น่าจะเป็นพื้นที่ห่วงโซ่อุปทานที่ “ปลอดภัย” จากมาตรการทางภาษีของสหรัฐ
แต่ภัยคุกคามจากทรัมป์ที่ได้เปิดฉากสงครามการค้ากับเม็กซิโก ได้สร้างความกังวล
นับตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนเริ่มต้นขึ้นในปี 2018 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายมาเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากแนวคิด “จีน + 1” เนื่องจากผู้ผลิตและบริษัทข้ามชาติพากันมองหาทางย้ายการผลิตออกจากจีน เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีจากสหรัฐ
เวียดนามเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมเป็นพิเศษ เพราะค่าแรงราคาถูก โครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างดี และอยู่ใกล้ประเทศจีน แต่นักวิเคราะห์มองว่า “เวียดนามมีความเสี่ยงสูง จะตกเป็นเป้าหมายจัดหนักจากสหรัฐ”
เมื่อปีที่แล้ว ทรัมป์ขู่จะเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่ม แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีมีการดำเนินการใดๆ
วิลเลี่ยม อลัน เรนซ์ ผู้เชี่ยวชาญศูนย์ศึกษากลยุทธ์ธุรกิจระหว่างประเทศในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า เวียดนามควรต้องกังวล เพราะสหรัฐขาดดุลการค้ากับเวียดนาม มากกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“แน่นอนว่า เวียดนามจะไม่ใช่ประเทศที่ถูกเลือกให้เป็นซัพพลายเชนอีกต่อไป หากสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐต้องถูกเก็บภาษี” เรนซ์ระบุ
ลินลี่ เหอ ที่ปรึกษาธุรกิจในเจ้อเจียง ซึ่งให้คำแนะนำกับบริษัทผู้ผลิตในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของจีน กล่าวว่า ในอนาคต ผู้ผลิตจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับมาตรการทางภาษีของสหรัฐที่เข้มงวดยิ่งขึ้น
“มีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐอาจเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากบางประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงถึง 20% นั่นจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ เพื่อยับยั้งการขนส่งสินค้าจีนเข้าไปยังสหรัฐ” เหอกล่าว
เทอร์รี่ ถิง กรรมการวิลสัน กรุ๊ป ผู้ผลิตสิ่งทอกล่าวว่า ปัจจุบัน มีผู้ซื้อจำนวนมากพิจารณาซื้อสินค้าจากแหล่งผลิต เพื่อลดปัญหาการโดนภาษีนำเข้าของสหรัฐ
“โปแลนด์และอินเดีย ถือเป็นแหล่งทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ผลิตที่ต้องการหลีกเลี่ยงมาตรการทางภาษีของสหรัฐ” ถิงกล่าว และเสริมว่า อินเดียอาจต้องปรับนโยบาย เพื่อให้ต่างชาติทำธุรกิจให้ง่ายขึ้น
โปแลนด์มีข้อได้เปรียบตรงที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ค่าค่อนข้างต่ำ
แต่ถึงอย่างไรคาดการณ์ว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย “จะยังคงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด” ในการเป็นที่ตั้งห่วงโซ่อุปทานหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีสูงจากสหรัฐ โดยอินโดนีเซีย มีแหล่งแร่ธาตุที่สำคัญต่อสหรัฐ ขณะที่รัฐบาลทรัมป์ อาจพิจารณาทำข้อตกลงกับฟิลิปปินส์ เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์
“ผู้ส่งออกกำลังปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับวิถีทางใหม่ ให้เข้ากับแนวทางการตรวจสอบทางภาษีจากสหรัฐที่เข้มงวดยิ่งขึ้น” กรรมการวิลสันกรุ๊ปกล่าว
จูดี้ เอดตัน-เอสซัมปา ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจอิมเมอจิน แอฟริกา พาร์ทเนอร์ กล่าวว่า แอฟริกาอาจกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับบริษัทผู้ผลิต
อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่า ผู้ผลิตในแอฟริกาจะตั้งรับเชิงรุกกับระบบภาษีใหม่ของสหรัฐ ด้วยการเชื่อมโยงตลาดและศูนย์กลางการส่งออกในยุโรป รวมถึงเชื่อมโยงตลาดอื่นๆ ของประเทศในภูมิภาคแอฟริกาด้วยกัน เพื่อ (ผลักดัน) เชื่อมโยงตลาดให้มากขึ้น เพื่อเป็นแหล่งห่วงโซ่อุปทานสินค้าจีน
อ้างอิง : SouthChinaMorningPost