‘กทม.-โตเกียว’แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับมือความท้าทายยุคสังคมสูงวัย

‘กทม.-โตเกียว’แลกเปลี่ยนเรียนรู้  รับมือความท้าทายยุคสังคมสูงวัย

‘กรุงโตเกียว’ ไม่ได้สำคัญแค่เป็นเมืองหลวงญี่ปุ่น แต่ยังเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก ขึ้นชื่อเรื่องการมีโครงสร้างพื้นฐานเอื้อต่อการอยู่อาศัยของประชาชนอย่างครอบคลุม

กรุงโตเกียวมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาเมือง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการพลังงาน ขยะ การขนส่งอัจฉริยะ การฟื้นฟูเมืองหลังประสบภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จะดีหรือไม่หากกรุงเทพมหานครได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ดีๆ อย่างใกล้ชิด 

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และโคอิเกะ ยูริโกะ (Koike Yuriko) ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว  ลงนามแถลงการณ์ความร่วมมือกรุงเทพมหานคร-โตเกียว  จุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหาที่ทั้งสองเมืองประสบร่วมกัน ประกอบด้วย  การตอบสนองต่อภัยพิบัติอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ความท้าทายในการบริหารจัดการเมืองอันเนื่องมาจากสังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดต่ำ,  นโยบายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ นวัตกรรมสู่การพัฒนาเมืองในอนาคต การลงนามในแถลงการณ์ร่วมจึงถือเป็นการก้าวแรกในการสร้างความร่วมมือระหว่างสองมหานคร  ‘กทม.-โตเกียว’แลกเปลี่ยนเรียนรู้  รับมือความท้าทายยุคสังคมสูงวัย

  • ถอดบทเรียนจัดการภัยพิบัติโตเกียว

ผู้ว่าฯ โคอิเกะ เผยว่า มหานครโตเกียวและประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่อยู่กับภัยพิบัติ มหานครโตเกียวจึงมุ่งหวังสร้างความรู้ให้กับคน กทม.ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยพิบัติ ถือเป็นประสบการณ์ที่แลกเปลี่ยนกันได้  และในอนาคตทั้งสองเมืองจะร่วมมือกันด้านเครือข่ายจัดการภัยพิบัติ   ‘กทม.-โตเกียว’แลกเปลี่ยนเรียนรู้  รับมือความท้าทายยุคสังคมสูงวัย

ขณะที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติขยายความว่า ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาที่ กทม.และโตเกียวประสบคล้ายคลึงกันเนื่องจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ปีที่แล้ว กทม.ได้นำรูปแบบการระบายน้ำในมหานครโตเกียวมาประยุกต์ใช้นั่นคือการใช้อุโมงค์ระบายน้ำลงอ่าวไทยให้เร็วที่สุด เช่นเดียวกับการระบายน้ำลงอ่าวโตเกียว ตัวอย่างของระบบนี้คือประตูระบายน้ำพระโขนง 

  • สังคมสูงวัยปัญหาใหญ่โตเกียว-กทม.

ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าวด้วยว่า กรุงเทพฯ กับโตเกียวมีหลายปัญหาคล้ายคลึงกัน หนึ่งในนั้นคืออัตราการเกิดต่ำ ทำให้จำนวนประชากรลดลงเกิดสังคมผู้สูงอายุ  ถือเป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำโดยด่วน 

“ปีที่แล้วมีมาตรการหลายอย่างที่ได้คุยกัน เช่น ทำให้การมีลูกเป็นเรื่องที่ไม่ยากลำบากเกินไปในเมือง การดูแลเด็กเพื่อลดภาระพ่อแม่ การหางานและฝึกอาชีพให้กับผู้สูงอายุ ทั้งสองเมืองเริ่มทำสิ่งเหล่านี้แล้ว ถ้าสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ก็เชื่อว่าจะช่วยกันแก้ปัญหาได้”

  • เปลี่ยนพฤติกรรมแก้สภาพอากาศเปลี่ยน 

อีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติเร่งลงมือทำคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมของคน ถ้ามีวิธีทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนหันมาใส่ใจสภาพแวดล้อมมากขึ้น เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

"โตเกียวมีหลายโครงการที่ กทม.นำมาใช้ได้ เช่น ปีที่ผ่านมาออกกฎหมายส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลในบ้าน ซึ่ง กทม.มีแดดไม่น้อยกว่าโตเกียวและมากกว่าด้วยซ้ำ ทำอย่างไรให้คนใช้โซลาร์เซลในบ้านและในกิจการต่างๆ ให้มากขึ้น ท่านผู้ว่าฯ ได้นำโซลาร์เซลแบบ flexible มาให้ดูเป็นตัวอย่างสามารถนำไปใช้ในอาคารสูงได้ด้วย มหานครโตเกียวทำเรื่องความยั่งยืนในหลายรูปแบบและเราสามารถเรียนรู้ได้โดยตรง" 

ผู้ว่าฯ กทม.ย้ำว่า สิ่งที่จะส่งผลได้มากคือการมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพของเมือง ปีก่อนผู้ว่าฯ โตเกียวจัดงาน Sushi Tech นำสตาร์ทอัปมาเจอกันเพื่อร่วมแก้ปัญหาของเมือง นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดี ดังนั้นการที่ กทม. ร่วมมือกับโตเกียวจะช่วยให้เราเลือกเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ปัญหาได้มากขึ้น 

“กล่าวโดยสรุปก็คงต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เอาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ พยายามปรับพฤติกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนของเมือง” 

  • นวัตกรรมส่งเสริมท่องเที่ยวยั่งยืน 

ในมุมมองของผู้ว่าฯ โคอิเกะ กรุงเทพมหานครและมหานครโตเกียวเป็นเป้าหมายหลักของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยเฉพาะกรุงเทพฯ จุดที่เหมือนกันคือผ่านช่วงโควิด-19 มาแล้ว นักท่องเที่ยวมาไม่ได้แต่ทั้งสองเมืองก็ตอบรับสถานการณ์ได้ดี ทำให้ปัจจุบันนักท่องเที่ยวกลับมาเยือนโตเกียวและ กทม.อีกครั้งหนึ่ง  

“สิ่งที่ทางโตเกียวต้องเรียนรู้จากกรุงเทพฯ อย่างหนึ่งคือ   night economy การใช้เวลาช่วงกลางคืนของกรุงเทพฯ ช่างสนุกสนาน ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น” ผู้ว่าฯ โตเกียวกล่าว 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติเสริมว่า กรุงเทพมหานครกับกรุงโตเกียวคล้ายคลึงกันตรงที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีกลุ่มชุมชนที่มีอัตลักษณ์เข้มแข็ง 

“โจทย์ที่เราคุยกับกรุงโตเกียวคือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจทีี่มาจากการท่องเที่ยวลงไปสู่ชุมชนรากหญ้า ไม่ได้อยู่เฉพาะบริษัทใหญ่ๆ หรือโรงแรมใหญ่ๆ ทำยังไงให้แต่ละชุมชนเข้มแข็งมีอัตลักษณ์ ซึี่งผมคิดว่าตรงนี้กรุงโตเกียวทำได้ดี สร้างความเข้มแข็ง นี่คือโจทย์หนึี่งที่จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กระจายรายได้สู่ประชาชน” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวพร้อมยกตัวอย่างเรื่องการใช้เทคโนโลยีส่งเสริมการท่องเที่ยวของโตเกียวผ่านแพลตฟอร์ม Sushi Tech  

  • ความน่าสนใจของ night economy 

โอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย อธิบายเรื่องความน่าสนใจของ night economy ในกรุงเทพฯว่า  ในญี่ปุ่นโดยเฉพาะหลังโควิดคนไม่ค่อยไม่ค่อยเที่ยวกลางคืน ไม่ค่อยไปนั่งร้านอาหารหรือเข้าผับมากเหมือนช่วงก่อนหน้านั้น เวลานักท่องเที่ยวมาญี่ปุ่นก็พยายามหาที่ที่จะออกไปสนุกสนานยามค่ำคืนได้ ด้วยเหตุนี้ท่านผู้ว่าจึงพยายามอำนวยความสะดวกให้ชาวโตเกียวขยายเวลาร้านค้าร้านอาหาร หรือเปิดผับ เปิดร้านอาหารใหม่ๆ เพื่อรองรับผู้คนยามค่ำคืน 

 ส่วนปัญหาสังคมสูงวัยเป็นปัญหาประชากรในภาพรวม ผู้ว่าฯ โตเกียวพยายามกระตุ้นให้คู่รักหนุ่มสาวมีลูกเพื่อสร้างความสมดุลด้านประชากร ปัญหาผู้สูงอายุเป็นเรื่องธรรมชาติ กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นมีโครงการดูแลผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2000 ถึงปัจจุบันระบบไปได้ดี ระบบสาธารณสุขภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันเป็นอย่างดีตอบโจทย์หลายครอบครัวที่กังวลว่าตนจะดูแลพ่อแม่ผู้แก่เฒ่าอย่างไร  ‘กทม.-โตเกียว’แลกเปลี่ยนเรียนรู้  รับมือความท้าทายยุคสังคมสูงวัย

(ผู้ว่าฯชัชชาติกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น)

ขณะที่แรงงานสูงวัยเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เกิดตามมา ทูตกล่าวว่า ในญี่ปุ่นหลายบริษัทขยายอายุการทำงาน   ญี่ปุ่นขยายอายุเกษียณจาก 60 ปีมาเป็น 63 หรือ  65 ปี ผู้สูงอายุทุกวันนี้แข็งแรงขึ้นจึงทำงานได้นานขึ้น

ทั้งนี้ การมาเยือนของผู้ว่าราชการกรุงโตเกียวและคณะระหว่างวันที่ 5-7 ก.พ. นอกจากการประชุมทวิภาคีของสองเมืองแล้ว ยังมีการเยี่ยมชมสวนเบญจกิติ สวนสาธารณะกลางกรุงในเขตคลองเตย และเยีี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำของ กทม. ณ สถานีสูบน้ำพระโขนงด้วย