เปิดยุคทอง ‘เด็กจบใหม่’ ในญี่ปุ่น บริษัทแห่ยื่นข้อเสนอแย่งตัวทำงาน

เป็นที่รู้กันดีว่า “ญี่ปุ่น” กำลังอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก แต่ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือ ตอนนี้บริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่นกำลังแย่งกันดึงตัว “บัณฑิตจบใหม่” ถึงขั้นเสนอชำระเงินกู้ยืมกยศ. ให้ และจูงใจด้วยที่พักราคาถูกและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
เรียวสุเกะ ยามาโมโตะ วัย 25 ปี กำลังใช้ชีวิตทำงานดั่งฝันที่ฉีกภาพมนุษย์เงินเดือนสุดเครียด “ซาลารีมัง” (Salaryman) ด้วยห้องพักเดี่ยวพร้อมครัวขนาดเล็กและห้องน้ำในหอพักของบริษัท อยู่ห่างจากออฟฟิศย่านใจกลางกรุงโตเกียวแบบนั่งรถไฟแค่ 20 นาที แต่มีค่าเช่าแสนถูกเพียง 25,000 เยนต่อเดือน (ราว 5,500 บาท)
ในคืนวันศุกร์ เขามักจะออกไปสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานในพื้นที่ส่วนกลางของหอพัก เล่นวิดีโอเกมบนทีวีจไวด์สกรีนจอใหญ่ และดื่มเบียร์จากตู้กดอัตโนมัติ โดยที่ค่าจอดรถและค่าน้ำค่าไฟรวมอยู่ในค่าเช่าหอพักแล้ว เขาจึงมีเงินเหลือไว้เล่นกอล์ฟกับเพื่อนๆ เป็นประจำ และเพิ่งบินไปเที่ยวพักผ่อนที่ประเทศอิตาลีเมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา
“มันเป็นข้อเสนอที่เยี่ยมมากและช่วยให้ผมสามารถเก็บเงินไปใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้” ยามาโมโตะกล่าว เขาเริ่มทำงานในบริษัทนิปปอน ไลฟ์ อินชัวรันซ์ ในปี 2565 หลังจากสำเร็จการศึกษาในสาขานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ปัจจุบันเขาทำงานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการในแผนกพัฒนาทรัพยากรบุคคล
ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่เรื้อรังในญี่ปุ่นซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ บริษัทต่างๆ เช่น นิปปอน ไลฟ์ กำลังทุ่มเงินเพื่อใช้สวัสดิการดึงดูดและรักษาคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเอาไว้
บริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศแห่งนี้ได้สร้างหอพักชายขนาด 200 ห้อง ในย่านที่พักอาศัยชั้นดีใกล้กับโตเกียวดิสนีย์แลนด์ในปี 2565 พนักงานในหอพักนี้จ่ายค่าเช่าในราคาแสนถูกเฉลี่ยไม่ถึงหนึ่งในสามเมื่อเทียบกับที่พักอื่นๆ ในละแวกเดียวกัน นอกจากนี้ บริษัทยังเช่าอาคารที่พักอาศัยอื่นๆ เพื่อทำเป็นที่พักราคาถูกสำหรับพนักงานหญิงในบริษัทอีกด้วย
จากผลการศึกษาวิจัยของสถาบันรีครูท เวิร์กส์ ระบุว่า อัตราเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงทำให้คาดว่าประชากรวัยทำงานของญี่ปุ่นจะหดตัวลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2570 และภายในปี 2583 ประเทศอาจเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงานมากกว่า 11 ล้านคน
สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นที่พบว่า ประชากรวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 20-24 ปี ลดลงถึง 36% ตลอดช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา เหลือเพียง 4.7 ล้านคนในปี 2566
ตลาดแรงงานที่ตึงตัวอย่างหนักนี่เองที่ทำให้บริษัทต่างๆ พยายามแย่งตัวนักศึกษามาเซ็นสัญญาทำงานด้วยตั้งแต่ก่อนเรียนจบหลายเดือน สถาบันวิจัยชูโชกุ มิราอิ เคนคิวโช ระบุว่ามีนักศึกษาที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในเดือนมี.ค. 2568 มากกว่า 40% ได้รับข้อเสนองานไปแล้วอย่างน้อย 1 งาน ภายในช่วง 1 ปีเต็มก่อนที่จะเรียนจบ ซึ่งถือเป็นเปอร์เซ็นต์สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559
ขณะเดียวกัน บริษัทต่างๆ ยังต้องแข่งขนกันอย่างหนักเพื่อรักษาพนักงานของตัวเองเอาไว้ด้วย แม้ในอดีตพนักงานในญี่ปุ่นจะทำงานกับบริษัทเดียวตลอดอาชีพการงาน แต่สถานการณ์ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ พบว่า บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเกือบ 35% จากกลุ่มที่ได้งานในปี 2564 ลาออกจากบริษัทแรกภายใน 3 ปีหลังจากเข้าทำงาน
ยูอิจิ ชิมาดะ รองผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคลของบริษัทนิปปอน ไลฟ์ กล่าวว่า “เกมไม่ได้จบลงพร้อมข้อเสนอที่ดึงคนมาได้ เราต้องบอกผู้สมัครอยู่เสมอว่าเราต้องการพวกเขาแค่ไหน และบริษัทของเราน่าดึงดูดแค่ไหน” ชิมาดะกล่าวและเสริมว่า บัณฑิตจบใหม่มักจะได้รับข้อเสนอให้ร่วมงานด้วยประมาณ 5-10 บริษัท และมักจะตัดสินใจในนาทีสุดท้าย
“การจะรักษาพวกเขาไว้ให้ได้นั้นยากขึ้นเรื่อยๆ”
ทั้งนี้ บริษัทญี่ปุ่นมีธรรมเนียมการจัดหาหอพักพนักงานและบ้านพักราคาถูกสำหรับครอบครัวมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่หลังจากฟองสบู่แตกในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ก็เริ่มลดน้อยลงเพราะบริษัทต่างๆ พยายามลดต้นทุนและลดความเสี่ยงขาดทุนจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ช่วงเศรษฐกิจซบเซา ทำให้มีบริษัทที่ยังให้สวัสดิการนี้อยู่เหลือแค่ประมาณ 42% เท่านั้นในปีงบประมาณ 2562 จากที่เคยสูงถึงเกือบ 64% ในปีงบประมาณ 2004
ปัจจุบัน บริษัทต่างๆ กำลังพิจารณาขยายข้อเสนอเพื่อดึงทาเลนต์มาจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศให้มากขึ้น บริษัทเทรดดิ้งรายใหญ่ “อิโตชู คอร์ป” (Itochu Corp.) มีหอพักบริษัทแล้วถึง 4 แห่งกระจายในพื้นที่ต่างกัน ก่อนจะสร้างหอพักชายเพิ่มอีกแห่งในเมืองโยโกฮามาซิตี้ ปี 2561 โดยนั่งรถไฟไปสำนักงานใหญ่ในโตเกียวได้เพียง 30 นาที มีอาหารเช้า-เย็นให้บริการในวันธรรมดาทุกวัน รวมถึงคาเฟ่ บาร์ และซาวน่าส่วนกลาง บริษัทยังวางแผนที่จะเปิดหอพักสำหรับพนักงานหญิงในปี 2568 อีกด้วย
ทางด้านบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ “ทีดีเค คอร์ป” (TDK Corp.) เพิ่งสร้างหอพักใน จ.อาคิตะ ทางตอนเหนือของประเทศเสร็จไปเมื่อปี 2566 ส่วน “นิปปอน ไลฟ์ อินชัวรันซ์” (Nippon Life) ที่มีหอพักเก่าแบบห้องน้ำรวม 2 แห่งตั้งแต่ยุค 90 ก็ได้สร้างหอพักใหม่ที่มีห้องน้ำในตัวและเป็นสไตล์มินิมอลทันสมัย รับกับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่ต้องการพื้นที่ส่วนตัวกันมากขึ้น
การจ้างคนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องยากเป็นพิเศษเนื่องจากจำนวนที่มีจำกัด โดยในปี 2565 มีประชากรอายุระหว่าง 15-24 ปี เพียงแค่ 9.4% เท่านั้น เมื่อเทียบกับในเกาหลีใต้ที่ 10.4% สหราชอาณาจักร 11.7% และสหรัฐ 13.3% และเป็นที่คาดว่าปัญหาในการจ้างงานจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อประชากรมีอายุมากขึ้น
สำหรับบริษัทจำนวนมากโดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) พนักงานยังถือเป็นเรื่องที่ “ชี้เป็นชี้ตาย” ถึงความอยู่รอดของบริษัทด้วย ข้อมูลจากเทย์โคขุ ดาต้าแบงก์ระบุว่า ในช่วง 6 เดือนจนถึงก.ย. 2567 ญี่ปุ่นมีจำนวนบริษัทที่ยื่น “ล้มละลาย” สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2556 และจากบริษัทที่ล้มละลายทั้งหมด 4,990 แห่ง มีถึง 163 แห่งที่ระบุเหตุผลว่าเป็นเพราะขาดแคลนกำลังคน
การแข่งขันรุนแรงมากจนบริษัทบางแห่งต้องเสนอสิทธิพิเศษให้กับบัณฑิตจบใหม่ก่อนที่จะเข้าทำงานอย่างเป็นทางการ บริษัทรักษาความปลอดภัย “แอลโซค” (Alsok) เสนอคูปองส่วนลดสำหรับพนักงานที่ชวนมาร่วมงานด้วย โดยสามารถใช้ที่ร้านอาหาร โรงแรม และบาร์คาราโอเกะได้ทันทีที่มีการตกลงร่วมงานกัน
ขณะที่บริษัทโรงไฟฟ้า “โตเกียว เอ็นเนอร์จี แอนด์ ซิสเต็มส์ อิงค์” (Tokyo Energy and Systems Inc.) ให้เงินอุดหนุนพนักงานสูงสุด 20,000 เยนต่อเดือน (เกือบ 4,500 บาท) เพื่อช่วยชำระ “เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา” หรืออาจเรียกง่ายๆ ว่า กยศ.ฉบับญี่ปุ่น รวมไม่เกิน 3.6 ล้านเยน (ราว 8 แสนบาท) ซึ่งดูเหมือนว่าจะได้ผล บริษัทเตรียมจ้างพนักงานใหม่ 63 คนในฤดูใบไม้ผลิปีนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่บริษัททำผลงานได้เกินเป้าหมาย
ปัจจุบันมีบริษัทจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ดึงดูดพนักงานใหม่ด้วยการช่วยชำระเงินกู้ กยศ. โดยในปีที่แล้วมีจำนวนบริษัทที่ให้ความช่วยเหลือดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า อยู่ที่ 2,600 แห่ง ณ สิ้นเดือนพ.ย.
ฮิเดโอะ เนชิโระ วัย 23 ปี ที่เพิ่งจบการศึกษาปริญญาตรีด้านธุรกิจและพาณิชย์ในปี 2567 และได้รับข้อเสนองานประมาณ 5 บริษัท ก่อนตัดสินใจเลือกบริษัทโตเกียว เอ็นเนอร์จี กล่าวว่าความช่วยเหลือดังกล่าว เป็นปัจจัยสำคัญมากที่ทำให้เขาเลือกบริษัทนี้ และหวังว่าจะได้ทำงานที่นี่จนเกษียณอายุ
“วิธีที่ดีที่สุดในการตอบแทนความช่วยเหลือหลังจากที่พวกเขาจ่ายเงินกู้กยศ.ให้ผมก็คือ ทำงานที่นี่ให้นานและทำงานหนักเพื่อตอบแทนบริษัท” เนชิโระกล่าว