กต.เดินหน้าการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ฟังเสียงเอกชนคว้าโอกาสตลาดใหม่

กต.เดินหน้าการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก  ฟังเสียงเอกชนคว้าโอกาสตลาดใหม่

นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกถือเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร โดยผู้ที่ทำหน้าที่รุกอย่างแท้จริงคือ ภาคเอกชนไทยที่มากมายความสามารถ แต่บางครั้งเข้าไม่ถึงตลาดใหม่ๆ จำต้องได้ภาครัฐอย่างกระทรวงการต่างประเทศจับมือเดินไปด้วยกัน

ในปี 2567 ที่ผ่านมา กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ รับหน้าที่นำธุรกิจเอกชนไทยไปเปิดตลาดใหม่หลายครั้ง จึงถึงคราวสรุปบทเรียนเพื่อการทำงานในปีหน้า รุจิกร แสงจันทร์ อธิบดีใหม่หมาด เปิดใจกับกรุงเทพธุรกิจในงาน Bridges & Beyond: A Collaborative Evening งานพบปะแบบไม่เป็นทางการเพื่อประเมินผลความร่วมมือระหว่างกรมเศรษฐกิจฯ กับหน่วยงานพันธมิตร และภาคเอกชน เพราะ "อยากให้ผู้ร่วมงานทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก" ที่มีวัตถุประสงค์สามด้าน 

เริ่มต้นจาก 1) สร้างความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) ของภาคเอกชนไทย ซึ่งรายใหญ่หลายรายอาจมีความสามารถทะลุทะลวงไปได้เอง แต่อีกหลายรายเห็นว่ากระทรวงการต่างประเทศ มีประโยชน์ พอจะจูงมือไปด้วยกันนำทางไปต่างประเทศ โดยอาศัยแพลตฟอร์มสถานทูต และสถานกงสุลไทยทั่วโลกเกือบร้อยแห่ง ช่วยกันหาโอกาสหาตลาดให้กับธุรกิจไทย

2) มี visibility นำธุรกิจไทย และประเทศไทยกลับไปสู่จอเรดาร์โลก โดยโอบอุ้มเอสเอ็มอีและคนทุกกลุ่มไปด้วยกัน และ 3) สร้าง impact  ต่อโลกโดยเฉพาะด้านความยั่งยืนเกาะเกี่ยวไปกับธุรกิจสีเขียวทุกอย่าง 

“กระทรวงดำเนินนโยบายเหล่านี้โดยมีภาคเอกชนเป็นผู้เล่นตัวจริง” อธิบดีรุจิกร กล่าวและว่า นอกจากการนำภาคเอกชนไปเคาะประตูหาตลาดใหม่แล้ว กระทรวงการต่างประเทศยังมีบทบาทในกรอบความร่วมมือต่างๆ ที่ผู้เล่นหลักคือ นายกรัฐมนตรีบ้าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบ้าง แล้วแต่กรอบ ในปีหน้าประเทศไทยจะเป็นประธานกรอบความร่วมมือสองกรอบ 

1) BIMSTEC กรอบความร่วมมือเจ็ดประเทศ ครอบคลุมประเทศเอเชียใต้ทั้งหมดรวมถึงไทยและเมียนมา เชื่อมต่อออกไปทางมหาสมุทรอินเดีย เดือนเม.ย.จะมีการประชุมผู้นำ ก่อนหน้านั้นจะจัด BIMSTEC Young Gen เป็นการเจาะภาคเอกชนคนรุ่นใหม่ที่อยากมีส่วนร่วมกับประเทศในเอเชียใต้ โอกาสในการเปิดตลาดมีทั้งด้านการขนส่ง ความเชื่อมโยง (Connectivity) อาหาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สุขภาพ สาธารณสุข สมุนไพร

2) ACD (Asia Cooperation Dialogue)  ประกอบด้วยประเทศเอเชียราว 35 ประเทศ การประชุมจะมีทั้งปี และจะทำให้มีมิติทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด

นอกจากนี้ยังมีกรอบ BRICS เน้นการขยายตลาดไปยังประเทศสมาชิก BRICS 9 ประเทศ และพันธมิตร 13 ประเทศ และ OECD ที่ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนกฎระเบียบภายในให้สอดคล้อง 

ทั้งนี้ หลังจากกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศนำผู้ประกอบการไทยไปจีน อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย คาซัคสถาน อิรัก สหรัฐ ฝรั่งเศส อธิบดีรุจิกร เผยว่า ได้รับผลตอบรับจากผู้ประกอบการที่เป็นบวกมาก เนื่องจาก กต.มีวัตถุประสงค์ต้องการพาผู้ประกอบการที่ยังไม่รู้จักตลาด ไม่มีใครช่วย ไปหาโอกาสอยู่แล้ว 

“การที่กระทรวงการต่างประเทศ พาไปโดยมีสถานทูตนัดหมายให้ เป็นเหมือนหลักประกันชั้นต้นให้กับคู่ค้าในประเทศนั้นๆ รู้สึกว่าธุรกิจไทยที่มาคือ ของจริง มีหน่วยงานของรัฐในระดับสถานทูตหรือกระทรวงการต่างประเทศรับประกัน” อธิบดี กล่าว 

เมื่อสอบถามถึงเสียงเรียกร้องจากภาคเอกชน อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้รับข้อเสนอแนะว่า ควรกำหนดประเทศยุทธศาสตร์ที่จะพาภาคเอกชนไปเปิดตลาดเป็นด้านๆ เช่น ด้านอาหารแห่งอนาคตต้องมองประเทศที่ตระหนักเรื่องสุขภาพ เช่น ไปออสเตรเลีย สหรัฐ ยุโรป

"กรมมีความยืดหยุ่น ฟังเสียงผู้ประกอบการเป็นหลักว่าตลาดไหนที่ยังเข้าไม่ถึง เช่น ตลาดตะวันออกกลาง ปีที่ผ่านมาได้ไปอิรักมาแล้ว เป็นที่ ที่คนไม่คิดจะไป ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการว่าต้องการไปภูมิภาคไหน" 

ก่อนจากกันอธิบดีรุจิกร กล่าวว่า นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกถ้าแค่พูดนโยบายก็อยู่แค่บนกระดาษ แต่ถ้าตีโจทย์ว่าผู้เล่นคือ ผู้ประกอบการกระทรวงก็ต้องรับฟังความต้องการ การพูดคุยกันนำไปสู่การต่อยอด 

“ผู้ประกอบการเมื่อไปร่วมเปิดตลาดกับกระทรวงก็ได้ดีลธุรกิจ หรือถ้าไม่ได้ดีลก็ได้ทำความรู้จัก ได้องค์ความรู้ เทคโนโลยีจากประเทศที่ทันสมัยผู้ประกอบการจะสามารถต่อยอดธุรกิจได้เอง เมื่อท่านทูตเคาะ และเปิดประตูให้ธุรกิจสองฝ่ายรู้จักกันถือว่ากระทรวงได้ทำหน้าที่แล้วในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการ” 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์