สรุปประชุมไตรภาคี 'จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้' ลดขัดแย้ง เลี่ยงเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์

สรุปประชุมไตรภาคี 'จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้' ลดขัดแย้ง เลี่ยงเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์

จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แถลงการณ์ร่วมส่งเสริมความร่วมมืออย่างครอบคลุมในหลายด้าน และเห็นพ้องหนุนการค้าอย่างโปร่งใส ด้านนักวิเคราะห์มองว่า การประชุมไตรภาคีนี้ดูเหมือนเป็นการลดความขัดแย้งระหว่างกัน มากกว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์

หลี่ เฉียง” นายกรัฐมนตรีจีน, ประธานาธิบดียุน ซอกยอล และ “ฟูมิโอะ คิชิดะ” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำ 3 ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก ร่วมประชุมไตรภาคในกรุงโซลในวันนี้ โดยในช่วงเปิดประชุม นายกฯหลี่ กล่าวว่า การประชุมนี้เป็นทั้งการรีสตาร์ท และการเริ่มต้นใหม่ และขอให้มีการรื้อฟื้นความร่วมมืออย่างครอบคลุม ระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสาม

หลี่เสริมด้วยว่า การที่จะเกิดความร่วมมือเหล่านั้น ประเด็นทางการเมืองควรแยกออกจากประเด็นของเศรษฐกิจและการค้า และเรียกร้องให้ยุติลัทธิกีดกันทางการค้า และการแยกตัวออกจากห่วงโซ่อุปทาน

“ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันของจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จะไม่เปลี่ยนแปลง ความร่วมมืออย่างมุ่งมั่นที่ช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ภารกิจของเราคือการปกป้องความสงบสุขในภูมิภาค และความมั่นคงนี้จะไม่เปลี่ยนไป” หลี่ กล่าว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การประชุมนี้เปรียบเสมือน “เครื่องหมายแห่งความก้าวหน้า” ในสัมพันธ์ระหว่าง 3 ประเทศ

ด้าน “ลีฟ-เอริก อีสลีย์” ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอีฮวาในกรุงโซล บอกว่า

“ประชุมสุดยอดไตรภาคีของจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นไปเพื่อลดความขัดแย้ง มากกว่าการพลิกโฉมภูมิรัฐศาสตร์”

ขณะนี้ จีน และพันธมิตรสหรัฐทั้งเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น กำลังพยายามจัดการกับความไม่ไว้วางใจระหว่างกัน ท่ามกลางการแข่งขันดุเดือดระหว่างรัฐบาลปักกิ่งและรัฐบาลวอชิงตัน และท่ามกลางความตึงเครียดเหนือเกาะไต้หวัน รวมถึงโครงการนิวเคลียร์ของรัฐบาลเกาหลีเหนือ

สรุปประชุมไตรภาคี \'จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้\' ลดขัดแย้ง เลี่ยงเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์

แถลงการณ์ร่วมยกระดับสัมพันธ์ไตรภาคี

แถลงการณ์ร่วมระหว่าง 3 ประเทศ ระบุให้ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีการสื่อสารในระดับสูงสุดอย่างสม่ำเสมอมากขึ้น และร่วมมือกันในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ด้านการค้า การสร้างสันติภาพระหว่างประเทศ ฯลฯ

การประกาศดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนสู่ระดับ 40 ล้านคน ภายในปี 2573 ผ่านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการศึกษา

ผู้นำทั้งสาม ยังได้ประกาศแถลงการณ์ร่วมฉบับอื่น ๆ แยกอีก อาทิ การเตรียมรับมือกับการแพร่ระบาด และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ ปธน.ยุนและคิชิดะ ได้เรียกร้องรัฐบาลเปียงยางไม่ดำเนินแผนส่งดาวเทียมขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งทั้งสองประเทศกล่าวว่า แผนดังกล่าวมีการใช้เทคโนโลยีขีปนาวุธที่ถูกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติคว่ำบาตร

ด้านนายกฯหลี่ ขอให้ทุกฝ่ายมีความยับยั้งชั่งใจ และช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์แทรกแซงใด ๆ ในคาบสมุทรเกาหลี แต่ไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องดาวเทียมของเกาหลีเหนือ

อนึ่ง จีนเป็นพันธมิตรทางทหารเพียงแห่งเดียวของเกาหลีเหนือ ทั้งยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเกาหลีเหนือและรัสเซีย

สรุปประชุมไตรภาคี \'จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้\' ลดขัดแย้ง เลี่ยงเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์

3 ชาติเห็นพ้องส่งเสริมการค้าโปร่งใส

ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น พัฒนามากขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้น และขณะนี้ความสัมพันธ์ของทั้งสามประเทศ กำลังได้รับการทดสอบจากสหรัฐ เนื่องจากสหรัฐได้เรียกร้องให้บรรดาพันธมิตรเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานในสินค้าสำคัญของตน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ออกห่างจากจีน

อย่างไรก็ตาม ด้านปธน.ยุน เผยว่า ผู้นำทุกคนเห็นพ้องที่จะสร้างการค้าและสภาพแวดล้อมของซัพพลายเชนให้มีความโปร่งใส และน่าเชื่อถือ แต่ไม่ได้ขยายความใด ๆ เพิ่มเติม

นอกจากนี้ ผู้นำจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ยังได้เข้าร่วมฟอรัมทางธุรกิจ เพื่อพบปะกับบรรดาเจ้าหน้าที่บริหารจากธุรกิจอันดับต้น ๆ ของทั้งสามประเทศ

ผู้บริหารกลุ่มดังกล่าวได้ย้ำว่า ความร่วมมือระหว่างกันยังไม่มีศักยภาพมากพอ เนื่องจากความท้าทายทั่วโลก แต่ก็เห็นพ้องกันว่า อุตสาหกรรมจะทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนการค้า และเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับซัพพลายเชน

ทั้งนี้ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีนได้จัดการเจรจาอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับ “เขตการค้าเสรี” (เอฟทีเอ) แบบ 3 ทาง มาแล้ว 16 ครั้ง ซึ่งครั้งแรกจัดในปี 2555

ในการเจรจาเอฟทีเอครั้งล่าสุด เมื่อเดือน พ.ย. 2562 ทั้งสามประเทศเห็นพ้องที่จะเปิดการค้าเสรีในระดับที่สูงขึ้นกว่า “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” หรืออาร์เซป (RCEP)

 

อ้างอิง: Reuters