‘จีน’โต้ ‘สหรัฐ-อียู’ เล็งขึ้นภาษีรถยนต์ 25%  สะเทือนค่ายรถเยอรมัน

‘จีน’โต้ ‘สหรัฐ-อียู’ เล็งขึ้นภาษีรถยนต์ 25%  สะเทือนค่ายรถเยอรมัน

จีนตอบโต้ ‘สหรัฐ-อียู’ เล็งขึ้นภาษีรถเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ 25% ส่อกระทบค่ายรถเยอรมัน พร้อมคว่ำบาตรบริษัท 12 แห่ง และ  10  บุคคลสำคัญ หลังสหรัฐอ้างจีนเอี่ยว “รัสเซีย” ส่งสัญญาณเตือนอย่าขัดผลประโยชน์

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า จีนเล็งขึ้นภาษีรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ 25% หลังจากวันที่ 14 พ.ค.67 สหรัฐประกาศเก็บภาษีสินค้าจีน รวมถึง “รถยนต์ไฟฟ้า” (EV) ที่จะถูกเก็บภาษีสูงขึ้นสี่เท่าจากเดิม 25% เป็น 102.5% ภายในปีนี้ ขณะที่สหภาพยุโรป(อียู)ก็อยู่ในระหว่างการสืบสวนกรณีการให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลจีน ซึ่งคาดว่าจะทราบผลในวันที่ 5 มิถุนายนที่จะถึงนี้ 

ทั้งนี้ แหล่งข่าววงในจากหอการค้าจีนประจำอียู เปิดเผยว่า จีนเองก็กำลังพิจารณาขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่สูงถึง 25% โดยสาเหตุหลักมาจากความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐและอียู

ด้านผู้เชี่ยวชาญการวิจัยด้านยานยนต์จีนเปิดเผยกับหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์สของจีนว่า จีนควรขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำมันเบนซินสู่ระดับ 25% ในขณะที่ประเทศเผชิญกับภาษีนำเข้ารถยนต์ที่สูงขึ้นของสหรัฐและความเป็นไปได้ที่จะเผชิญกับภาษีที่สูงขึ้นจากสหภาพยุโรป (EU)

นายหลิว ปิน หัวหน้าศูนย์วิจัยและเทคโนโลยียานยนต์ของจีน (CATARC) และรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยกลยุทธ์และนโยบายยานยนต์จีน กล่าวว่า อัตราภาษีที่ 25% สอดคล้องกับกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) ทั้งนี้ ภาษีนำเข้ารถยนต์ในปัจจุบันอยู่ที่ 15%

นอกจากนี้ นายหลิวยังกล่าวอีกว่า การเสนอปรับอัตราภาษีสำหรับรถยนต์ซีดาน ที่ใช้น้ำมันเบนซินและรถสปอร์ตอเนกประสงค์นำเข้า ซึ่งมีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่กว่า 2.5 ลิตร ไม่เพียงแต่สอดคล้องกับกฎระเบียบของ WTO เท่านั้น แต่ยังช่วยรักษาสมดุลระหว่างตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนนโยบายการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำอีกด้วย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ภาษีรถเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อบรรดาผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันที่ส่งออกรถเอสยูวี (SUV) และรถซีดานไปยังจีนเป็นหลัก

"เรายังสังเกตเห็นว่ามีบางประเทศและภูมิภาคที่ดำเนินมาตรการเข้มงวดในภาครถยนต์พลังงานใหม่ ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและละเมิดหลักการเศรษฐกิจตลาดและกฎระเบียบของ WTO" นายหลิวกล่าว

‘จีน’ส่งสัญญาณเตือนสหรัฐ-อียู

ล่าสุด สำนักข่าวโกลบอลไทม์ส รายงานว่ากระทรวงการต่างประเทศจีนประกาศคว่ำบาตรบริษัทกลาโหมสหรัฐ 12 แห่ง และบุคคลสำคัญ 10 ราย โดยอ้างอิงถึงกฎหมายต่อต้านการคว่ำบาตรจากต่างประเทศเมื่อวันพุธ(23 พ.ค.67) ซึ่งระบุว่าสหรัฐได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวซึ่งผิดกฎหมายต่อหน่วยงานจีนหลายแห่ง ภายใต้ข้ออ้างที่ถูกกล่าวหาว่าจีนเกี่ยวข้องกับ “รัสเซีย” ซึ่งเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการกลั่นแกล้งฝ่ายเดียวและเป็นการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ

กระทรวงการต่างประเทศจีนยังเน้นย้ำถึงการที่สหรัฐยังคงขายอาวุธให้แก่ “ไต้หวัน” ที่เป็นส่วนหนึ่งของจีน ซึ่งขัดกับหลักการ “จีนเดียว”และข้อตกลงร่วมกันทั้งสามฉบับระหว่างจีนกับสหรัฐอย่างรุนแรง ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีน 

ศาสตราจารย์หลี่ ไห่ตง จากมหาวิทยาลัยการต่างประเทศจีนกล่าวว่า “สหรัฐมักจะบีบบังคับจีนและประเทศอื่นๆ ผ่านการใช้หลักการ “กฎหมายแดนไกล ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายที่มุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์ของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ” 

จีนเดินหน้าดำเนินการตอบโต้อย่าง”เด็ดขาด” ผ่านการกระทำล่าสุดของจีนต่อสหรัฐแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ที่สำคัญ  ที่ผ่านมาจีนเคยใช้มาตรการทางการทูตและคำแถลงการณ์เพื่อแสดงจุดยืน

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2567 กระทรวงการต่างประเทศจีนได้ประกาศมาตรการตอบโต้ต่อผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐ ได้แก่ “ไมค์ กัลลาเกอร์” อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ จากวิสคอนซิน โดยกล่าวหาว่า กัลลาเกอร์มีพฤติกรรมแทรกแซงนโยบายของจีนมาเป็นเวลานาน

การตอบโต้ของจีนต่อกัลลาเกอร์เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจีนจะไม่ทนต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากต่างประเทศ และจะใช้มาตรการตอบโต้ต่อผู้ที่ท้าทายผลประโยชน์ของจีน

ทั้งนี้ มาตรการตอบโต้ของจีนต่อสหรัฐ มุ่งเป้าไปที่สองกลุ่มหลัก ได้แก่ บริษัทและบุคคลในสหรัฐที่ต่อต้านจีน ซึ่งรวมถึงบริษัทที่ดำเนินการในไต้หวัน ถัดมาคือ จีนมองว่าสหรัฐละเมิดอธิปไตยและศักดิ์ศรีของจีน ผ่านการขายอาวุธให้ไต้หวัน แทรกแซงกิจการภายในของจีน ซึ่งมาตรการตอบโต้อาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางการค้า และเป็นคำเตือนถึงธุรกิจของสหรัฐว่าอาจสูญเสียการสนับสนุนทางการเงิน โอกาสทางธุรกิจในการร่วมทุนกับจีนหรือการเข้าถึงตลาดจีน

ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า จีนใช้มาตรการตอบโต้ดังกล่าวแสดงจุดยืนเรื่อง “ผลประโยชน์หลัก” อันหนักแน่นไปยังประชาคมระหว่างประเทศ ที่สื่อว่าการกระทำใดก็ตามที่บ่อนทำลายอธิปไตยของจีนและละเมิดหลักการจีนเดียวจะต้องเผชิญมาตรการตอบโต้ 

ดังนั้น การที่จีนใช้มาตรการตอบโต้ต่อบริษัทและบุคคลบางรายในสหรัฐจะช่วยให้ประชาคมระหว่างประเทศมองเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  ถึงผลกระทบเชิงลบของการที่สหรัฐใช้เขตอำนาจเหนืออธิปไตยและความมั่นคงของประเทศอื่น ๆ  โดยมาตรการตอบโต้เหล่านี้  ยังเผยให้เห็นถึงลักษณะการครอบงำและการกลั่นแกล้ง  ในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอีกด้วย หลังจากนี้อาจทำให้บริษัทบางแห่งอาจพิจารณาประเด็นการขายอาวุธไปยังเกาะไต้หวันอีกครั้ง