เปิดแผนยุโรป ‘รับรองปาเลสไตน์ โดดเดี่ยวอิสราเอล’

เปิดแผนยุโรป ‘รับรองปาเลสไตน์ โดดเดี่ยวอิสราเอล’

อิสราเอลถูกประชาคมโลกกดดันหนักอยู่แล้วผลจากการทำสงครามในกาซา แต่เมื่อวันพุธ (22 พ.ค.) ยิ่งถูกโดดเดี่ยวหนักขึ้นไปอีก หลังสามชาติยุโรปสวนกระแสพันธมิตรอียู ตัดสินใจรับรองรัฐปาเลสไตน์

KEY

POINTS

  • ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ สเปน เตรียมรับรองรัฐปาเลสไตน์
  • นายกรัฐมนตรีอิสราเอลกล่าวว่า การตัดสินใจนี้เป็นการให้รางวัลกับการก่อการร้าย 
  • นักวิเคราะห์มองว่า การที่แต่ละรัฐรับรองรัฐปาเลสไตน์ไม่สำคัญเท่าความเคลื่อนไหวในวงกว้าง เช่น ฟ้องศาลโลก

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน เมื่อวันพุธ (28 พ.ค.) นายกรัฐมนตรีไซมอน แฮร์ริส ของไอร์แลนด์ประกาศที่กรุงดับลินว่าชาติของตนจะยอมรับปาเลสไตน์ในฐานะรัฐ แต่ไม่ได้ระบุกรอบเวลา ขณะที่นายกรัฐมนตรีโจนัส แกห์ร สโตร์ของนอร์เวย์ ประกาศในกรุงออสโล และนายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชสของสเปนประกาศในกรุงแมดริดว่าจะยอมรับปาเลสไตน์เป็นรัฐในวันที่ 28 พ.ค.

โฆษกรัฐบาลอิสราเอลเรียกความเคลื่อนไหวนี้ว่า “น่ารังเกียจ” และจะส่งผลเพียงเล็กน้อยไม่ว่าจะในกาซาหรือเขตยึดครองเวสต์แบงก์

ทั้งนี้ องค์การปาเลสไตน์ (PA) ในเวสต์แบงก์ถูกอิสราเอลบีบคั้นจนขาดแคลนเงินสดมาจ่ายเงินเดือนข้าราชการ   PA ก่อตั้งขึ้นเมื่อสามทศวรรษก่อนตามข้อตกลงออสโล ซึ่งเป็นข้อตกลงสันติภาพชั่วคราว

นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลนั้นต่อต้านแนวทางสองรัฐมานาน และต่อต้านหนักเมื่อได้มาเป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองขวาจัดแนวชาตินิยมศาสนาเมื่อสิ้นปี 2565

รัฐบาลของเขายังคงไม่ไว้ใจ PA อย่างมาก กล่าวหาว่า PA กระทำการอันเป็นปรปักษ์ตั้งแต่จ่ายเงินให้กับครอบครัวกลุ่มติดอาวุธที่ถูกทหารอิสราเอลสังหาร ไปจนถึงส่งเสริมเนื้อหาต่อต้านยิวในตำราเรียน

ตัวเนทันยาฮูเอง เรียกการตัดสินใจของสามประเทศยุโรปเป็น “การให้รางวัลกับการก่อการร้าย” และว่า รัฐปาเลสไตน์จะ “พยายามทำการสังหารหมู่ 7 ต.ค. ซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

ความเห็นดังกล่าวตอกย้ำถึงบรรยากาศขมขื่นรายล้อมสงครามในกาซา และมุมมองที่แตกต่างในการหาทางออกทางการเมืองที่ต้องการให้รัฐปาเลสไตน์อิสระดำรงอยู่เคียงข้างอิสราเอล ขณะที่การเจรจาสันติภาพดูเหมือนถูกสกัด

การตอบโต้ของอิสราเอลนอกเหนือจากเรียกทูตของตนกลับจากออสโล แมดริด และดับลินแล้ว กระทรวงการต่างประเทศยังเรียกทูตนอร์เวย์ ไอร์แลนด์ และสเปนในอิสราเอลมาชมภาพวีดิโอการโจมตีอิสราเอลของมือปืนฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ด้วย

ลอรา บลูเมนเฟลด์ นักวิเคราะห์ด้านตะวันออกกลางจากวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์เพื่อการต่างประเทศศึกษาชั้นสูงในวอชิงตันกล่าวว่า การตัดสินใจของสามประเทศ “โดดเด่นทางการทูตแต่เพิกเฉยด้านอารมณ์และไม่ได้ผล”

“สำหรับชาวอิสราเอลจะยิ่งเพิ่มความวิตกกังวล ตอกย้ำข้ออ้างของเนทันยาฮูที่ว่า ชาวอิสราเอลต้องยืนลำพัง สำหรับชาวปาเลสไตน์ เป็นการเพิ่มความหวังผิดๆ โดยไม่มีการกำหนดเส้นทางนำไปสู่ความฝันสร้างชาติอันชอบธรรมให้เป็นจริงได้”

  • ระยะยาวอิสราเอลต้องจ่ายหนัก

สำหรับเนทันยาฮู ผู้กำลังกอบกู้แนวร่วมที่แตกแยกกันช่วงสงคราม และถูกตำหนิอย่างมากจากหายนะ 7 ต.ค. คำประกาศของสามชาติยุโรปอาจช่วยเหลือเขาได้ชั่วคราว ด้วยการตอกย้ำภาพลักษณ์ผู้ท้าทายเผชิญหน้ากับโลกแห่งปรปักษ์

“นี่จะเสริมแกร่งให้กับเรื่องเล่าที่เราได้ยินมาตั้งแต่วันแรกของสงครามว่า สุดท้ายแล้วเราพึ่งใครไม่ได้นอกจากตัวเราเองและผมคิดว่า นี่สามารถช่วยรัฐบาลอิสราเอลอธิบายและพรรณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามนี้ได้” โยนาทาน ฟรีแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฮิบรูในเยรูซาเล็มกล่าว

อย่างไรก็ตาม ราคาที่อิสราเอลต้องจ่ายในระยะยาวสำหรับการขัดขวางการตั้งรัฐปาเลสไตน์อาจหนักหน่วงยิ่งกว่า เริ่มตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุดีอาระเบีย เป้าหมายทางการทูตสูงสุดของเนทันยาฮูก่อนฮามาสโจมตี

ด้านแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภา เมื่อวันอังคาร (21 พ.ค.) ว่า ข้อตกลงที่จะบรรลุกับซาอุดีอาระเบียนั้นต้องสร้างความสงบสุขในกาซาและมี “เส้นทางที่น่าเชื่อถือ” นำไปสู่การตั้งรัฐปาเลสไตน์

“และอาจเป็นไปได้ว่า ในเวลานี้ อิสราเอลไม่สามารถหรือไม่ยินดีดำเนินการบนเส้นทางนั้น” บลิงเคนกล่าวเสริม

สำหรับชาวอิสราเอล ภาพวันที่ 7 ต.ค. เมื่อมือปืนนำโดยฮามาสบุกเข้ามาในชุมชนต่างๆ รอบฉนวนกาซา สังหารประชาชนราว 1,200 คน จับเป็นตัวประกันอีกราว 250 คน ยังคงเป็นความบอบช้ำฝังลึก

แต่นอกประเทศอิสราเอล ภาพความทุกข์ทรมานในกาซา ที่อิสราเอลตอบโต้ไม่รามือ คร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ไปกว่า 35,000 คน สร้างความเสียหายมากมายมหาศาล กระตุ้นให้เกิดการประท้วงในมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐขยายไปถึงหลายเมืองในยุโรป

สำหรับทั้งรัฐบาลสหรัฐและรัฐบาลอื่นๆ เช่น เยอรมนี ที่มักเป็นมิตรกับอิสราเอล การประท้วงกราดเกรี้ยวแบบนี้มักสร้างต้นทุนทางการเมืองหนักหน่วงมากขึ้นทุกขณะ

ทั้งสองประเทศกล่าวว่า การยอมรับรัฐปาเลสไตน์ต้องเป็นผลจากการเจรจาต่อรอง ไม่ใช่การประกาศแต่เพียงฝ่ายเดียว และประเทศใหญ่รายอื่นในยุโรป อย่างฝรั่งเศสและอังกฤษไม่ร่วมวงนอร์เวย์ ไอร์แลนด์ และสเปน

แต่สำหรับเอลอน ลีล อดีตอธิบดีกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล และนักวิจารณ์รัฐบาลเนทันยาฮู มองว่า การที่ประเทศหนึ่งๆ ยอมรับรัฐปาเลสไตน์สำคัญน้อยกว่าการเคลื่อนไหวในภาพกว้าง เช่น การดำเนินคดีกับอิสราเอลและผู้นำในศาลระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก

“ถ้ามันเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวในวงกว้างที่กระตุ้นให้เกิดโมเมนตัม และเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) มีการคว่ำบาตรผู้ตั้งถิ่นฐานและอื่นๆ ก็มีโอกาสที่อิสราเอลจะสังเกตได้ว่าโลกมีอยู่จริง” ลีลสรุป