'อากาศร้อนจัด' ภัยร้ายแรงงานทั่วโลก ILO เผยคร่าชีวิตปีละหลายหมื่นคน

'อากาศร้อนจัด' ภัยร้ายแรงงานทั่วโลก ILO เผยคร่าชีวิตปีละหลายหมื่นคน

ปัญหาแรงงานทั่วโลกไม่ได้มีแค่ค่าแรงน้อย แต่เป็นการทำงานท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัดในยุคโลกเดือด ILO เผย 'ร้อนจัด-มลพิษทางอากาศ' เป็นความเสี่ยงแรงงานหลายล้านคนทั่วโลกในยุคนี้

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติเปิดเผยรายงานฉบับล่าสุดว่า ปัญหาการทำงานภายใต้สภาพอากาศที่ร้อนจัดและมลพิษทางอากาศส่งผลให้เกิดความเสี่ยงอย่างรุนแรงต่อสุขภาพและความปลอดภัยของแรงงานทั่วโลก 

มานาล อัซซี ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านสุขภาพและความปลอดภัยทางอาชีพของไอแอลโอ กล่าวว่า มีแรงงานมากกว่า 70% หรือราว 2,400 ล้านคนจากทั้งหมด 3,400 ล้านคนทั่วโลก ที่ต้องเผชิญการทำงานภายใต้สภาพอากาศร้อนจัด ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในการทำงาน   

"มีแรงงานมากกว่า 22 ล้านคนที่กำลังทรมานจากโรคภัยและอาการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับอากาศร้อนจัดเกินไป และมีแรงงานถึงเกือบ 20,000 คนต่อปี ที่ต้องเสียชีวิตในที่ทำงานอันเนื่องจากปัญหาอุณหภูมิที่สูงขึ้น" รายงาน Health Policy Watch ระบุ

รายงานระบุด้วยว่า ผลกระทบเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อแรงงานยังมาในรูปแบบของปัญหาทางสุขภาพเช่น มะเร็ง โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และปัญหาเกี่ยวกับไตอีกด้วย 

ปัจจุบันมีแรงงานมากกว่า 1,600 ล้านคนทั่วโลกที่เสี่ยงต่ออันตรายจากรังสียูวี และทำให้มีแรงงานเสียชีวิตมากถึงกว่า 18,960 รายต่อปี อันเนื่องมาจากมะเร็งผิวหนังชนิดที่ไม่ใช่เมโลมา 

\'อากาศร้อนจัด\' ภัยร้ายแรงงานทั่วโลก ILO เผยคร่าชีวิตปีละหลายหมื่นคน

อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้มีการใช้ยาปราบศัตรูพืชในการทำการเกษตรกันมากขึ้น ส่งผลให้แรงงานมากกว่า 870 ล้านคนอยู่ในภาวะเสี่ยง และมีคนถึงราว 300,000 คนต่อปีที่เสียชีวิตอันเนื่องมาจากยาฆ่าแมลงในการเกษตร 

ในขณะที่ผลพวงจากปัญหาอากาศที่ร้อนขึ้นยังทำให้เกิดโรคติดต่อจากแมลง (vector-borne diseases) มากขึ้นอีกด้วย และมีจำนวนแรงงานที่เสียชีวิตราว 15,000 คนต่อปี จากโรคติดต่อจากแมลงและโรคที่เกี่ยวกับปรสิต  

จิโฮโกะ อาซาดะ มิยาคาวะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการและผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของ ILO กล่าวว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

แรงงานที่ทำงานกลางแจ้งในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เกษตรกรรม การก่อสร้าง การประมง และการขนส่ง ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากโรคลมแดด (heat stroke) ในขณะที่คนงานในอาคารเสี่ยงต่อความร้อนที่มากเกินไปและการระบายอากาศที่ไม่ดีในโรงงาน บริษัท และโกดังสินค้า

"สำหรับคนขับรถส่งของ หรือพ่อค้าแม่ค้าแผงขายของข้างถนนที่หายใจรับเอามลพิษทางอากาศเข้าไปทุกวัน จำเป็นต้องมีความตระหนักรู้ มีอุปกรณ์ป้องกัน และมีการปรับตัวในการทำงานเพื่อลดผลกระทบตรงนี้" มิยาคาวะกล่าวเสริม

\'อากาศร้อนจัด\' ภัยร้ายแรงงานทั่วโลก ILO เผยคร่าชีวิตปีละหลายหมื่นคน

ผลการศึกษาโดยสถาบันแรงงานโลกของมหาวิทยาลัยคอร์แนลได้เตือนว่า อากาศที่ร้อนจัดและน้ำท่วมอาจทำให้ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอของเอเชียสูญเสียรายได้จากการส่งออกถึง 65,000 ล้านดอลลาร์ และกระทบกับงาน 950,000 อัตรา ภายในปี 2573 ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งธุรกิจและเป็นอันตรายต่อแรงงาน

ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ILO เรียกร้องให้มีความพยายามร่วมกันเพื่อปกป้องความปลอดภัยและสุขภาพของแรงงานที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การใช้กรอบการกำกับดูแลที่เข้มข้นซึ่งสามารถบังคับใช้มาตรฐานความปลอดภัย และปกป้องพนักงานจากอันตรายที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศได้

ทั้งนี้ในปี 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมแรงงานระหว่างประเทศ (ILC) ประกาศยอมรับว่า "สภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ" เป็นหลักการพื้นฐานภายในกรอบการทำงานของ ILO ซึ่งถือเป็นผลการประชุมที่มาพร้อมนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ เพราะจะส่งผลให้รัฐบาลประเทศต่างๆ จำเป็นต้องออกและบังคับใช้กฎหมายที่รับรองความปลอดภัยและสุขภาพในสถานที่ทำงาน รวมถึงมีข้อกำหนดสำหรับการหยุดพักอย่างเพียงพอและการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนที่มีความเสี่ยงสูง

แม้ว่าบางประเทศในภูมิภาค เช่น จีน อินเดีย สิงคโปร์ เวียดนาม รวมถึง "ประเทศไทย" ได้ดำเนินมาตรการเกี่ยวกับการจัดการกับความร้อนที่มากเกินไปในสถานที่ทำงานแล้ว แต่การป้องกันผลกระทบอื่นๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงกระจัดกระจาย ดังนั้น ILO จึงได้กำหนดการประชุมในปี 2568 โดยให้รัฐบาล นายจ้าง และตัวแทนลูกจ้างเข้าร่วม เพื่อเสนอแนวทางนโยบายในการจัดการกับอันตรายจากสภาพภูมิอากาศ