จาก "อดอยาก" สู่เหลือเฟือ | บวร ปภัสราทร

จาก "อดอยาก" สู่เหลือเฟือ | บวร ปภัสราทร

ไอร์แลนด์ เป็นประเทศหนึ่งที่พลิกโฉมจากดินแดนที่ “อดอยาก” มาเป็นผู้ส่งออกทั้งผลิตภัณฑ์นมอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งๆ ที่มีพื้นที่เล็กกว่าประเทศไทยกว่าเจ็ดเท่า ควบคู่ไปกับการมีรายได้มหาศาล จากการเป็นที่ตั้งของบริษัทไฮเทคของโลกด้านการผลิตยาและเทคโนโลยีสารสนเทศ

คงไม่เชื่อว่าครั้งหนึ่งผู้คนกว่า 2 ล้านคน อพยพออกจากประเทศเพื่อหนีความอดอยาก ถ้าใครชอบดูหนังที่พระเอกหล่อ นางเอกสวยคงเคยดู FAR and AWAY ดูแล้วลองนึกดูว่าจากยากจนจนต้องย้ายประเทศ กลายเป็นประเทศที่มีผู้คนอพยพไปทำงานกันเยอะแยะในวันนี้ได้อย่างไร 

ถ้าไม่คิดเรื่องพื้นฐานวัฒนธรรมของผู้คนว่า เป็นปัจจัยหนึ่งในการพลิกโฉมประเทศ การปรับตัวเลือกทำในสิ่งที่ได้เปรียบในการแข่งขัน แทนที่จะทำทุกอย่างที่เคยทำ เป็นคำตอบของความสำเร็จนี้

 เริ่มจากภาคเกษตรที่สมัยโบราณ เกษตรกรก็เช่าที่จากเจ้าของที่จากต่างประเทศเพาะปลูกกันไป เพื่อเอาไปขายบ้าง เอามากินกันเองบ้าง ยิ่งทำเจ้าของที่ยิ่งรวย แต่เกษตรกรจนลง 

จากการที่เป็นประเทศที่มีพื้นที่น้อย แต่ฝนตกเยอะ ต้นหญ้าเขียวตลอดปี เขาเปลี่ยนมาทำปศุสัตว์เลี้ยงโคนมเป็นสำคัญ เป็นการเลี้ยงดูที่ใช้หญ้าที่มีตามธรรมชาติ ไม่ต้องไปหาอาหารสัตว์ผสมเคมีมาเลี้ยงดู โคมีหญ้าให้กินอย่างเหลือเฟือตลอดปี อยู่อย่างมีความสุข

ผลิตภัณฑ์นมของไอร์แลนด์โด่งดังไม่แพ้นิวซีแลนด์ ซึ่งผลิตปศุสัตว์โดยใช้หญ้าตามธรรมชาติเช่นเดียวกัน

เขาปรับตัวเลือกทำในสิ่งที่เขาได้เปรียบ ภาคเกษตรของเขาสร้างรายได้ประมาณเกือบ 5% ของจีดีพี ซึ่งน้อยกว่าบ้านเราที่อยู่ประมาณ 8% เราใช้คนร่วม 20 ล้านคนเพื่อสร้างรายได้นี้ แต่เขาใช้แค่ 5 แสนคนทำปศุสัตว์ที่มีผลิตภาพสูง

การเป็นที่ตั้งของบริษัทไฮเทคนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่เป็นประเทศในสหภาพยุโรปที่ใช้ภาษาอังกฤษ สำนักงานภาคพื้นยุโรปของบริษัทไฮเทคจากสหรัฐจึงเลือกไอร์แลนด์เป็นที่ตั้ง

แต่ที่สำคัญกว่าคือ ไอร์แลนด์มีการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ที่มีคุณภาพสูงมากประเทศหนึ่งของโลก

มีมหาวิทยาลัยที่มีรากฐานที่เข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์มายาวนาน ตั้งแต่ที่สาธารณรัฐไอร์แลนด์ยังเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษ “พีชคณิตของบูล” ที่เป็นพื้นฐานการทำงานของคอมพิวเตอร์ George Boole คนคิดพีชคณิตนี้ก็เป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์คนแรกของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในไอร์แลนด์ 

จาก \"อดอยาก\" สู่เหลือเฟือ | บวร ปภัสราทร

แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือการศึกษาปฐมวัยของเขามุ่งเน้นการสร้างให้เด็กใฝ่รู้ติดตัวไปตลอดชีวิต โดยเน้นการศึกษาที่เปิดโอกาสให้เด็กเล็กได้สำรวจและทดลองต่างๆ มากกว่าการท่องจำ และบ่มเพาะนิสัยเชื่อฟังที่พบเจอกันในบ้านเรา 

การศึกษาปฐมวัยของเขาไม่แตกต่างไปจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนประเทศอย่างก้าวกระโดด เพียงแต่มีการดำเนินการที่ผสมผสานระหว่างโรงเรียนกับชุมชน

กระทั่งได้ผู้คนที่สอดคล้องกับความต้องการของบริษัทไฮเทค ที่ต้องการคนที่มีคุณภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ซึ่งจะมีคุณภาพในด้านนี้ได้ต้องเริ่มจากการเป็นคนที่ใฝ่รู้ ช่างสำรวจ ช่างทดลองและช่างตั้งคำถาม

คนต่างชาติที่เข้าไปทำงานในไอร์แลนด์ ไม่ได้ไปแย่งงานคนไอร์แลนด์ เพราะส่วนหนึ่งก็ไปทำงานไฮเทคให้กับบริษัทข้ามชาติ อีกส่วนหนึ่งก็ไปประกอบอาชีพที่คนไอร์แลนด์มีจำนวนไม่พอ หรือไม่อยากทำ ไปขับแท็กซี่ ไปเป็นพนักงานร้านค้า

ประกอบกับเป็นบ้านเมืองที่มั่งคั่งในวันนี้ จึงมีสวัสดิการสังคมที่ดีมาก แม้จะต้องจ่ายภาษีแพงก็ตาม

พอมีคนต่างชาติเข้ามาแบ่งเบาการงานบางอย่างไป เลยมีคนไอร์แลนด์จำนวนไม่น้อยที่ไม่ทำงาน แต่ใช้ประโยชน์จากสวัสดิการสังคมแทน ไม่ทำงานก็ยังมีเงินกินไปได้

การสร้างผลิตภาพของคนไม่ได้จบลงที่สถานศึกษา เขาทำให้เมืองทั้งเมืองสามารถสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้กับผู้คนไปพร้อมๆ กับการดำรงชีวิต ไอร์แลนด์มีหลายเมืองที่ชนะการประกวด Learning City ของ UNESCO มีการจัดสัปดาห์การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นประจำทุกปีในแทบทุกเมืองใหญ่

เพื่อให้ผู้คนได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เติมเต็มความสามารถในการงานและการดำรงชีวิตอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นตัวอย่างความสำเร็จของ Learning City ให้กับหลายเมืองในโลกนี้

ดูเขาแล้วหวังว่าคงไม่มีใครคิดย้อนทาง จนทำให้บ้านเมืองที่เคยเหลือเฟือ กลายเป็นอดอยากไปได้

คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์

รศ.บวร ปภัสราทร 

นักวิจัย Digital Transformation

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

email. [email protected]