หนังเล่าโลก: A Girl From Mogadishu เปลี่ยนเหยื่อเป็นนักสู้ ‘โมกาดิชูสู่ไอร์แลนด์’

หนังเล่าโลก: A Girl From Mogadishu  เปลี่ยนเหยื่อเป็นนักสู้ ‘โมกาดิชูสู่ไอร์แลนด์’

วัฒนธรรมประเพณีบางอย่างเป็นเรื่องดีตามความเชื่อของคนในสังคมหนึ่ง โดยเฉพาะประเพณีที่ทำกับเด็กผู้หญิงอย่างการขริบอวัยวะเพศหญิง (Female Genital Mutilation: FGM) เพื่อทำให้ผู้หญิงไม่มีความต้องการทางเพศ และคง "ความบริสุทธิ์"ไว้ได้จนถึงวันวิวาห์

แต่นี่เป็นประเพณีที่ดีจริงหรือสำหรับเด็กผู้หญิงที่ถูกกระทำ บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร  อย่างในภาพยนตร์เรื่อง A Girl From Mogadishu

โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ เปิดตัวซีรีส์ภาพยนตร์นานาชาติในเมืองครั้งแรก เฉลิมฉลองเดือนสตรีสากลด้วย  A Girl From Mogadishu ภาพยนตร์ปี 2019 ผลงานกำกับของ Mary McGuckian ผู้กำกับชาวไอริช บอกเล่าเรื่องราวของอิฟราห์ อาห์เม็ด เด็กหญิงจากเมืองโมกาดิชู ประเทศโซมาเลีย ที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายจากสงครามกลางเมืองเมื่อปี 2006 ป้าที่อยู่ในเมืองมินนิโซตา สหรัฐ ส่งเงินมาให้นายหน้าจัดการพาอิฟราห์หนีออกจากโมกาดิชูไปอยู่กับป้าที่มินนิโซตาให้ได้เพื่อความปลอดภัย 

แต่การเดินทางออกนอกประเทศท่ามกลางสงครามเช่นนี้ เส้นทางของเด็กหญิงอิฟราห์ไม่ได้ง่ายเลย เธอเสี่ยงถูกขบวนการค้ามนุษย์ล่อลวงไปตลอดเวลาในการเดินทางหลายทอดจากโซมาเลียไปประเทศเพื่อนบ้านกว่าจะออกจากแอฟริกาได้ แถมนายหน้าไม่ได้พาเธอไปยังสหรัฐตามที่ตกลงกันไว้ แต่กลับพาเธอไปลงที่กรุงดับลิน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ นายหน้าชี้ทางให้อิฟราห์ไปติดต่อหน่วยงานรับผู้ลี้ภัยแล้วเขาก็เดินจากไป ชีวิตในไอร์แลนด์นับจากนี้อิฟราห์ต้องยืนหยัดด้วยตนเอง และจุดพลิกผันก็มาถึง เมื่อเธอต้องตรวจสุขภาพรวมถึงการตรวจ HIV และตรวจภายใน ณ โมเมนต์นี้เองอิฟราห์เพิ่งรู้ว่าสรีระหญิงของเธอมีความผิดปกติ จากพิธีกรรมที่เธอและเพื่อนๆ เคยพานพบในวัยเด็ก ยายอิฟราห์เป็นคนจัดการ ลุงเป็นคนลงมือ เพื่อนของอิฟราห์ติดเชื้อจนเสียชีวิต โชคดีที่อิฟราห์รอดมาจนได้รับรู้ในดินแดนไอร์แลนด์ว่า เธอผ่านการขริบอวัยวะเพศหญิงซึ่งเป็นความรุนแรงต่อเด็กหญิงและสตรีอย่างโหดร้ายทารุณเกินพรรณนา 

เมื่อรับรู้ความจริงอิฟราห์จึงตัดสินใจว่าต้องรณรงค์ต่อต้านการขริบอวัยวะเพศหญิง เริ่มต้นจากการเรียนภาษาอังกฤษในค่ายอพยพ รณรงค์ระดับกลุ่ม ผลักดันสู่การเมืองระดับชาติ เข้าสู่เวทีสหภาพยุโรปไปจนถึงเวทีสหประชาชาติ ไอร์แลนด์ออกกฎหมายต่อต้านการทำเอฟจีเอ็มมาตั้งแต่ปี 2012 สหประชาชาติรณรงค์ให้ทั่วโลกยุติการขริบอวัยวะเพศหญิงอย่างสิ้นเชิง โดยกำหนดวันที่ 6 ก.พ. ของทุกปี เป็นวันสากลต่อต้านการขริบอวัยวะเพศหญิง

ภาพยนตร์เล่าเส้นทางชีวิตของอิฟราห์ แต่สำหรับคนดูเกิดคำถามว่าสาธารณรัฐไอร์แลนด์เป็นสังคมแบบไหนที่สามารถเปลี่ยนเหยื่อให้กลายเป็นนักต่อสู้ เป็นปากเป็นเสียงให้เด็กผู้หญิงคนอื่นๆ ไม่ต้องรับชะตากรรมแบบเดียวกับเธออีก  แพทริก เบิร์น (H.E. Mr. Patrick Bourne) เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวเปิดตัวภาพยนตร์ว่า A Girl From Mogadishu ชี้ให้เห็นสองเรื่อง เรื่องแรกคือค่านิยมของสาธารณรัฐไอร์แลนด์และยุโรป อันประกอบด้วยค่านิยมด้านมนุษยธรรม  อิฟราห์มาจากโซมาเลีย ประเทศที่ระอุไปด้วยสงครามกลางเมือง มาเป็นผู้ลี้ภัยในไอร์แลนด์ ได้รับการยอมรับจากสังคม ไอร์แลนด์เป็นประเทศที่พิทักษ์ค่านิยมของยุโรป น่าเสียดายที่วิกฤติยังมีอยู่ เมื่อรัสเซียรุกรานยูเครน ไอร์แลนด์และประเทศสหภาพยุโรปอื่นๆ ได้รองรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนอีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีค่านิยมประชาธิปไตย  ภาพยนตร์บอกเรื่องราวของผู้หญิงยากจนคนหนึ่งผู้ไร้ทรัพยากร ไร้การศึกษา แต่สามารถส่งเสียงเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศ สหภาพยุโรป ไปจนถึงระดับโลกผ่านเวทีสหประชาชาติ ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตยของไอร์แลนด์และสหภาพยุโรป ซึ่งถือเป็นค่านิยมที่สำคัญมาก

นอกจากค่านิยมแล้วภาพยนตร์ยังเน้นถึงวัฒนธรรมและความสามารถในการเล่าเรื่องของไอร์แลนด์ เรื่องราวสะเทือนใจของผู้หญิงชาวโซมาเลีย บอกเล่าผ่านผู้กำกับและเขียนบทชาวไอริช ถ่ายทอดผ่านนักแสดงชาวไอริชและนานาชาติ ซึ่งศิลปินชาวไอริชไม่ว่าจะเป็นนักร้อง นักแสดง ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ได้สร้างชื่อเสียงมากมายในเวทีโลก

สำหรับอิฟราห์ ทูตเบิร์นเคยพบกับเธอเมื่อสิบปีก่อน เธอสร้างอิทธิพลต่อทูตมาก  หนังเล่าโลก: A Girl From Mogadishu  เปลี่ยนเหยื่อเป็นนักสู้ ‘โมกาดิชูสู่ไอร์แลนด์’ (อิฟราห์พูดคุยกับผู้ชมภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ ผ่านคลิปวีดิโอ)

"อิฟราห์เป็นผู้หญิงพูดน้อย แต่ทรงพลัง เป็นผู้อุทิศตัวที่สุดยอดจริงๆ และเป็นปากเป็นเสียงสร้างแรงบันดาลใจต่อต้านการขริบอวัยวะเพศหญิง การกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงที่น่ารังเกียจที่สุดเพียงเพราะพวกเธอเป็นผู้หญิง ที่ต้องหยุดได้แล้ว ผมภูมิใจมากที่ไอร์แลนด์เป็นประเทศที่ปกป้องอิฟราห์ รับฟังสิ่งที่เธอพูด นำเรื่องราวของเธอออกสู่โลก และตัวเธอเองก็ภาคภูมิใจที่ได้เป็นพลเมืองไอร์แลนด์" ทูตเบิร์นกล่าวอย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่าฉากที่ทูตประทับใจก็คือฉากที่อิฟราห์ทำพิธีสาบานตนเป็นพลเมืองไอร์แลนด์ 

ในฐานะคนดู ทั้งหลายทั้งปวงในภาพยนตร์นอกเหนือจากชีวิตของอิฟราห์ ความน่ารังเกียจของการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงโดยเฉพาะการขริบอวัยวะเพศ สิ่งที่เห็นได้ชัดมากที่สุดคือภาพบวกของสังคมไอร์แลนด์ ค่านิยมที่ประเทศและสหภาพยุโรปเชิดชูเรื่องมนุษยธรรม สันติภาพ ความเป็นธรรม ความเสมอภาค และประชาธิปไตย ทั้งหมดนี้เอื้ออำนาจให้ผู้หญิง “เป็นปากเป็นเสียงไม่เป็นเหยื่อ” A Girl From Mogadishu จึงไม่ได้เหมาะแค่เดือนแห่งสตรีสากล แต่ยังเหมาะในห้วงเวลาที่ไทยเพิ่งยุบสภาเดินหน้าสู่การเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตยด้วย