จีนให้ทุนพิเศษ "แม่โขง-ล้านช้าง" หนุนโครงการไทยกว่า 700 ล้านบาท

จีนให้ทุนพิเศษ "แม่โขง-ล้านช้าง" หนุนโครงการไทยกว่า 700 ล้านบาท

ในปีนี้มีโครงการของไทยได้รับเงินทุนจาก "กองทุนพิเศษแม่โขง–ล้านช้าง ประจำปี 2567" จำนวน 18 โครงการ รวม 77 โครงการ ตั้งแต่ปี 2560-2566 ไทยได้รับทุนพิเศษจากจีนเพื่อพัฒนาอนุภูมิภาคแล้วกว่า 700 ล้านบาท

การประชุมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (เอ็มแอลซี) ที่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมเมื่อเดือน ธ.ค. 2566 ไทยได้เสนอวิสัยทัศน์ “การขับเคลื่อน 3 อนาคตไปข้างหน้า” ในกรอบความร่วมมือดังกล่าว ได้แก่ 1.การพัฒนาความเชื่อมโยงทางกายภาพ โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ 2.การรับมือกับความท้าทายใหม่ และ 3.การสร้างโอกาสในการเติบโตใหม่ อาทิ ด้านนวัตกรรม การเติบโตอย่างยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านสีเขียว

สมาชิกเอ็มเอลซี ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนามจีน และไทย ยังได้ร่วมหารือและส่งเสริมการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ (5 เม.ย.) กระทรวงการต่างประเทศ นำโดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ได้จัดพิธีเปิดตัวโครงการไทยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก "กองทุนพิเศษแม่โขง–ล้านช้าง ประจำปี 2567"

ในปีนี้มีโครงการของไทยได้รับอนุมัติเงินทุนทั้งหมด 18 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่พัฒนาในหลายด้าน อาทิ โครงการด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์, วิจัยและนวัตกรรม, สาธารณสุข, การค้าและการลงทุน, กิจการสาธารณะ และการจัดการแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งตั้งแต่ปี 2560-2566 ประเทศไทยมีโครงการที่พัฒนาในอนุภูมิภาคนี้รวม 77 โครงการ ได้รับทุนรวมทั้งสิ้น 20,532,993 ล้านดอลลาร์ หรือราว 746 ล้านบาท

บุษฎี สันติพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

บุษฎี สันติพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในพิธีเปิดว่า นับตั้งแต่การประชุมผู้นำเอ็มแอลซีครั้งแรกในปี 2559 เสาหลักตามกรอบความร่วมมือมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก และไทยได้รับการสนับสนุนจากจีนเป็นอย่างดี

รองปลัดกระทรวงฯเผยว่า งานเปิดตัวโครงการ ไม่เพียงสร้างความตระหนักถึงความพยายามดำเนินโครงการที่สำคัญในอนุภูมิภาค แต่ยังเป็นการแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งที่ประเทศจีนให้ทุนสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ในกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างกว่า 780 โครงการทั่วอนุภูมิภาค

“การดำเนินโครงการเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงแนวทางการดำเนินงานที่คำนึงถึงผู้คนเป็นศูนย์กลาง มุ่งเป้าผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและหนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน” บุษฎี กล่าว

หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ร่วมกล่าวในพิธีเปิดว่า ไทยเป็นผู้ริเริ่มหลักและมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ทั้งยังเป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมจากกรอบความร่วมมือนี้

หานระบุว่า ใน 77 โครงการของไทยที่ได้รับทุน มีทั้งโครงการสนับสนุนเทคโนโลยีทางการเกษตร, โครงการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อ โครงการบรรเทาความยากจนในชุมชน และโครงการอื่น ๆ ที่พัฒนาการดำรงชีวิตและความกินดีอยู่ดีของผู้คนในประเทศสมาชิกเอ็มแอลซี 

“เราเชื่อว่าโมเมนตัมของการพัฒนาที่แข็งแกร่งนี้ จะดำเนินอย่างต่อเนื่อง ผลักดันเศรษฐกิจและการพัฒนาทางสังคมของไทยและประเทศในลุ่มแม่น้ำไปข้างหน้าอย่างไม่สิ้นสุด” เอกอัครราชทูตหาน กล่าว

ในฐานะที่ไทยได้รับมอบตำแหน่งประธานร่วมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างกับจีนเป็นระยะเวลา 2 ปีต่อจากนี้ (ปี 2567-2568) หานเสริมว่า ทั้งสองประเทศควรคว้าโอกาสอันล้ำค่าจากการพัฒนาภูมิภาคนี้ ใช้ประโยชน์จากโมเมนตัมการพัฒนาโครงการ และผลักดันกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างไปสู่ระดับที่สูงกว่า บรรลุการพัฒนาร่วมกันทั้ง 6 ประเทศ และหนุนให้ประชาชนในประเทศสมาชิกมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

ภายในงานเปิดตัวดังกล่าวได้จัดพิธีมอบรางวัลโครงการดีเด่นในด้านต่าง ๆ จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1.โครงการส่งเสริมความร่วมมือด้านเอชไอวีในกัมพูชา จีน สปป.ลาว และเมียนมา ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รางวัลโครงการดีเด่นด้านพหุภาคีที่ส่งผลกระทบในระดับอนุภูมิภาค

2.โครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง การรับรองบรรจุภัณฑ์พลาสติกในห่วงโซ่อุปทาน ของสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ได้รับรางวัลโครงการดีเด่นด้านปฏิบัติเพื่อมุ่งเน้นผลลัพธ์

3. โครงการเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ปศุสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้รับรางวัลโครงการดีเด่นด้านการบริหารจัดการ

ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือเอ็มแอลซี เป็นเวทีความร่วมมือสำคัญระดับอนุภูมิภาครูปแบบใหม่ มีความร่วมมือ 3 เสาหลัก ได้แก่ 1.การเมือง และความมั่นคง 2.เศรษฐกิจ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ 3.สังคมและวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนแปลงระดับประชาชน