รถไฟฟ้าจีนบุกไทย พร้อมโค่นบัลลังก์ 'ญี่ปุ่น’ เบียดส่วนแบ่งเจ้าตลาดร่วง

รถไฟฟ้าจีนบุกไทย พร้อมโค่นบัลลังก์ 'ญี่ปุ่น’ เบียดส่วนแบ่งเจ้าตลาดร่วง

รถไฟฟ้าจีนเขย่าตลาดอีวีไทย ชิงส่วนแบ่งถึง 10% พร้อมโค่นบัลลังก์เจ้าตลาดอย่าง "ญี่ปุ่น" ใช้จุดเด่น "คุ้มค่า ราคาประหยัด" ท้าชนแบรนด์เก๋าอย่าง "โตโยต้า" และ "นิสสัน" ที่ยังไม่มีรถ และรถกระบะไฟฟ้าเข้าสู้

ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วในตลาดรถยนต์ประเทศไทย ซึ่งกำลังท้าทายอำนาจเจ้าตลาดจากญี่ปุ่น อย่าง “โตโยต้า” และ “นิสสัน” ที่ยังไม่มีรถยนต์ไฟฟ้าให้เลือกมากมายเท่ากับผู้ผลิตรถยนต์จีน  และที่สำคัญคือ ยังไม่มีรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่หลากหลาย หรือราคาต่ำเหมือน บีวายดี (BYD) หรือ เนต้า ออโต้ (Neta Auto)

ค่ายรถจีนรุกตลาดไทย เบียดแบรนด์ "ญี่ปุ่น"

ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในปี 2566  เพิ่มขึ้น 695.9% เป็นประมาณ 76,000 คัน จากปี 2565 ที่มียอดขายไม่ถึง 10,000 คัน

ทัตสึโอะ โยชิดะ นักวิเคราะห์รถยนต์อาวุโสจาก Bloomberg Intelligence รายงานว่า แบรนด์รถยนต์จีนมีสัดส่วน 10% ของตลาดรถยนต์ไทยทั้งหมดในปัจจุบัน ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น สูญเสียส่วนแบ่งตลาดไป 8.2% ในปีที่แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นครองตลาดมากกว่า 80% มาเป็นเวลานาน

รถไฟฟ้าจีนบุกไทย พร้อมโค่นบัลลังก์ \'ญี่ปุ่น’ เบียดส่วนแบ่งเจ้าตลาดร่วง เมื่อเดือนที่แล้ว ผู้บริหารจากบริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด (Hozon New Energy Automobile Co.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ เนต้า ออโต้ (Neta Auto) ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มยอดขายในประเทศไทย 2 เท่าเป็น 30,000 คันในปีนี้  โดยเนต้าใช้รุ่นรถที่เพรียวลม ดูทันสมัย ดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ จนชื่อเสียงติดตลาดจากที่ไม่เคยมีใครรู้จักในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา

“ไม่จำเป็นต้องรอถึงห้าปี” สำหรับแผนการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานเนต้าแห่งใหม่ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีความสามารถในการผลิตเนต้าได้ 20,000 คันต่อปี “มันจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้” รองประธานของ Hozon กล่าว

จากตัวเลือกราคาประหยัด สู่ผู้เล่นหลักในตลาด

ผู้ผลิตรถยนต์จีนไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกเลือก เพียงเพราะ "คุ้มค่า" และ "ราคาประหยัด" เท่านั้น แต่ในหลายประเทศ รถไฟฟ้าจีนกลายเป็นผู้ผลิตเจ้าเดียวที่มีสินค้าจำหน่าย

การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าจีนในประเทศไทยนั้น ส่วนหนึ่งมาจากแรงหนุนของนโยบายภาครัฐที่ประกาศใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งประกาศให้เงินอุดหนุนสูงสุด 150,000 บาท  ต่อคัน รวมถึงการยกเว้นภาษีบางประเภท  ซึ่งถือว่าเป็นการสนับสนุนที่มาก เมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนไทยในปี 2564 ที่อยู่ที่ 27,352 บาท

เสี่ยวเผิง(XPeng Inc.) ผู้ผลิตรถอีวี EV (Electric Vehicle) สัญชาติจีน ซึ่งมีบริษัทอาลีบาบา (Alibaba Group Holding) เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น ประกาศแผนบุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในงาน Bangkok International Motor Show ที่ผ่านมา โดยจะเริ่มส่งมอบรถยนต์ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป ครอบคลุม 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย

“นี่เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับเราที่จะเข้ามา เนื่องจากประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่กำลังทยอยเปิดประเทศ และสร้างนโยบายที่เอื้อต่อการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสู่ตลาดเหล่านี้” เจียงหมิง เจมส์ วู รองประธานของ XPeng กล่าว

โตโยต้า และอีซูซุอาจเสียส่วนแบ่งตลาดในไทยให้ "รถกระบะไฟฟ้า"

ขณะที่ภาคเกษตรกรรมจะมีขนาดใหญ่ในประเทศไทย แต่ "รถกระบะ" กลับมีสัดส่วนเพียงประมาณ 40% ของยอดขายรถยนต์ใหม่เท่านั้นซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สำคัญ  เนื่องจากโตโยต้า และอีซูซุครองตลาดรถกระบะมานาน  แต่ทั้ง 2 แบรนด์กำลังเผชิญหน้ากับการแข่งขันที่รุนแรงจากแบรนด์รถยนต์จีนที่กำลังขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมรถกระบะด้วยเช่นกัน

ด้านเกรท วอลล์ มอเตอร์( Great Wall Motor ) ใช้กลยุทธ์ในการสร้าง “รถกระบะ” ที่ดีกว่าแก่ลูกค้าที่ต้องการลดการใช้เชื้อเพลิง ผ่าน รถกระบะไฮบริด รุ่นใหม่ แต่รถกระบะรุ่นนี้ยังไม่มีการเปิดเผยราคาอย่างเป็นทางการ

มิเชล ชอง ผู้จัดการทั่วไปของ Great Wall Motor Thailand กล่าวว่า รถกระบะรุ่นนี้จะเป็น “รถระดับพรีเมียมและหรูหรา” นอกจากนี้ แถมยังมีความมั่นใจเต็มเปี่ยมสำหรับการพัฒนารถกระบะไฟฟ้ารุ่นนี้ที่จะ “ไม่มีปัญหา” ซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นไปได้ในการเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้าสำหรับการจำหน่ายในอนาคต

เพื่อรับมือกับการแข่งขัน  โตโยต้าประกาศแผนการที่จะเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้ารุ่น Hilux ในประเทศไทยภายในสิ้นปี 2568 รวมไปถึงอีซูซุเอง ก็ได้เผยโฉม D-Max รถกระบะไฟฟ้ารุ่นแรกของบริษัท  ที่งานแสดงรถยนต์  

ซาโตชิ ยามากูชิ (Satoshi Yamaguchi ) ประธานกรรมการบริหารของอีซูซุ กล่าวว่า เบื้องต้น บริษัทยืนยันการเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้ารุ่นนี้เฉพาะในประเทศนอร์เวย์เท่านั้น  สำหรับตลาดอื่นๆ  อีซูซุยังต้องพิจารณาเพิ่มเติมว่าจะมอบความประทับใจอะไรให้แก่ลูกค้าที่สนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้บ้าง

รถยนต์จีนท้าทายตลาดรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทาเคชิ มิยาโอะ นักวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษา Carnomia กล่าว “ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นไม่ควรอยู่เฉย” เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และภูมิภาคอื่นๆ

ทั้งนี้ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยนี้อาจเป็นลางบอกเหตุสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอินโดนีเซีย และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นครองตลาดมานาน ตามข้อมูลจากองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) รายงานว่า ยอดขาย และการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ในอาเซียนเพิ่มขึ้น 18% เป็น 3.27 ล้านคันในปี 2565 ทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นหนึ่งในตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ระหว่างอันดับ 4 อย่างญี่ปุ่นกับอันดับ 5 อย่างเยอรมนี

ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงได้รับฉายาว่า “Detroit of Asia”  เนื่องจากมีเครือข่ายผู้จำหน่ายชิ้นส่วนรถยนต์ที่บริษัทญี่ปุ่นสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการผลิต รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน  ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้ได้ดึงดูดบริษัท BYD, Great Wall Motor Co. และบริษัทผู้ผลิต  EV รายอื่นๆ ที่ต้องการใช้แรงงาน และความรู้ด้านวิศวกรรมที่มีอยู่ในพื้นที่

แต่ทว่า ผู้ผลิตรถยนต์จีนไม่ได้แค่เข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังส่งออกรถยนต์พลังงานรูปแบบใหม่ (NEVs) ไปยังประเทศไทย และประเทศอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้จีนแซงหน้าญี่ปุ่นกลายเป็นผู้ส่งออกรถยนต์อันดับหนึ่งของโลก

ขณะที่ประเทศอื่นๆ ต่างมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าด้วยการนำเสนอมาตรการจูงใจต่างๆ บริษัทจีน และเกาหลีใต้กำลังแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

โดยล่าสุดอีซูซุ และซูซูกิ ได้เสียส่วนแบ่งการตลาดในประเทศนี้ไป แม้ว่าสัดส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าในการขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คิดเป็นเพียง 1% ในปี 2563 ตามข้อมูลของ Bloomberg NEF แต่ตัวเลขนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 14% ในปี 2573 และ 64% ในปี 2583

 

อ้างอิง bloomberg

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์