กระแสนิยมทองคำในอินเดียไม่มีผล Blackrock ชี้ไม่ช่วยเศรษฐกิจประเทศ

กระแสนิยมทองคำในอินเดียไม่มีผล Blackrock ชี้ไม่ช่วยเศรษฐกิจประเทศ

ซีอีโอกองทุน 'แบล็คร็อค' ชี้ กระแสนิยมทองคำของชาวอินเดียไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ไม่เหมือนเงินฝาก อสังหาฯ และการลงทุน

แลร์รี ฟิงก์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของแบล็คร็อค (BlackRock) บริษัทจัดการการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ระบุในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นว่า ความหลงใหลในทองคำของชาวอินเดีย ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจหรือสร้างผลตอบแทนที่ดีสำหรับนักลงทุนในอินเดีย

"ระหว่างเดินทางเยือนอินเดียเมื่อเดือน พ.ย. ผมได้พบกับผู้กำหนดนโยบายที่โอดครวญเรื่องความหลงใหลในทองคำของเพื่อนร่วมชาติ ทองคำให้ผลตอบแทนน้อยกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นอินเดีย และการลงทุนในทองคำก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ" ฟิงก์ระบุ

ซีอีโอแบล็คร็อคกล่าวด้วยว่า ทองคำเป็นเครื่องเก็บรักษามูลค่าที่ดี แต่ไม่ได้ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเหมือนกับการฝากเงินในธนาคารหรือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก่อให้เกิดผลทวีคูณและส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะ "สำหรับทองคำ มันแค่อยู่ในตู้เซฟเท่านั้น" 

ทั้งนี้ อินเดียเป็นหนึ่งในตลาดทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากทองคำมีนัยสำคัญทางวัฒนธรรม การซื้อทองในงานแต่งงานและเทศกาลต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องมงคล อีกทั้งยังถูกมองว่าเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยและเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง การลงทุนในทองคำสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การซื้อเครื่องประดับ, กองทุนรวมอีทีเอฟทองคำ และพันธบัตรทองคำ

ฟิงก์ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของ "ตลาดทุน" ในการยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งตรงข้ามกับทองคำ โดยอ้างถึงบทบาทของตลาดทุนสหรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

"ไม่มีอำนาจอื่นใดที่นำพาผู้คนให้หลุดพ้นจากความยากจนหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตได้เหมือนกับระบบทุนนิยม และไม่มีโมเดลเศรษฐกิจอื่นใดที่ช่วยให้เราบรรลุความปรารถนาสูงสุด นั่นคืออิสรภาพทางการเงิน ไม่ว่าจะเพื่อตัวเราเองหรือเพื่อประเทศของเราก็ตาม" ฟิงก์กล่าว

จากข้อมูลจากสภาทองคำโลก (WGC) ระบุว่า อินเดียถือเป็นประเทศหนึ่งที่บริโภคทองคำมากที่สุดในโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารกลางอินเดียซื้อทองคำ 4.7 ตันในเดือน ก.พ. ส่งผลให้อินเดียถือครองทองคำสำรองสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 817 ตัน