'ไต้หวัน'ควัก 6 พันล้าน ดึงดูดทาเลนท์สายเทคกว่า 3 แสนคนใน 'เวียดนาม-อินโดฯ'

'ไต้หวัน'ควัก 6 พันล้าน ดึงดูดทาเลนท์สายเทคกว่า 3 แสนคนใน 'เวียดนาม-อินโดฯ'

'ไต้หวัน' ทุ่มงบ 6 พันล้านบาท แก้ปัญหาวิกฤติแรงงาน คว้าเทคทาเลนท์ 3.2 แสนคนจากทั่วอาเซียน หวังรักษาตำแหน่งผู้นำเซมิคอนดักเตอร์

ไต้หวัน กำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ อันเนื่องมาจากอัตราการเกิดที่ลดลง ทำให้ไต้หวันแก้ปัญหานี้ด้วยการให้ทุนนักศึกษาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะใน "เวียดนาม" และ "อินโดนีเซีย" ในฐานะแหล่งแรงงานใหม่เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

"ซิลิคอนวัลเลย์ของไต้หวัน" ตั้งอยู่ในเขตชานเมืองของเมืองซินจู๋ เป็นแหล่งรวมนักศึกษาที่ได้รับโอกาสในการฝึกงานจริงกับบริษัทชิปชั้นนำ เช่น ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง คอมพานี (TSMC), เอเอสอี เทคโนโลยี โฮลดิ้ง และ พาวเวอร์เทค เทคโนโลยี

โรงเรียนเซมิคอนดักเตอร์ของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติไต้หวัน (MUST) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "Mini TSMC" มุ่งเน้นไปที่การผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านเซมิคอนดักเตอร์ที่พร้อมเป็นทรัพยากรอันล้ำค่าสำหรับนายจ้างในอนาคต และนักเรียนเกือบ 700 คนจากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 2,300 คน มาจากประเทศ "เวียดนาม"

เด็กหนุ่มวัย 23 ปี หนึ่งในนักเรียนชาวเวียดนามในหลักสูตรปริญญาโทเลือกเรียนที่ไต้หวันเพื่อเรียนรู้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของโลก วางแผนที่จะทำงานในบริษัทที่ไต้หวันเป็นเวลา 3-4 ปีหลังจากสำเร็จการศึกษาเพื่อหาประสบการณ์

โครงการนี้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของบริษัทเทคโนโลยีในไต้หวันเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ

"เราต้องการคนงานเพิ่มอีกหลายหมื่นคน บริษัทและมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมผู้มีความสามารถ" ชาง โฮ คณบดีโรงเรียนเซมิคอนดักเตอร์ของ MUST กล่าว

เด็กเกิดใหม่ไต้หวันต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ไต้หวันมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก เพราะค่าจ้างที่ซบเซา ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้น และแรงกดดันอื่นๆ ส่งผลให้อัตราการเกิดของไต้หวันต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในปี 2566 มีเด็กเกิดใหม่เพียง 135,000 คน จาก 300,000 คนในปี  2533

ทว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้องการคนงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แค่ TSMC เพียงบริษัทเดียวก็จ้างพนักงานใหม่ถึงปีละ 6,000 คน

ไต้หวันเผชิญกับแรงกดดันด้าน "แรงงาน" ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ท่ามกลางความต้องการชิปที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความก้าวหน้าด้านปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีอื่นๆ  ทำให้รัฐบาล ธุรกิจ และสถาบันการศึกษาต้องหากลยุทธ์ระยะยาวเพื่อรักษากลุ่มแรงงานที่มีความสามารถเหล่านี้ไว้

ดึงดูดนักศึกษาต่างชาติอุดช่องโหว่

นักศึกษาต่างชาติเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของไต้หวัน โดยการเปิดตัวโครงการใหม่ในปีนี้ โดยรัฐบาลและนายจ้างจะร่วมกันให้การสนับสนุนทางการเงินแก่นักศึกษาต่างชาติ แลกกับการที่นักศึกษาเหล่านั้นทำงานในไต้หวันเป็นระยะเวลาหนึ่งหลังสำเร็จการศึกษา

\'ไต้หวัน\'ควัก 6 พันล้าน ดึงดูดทาเลนท์สายเทคกว่า 3 แสนคนใน \'เวียดนาม-อินโดฯ\'

ไต้หวันใช้งบประมาณ 163 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 6 พันล้านบาท สนับสนุนแผนนี้ไปจนถึงปี 2571 เพื่อดึงดูดนักศึกษาต่างชาติ 320,000 คนภายในปี 2573 โดยเน้นจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

การรับนักศึกษาต่างชาติจะเน้นในภาควิชาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เท่ากับเป็นการรับนักเรียนเพิ่มขึ้นสองเท่าจากเดิม โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนนักศึกษาต่างชาติที่จะทำงานในไต้หวันหลังจบการศึกษาจากปัจจุบัน 40% เป็น 50% และเพิ่มเป็น 70% 

 

อ้างอิง  Nikkei Asia