ภายในปี 2100 อัตราเกิดใหม่ทั่วโลกจะต่ำเกินเยียวยา ประเทศยากจนเกิดเบบี้บูม

ภายในปี 2100 อัตราเกิดใหม่ทั่วโลกจะต่ำเกินเยียวยา ประเทศยากจนเกิดเบบี้บูม

ผลการศึกษาใหม่ชี้ว่า เกือบทุกประเทศทั่วโลกจะมี "อัตราเจริญพันธุ์" ตกต่ำเกินจะรักษาจนนวนประชากรให้ยั่งยืนได้ภายในปี 2100 และประเทศยากจนจะเข้าสู่ยุค "เบบี้บูม" โดยเด็กเกิดใหม่ ทุก ๆ 2 คน จะเป็นเด็กจากแอฟริกา 1 คน

สำนักข่าวอัลจาซีราห์เผยว่า อัตราเจริญพันธุ์ หรือการให้กำเนิดบุตรโดยเฉลี่ยของสตรี 1 คน ในเกือบทุก ๆ ประเทศอาจตกต่ำเกินกว่าจะคงจำนวนประชากรให้ยั่งยืนภายในสิ้นศตวรรษนี้

ผลการศึกษาจากสถาบันเมตริกและการประเมินผลสุขภาพ (Health Metrics and Evaluation (IHME)) ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันที่เผยแพร่โดยแลนแซตเมื่อวันจันทร์ (18 มี.ค.) ระบุว่า ประชากรใน 198 ประเทศ จาก 204 ประเทศจะลดลง และเด็กเกิดใหม่ส่วนใหญ่จะเกิดในประเทศยากจน 

โดยคาดว่าเด็กเกิดใหม่ภายในปี 2100 ทุก ๆ 2 คน มีเด็กจากภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา 1 คน และมีเพียงโซมาเลีย, ตองกา, ไนเจอร์, ชาด, ซามัว และทาจิกิสถานเท่านั้น ที่สามารถคงจำนวนประชากรได้อย่างยั่งยืน

นาตาเลีย วี ภัทตะชาจี ผู้ร่วมเขียนรายงาน และหัวหน้านักวิทยาศาสตร์การวิจัยจาก IHME ระบุว่า การรับมือกับความท้าทายด้านการย้ายถิ่นฐานและเครือข่ายความช่วยเหลือแรงงานจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เมื่อเกิดการแข่งขันของผู้ย้ายถิ่นฐานอย่างดุเดือดเพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่ภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮาราจะอยู่ในภาวะ “เบบี้บูม” หรือมีเด็กเกิดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วต่อไป

การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ดังกล่าวจะทำให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “เบบี้บูม” และ “เบบี้บัสต์” หรือภาวะขาดแคลนเด็กเกิดใหม่ โดยประเทศมั่งคั่งจะประสบปัญหารักษาการเติบโตของเศรษฐกิจ และประเทศยากจนจะประสบกับความท้าทายในการสนับสนุนประชากรที่เพิ่มขึ้น

ออสติน อี ชูมัคเกอร์ ผู้เขียนรายงานร่วม และรักษาการณ์ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก IHME บอกว่า ความท้าท้ายครั้งใหญ่สำหรับหลายประเทศในแอฟริกใต้ซาฮาราคือ การจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับการเติบโตของประชากรที่มากขึ้น หรือความเสี่ยงด้านวิกฤติมนุษยธรรม

นอกจากนี้ ออสตินย้ำว่า

“การเปลี่ยนแปลงของจำนวนเด็กใหม่ ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการให้ความสำคัญกับความพยายามลดผลกระทบด้านสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสุชภาพ และการลดอัตราการเสียชีวิตของเด็ก ควบคู่ไปกับการขจัดความยากจน และการให้คำมั่นว่าสิทธิการมีบุตรของสตรี รวมถึงการวางแผนและให้การศึกษาแก่เด็กผู้หญิงนั้นมีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ในทุกรัฐบาล”

ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวมาจากการทำสำรวจ รวบรวมข้อมูลสำมะโนประชากร และข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ โดยรวบรวมข้อมูลในช่วงปี 1950-2021 ซึ่งการศึกษาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาภาระโรค การบาดเจ็บ และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆในระดับโลก ซึ่งเป็นความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 8,000 คน จากมากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก

อ้างอิง: Al Jazeera