ถึงคราว 'เซินเจิ้น' เลื่อนไถ่ถอนพันธบัตร วิกฤติอสังหาฯ ลามหนี้ท้องถิ่นจีน

ถึงคราว 'เซินเจิ้น' เลื่อนไถ่ถอนพันธบัตร วิกฤติอสังหาฯ ลามหนี้ท้องถิ่นจีน

เมือง 'เซินเจิ้น' เลื่อนการไถ่ถอนพันธบัตรโครงสร้างพื้นฐานก่อนกำหนด จับตาวิกฤติอสังหาฯ เริ่มกระทบถึงตลาดตราสารหนี้ท้องถิ่นจีน

KEY

POINTS

  • ทางการ 'เซินเจิ้น' ไม่ใช้สิทธิไถ่ถอนพันธบัตรโครงสร้างพื้นฐานก่อนกำหนดเหมือนที่เคยทำมา ทำให้ถูกหลายฝ่ายจับตาว่า การที่ท้องถิ่นยอมแบกต้นทุนดอกเบี้ยต่ออาจมีสัญญาณ "ปัญหาบางอย่าง" 
  • ยิ่งเซินเจิ้นถือเป็น 1 ใน 4 มหานครของจีนระดับ Tier 1 ที่ร่ำรวย ก็ยิ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์จีน อาจกระทบถึงตลาดตราสารหนี้เทศบาล (Municipal bonds) แล้ว
  • ในปี 2567 จีนเตรียมออกพันธบัตรโครงสร้างพื้นฐานอีก 3.9 ล้านล้านหยวน ท่ามกลางยอดคงค้างปัจจุบันที่ราว 25.3 ล้านล้านหยวน

 

เมือง 'เซินเจิ้น' เลื่อนการไถ่ถอนพันธบัตรโครงสร้างพื้นฐานก่อนกำหนด จับตาวิกฤติอสังหาฯ เริ่มกระทบถึงตลาดตราสารหนี้ท้องถิ่นจีน

เว็บไซต์นิกเกอิเอเชียรายงานว่า เริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ว่าภาวะถดถอยของตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน กำลังส่งผลกระทบไปถึงตลาด "พันธบัตรเทศบาล" (municipal bond) ของจีนแล้ว โดยเฉพาะพันธบัตรโครงสร้างพื้นฐานที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ (special-purpose infrastructure bonds)

ปัจจุบัน มูลค่าคงค้างของพันธบัตรดังกล่าวพุ่งไปแตะระดับ 25.3 ล้านล้านหยวน (ราว 128 ล้านล้านบาท) ซึ่งเกือบจะเทียบเท่ากับพันธบัตรรัฐบาลจีนในแง่ของขนาดไปแล้ว

รายงานระบุว่าเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ก่อนเปิดการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ได้เกิดความตื่นตระหนกขึ้นในตลาดพันธบัตรเทศบาลเมื่อเมือง "เซินเจิ้น" ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญทางตอนใต้ของจีน ประกาศว่าจะเลื่อนการใช้สิทธิไถ่ถอนพันธบัตรก่อนกำหนด 200 ล้านหยวน (ราว 1,012 ล้านบาท) ในพันธบัตรโครงสร้างพื้นฐานที่ออกเมื่อปี 2562

พันธบัตรที่ว่านี้มีอายุ 7 ปี และให้สิทธิเมืองเซินเจิ้นไถ่ถอนก่อนกำหนดได้ตั้งแต่ปี 2567 ซึ่งโดยปกติแล้วทางการท้องถิ่นของจีนก็มักจะใช้สิทธินี้มาตลอด แต่เมื่อเกิดการเลื่อนใช้สิทธิอย่างไม่คาดคิด โดยเฉพาะกับเมืองเศรษฐกิจอย่าง "เซินเจิ้น" ที่เป็น 1 ใน 4 เมืองระดับ Tier 1 ในจีนและขึ้นชื่อเรื่องความมั่งคั่ง จึงกระตุ้นให้เกิดความกังวลขึ้นในตลาด และดันให้บอนด์ยีลด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 2%   

ทางการเซินเจิ้นไม่ได้ให้เหตุผลเอาไว้ แต่รายงานของนิกเกอิเอเชียระบุว่า "ภาวะซบเซาของตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน" อาจเป็นเหตุผลสำคัญของเรื่องนี้ 

พันธบัตรดังกล่าวเป็นของโครงการฟื้นฟูอสังหาฯ ในย่านหยานเถียน ทางตะวันออกของมณฑลกว่างตง โดยจะเปลี่ยนโฉมจากย่านแออัดที่พักของแรงงานต่างจังหวัดในจีน ไปเป็นย่านคอนโดมิเนียมหรูแทน ซึ่งทางการได้เลือกบริษัท "ไคซา กรุ๊ป" (Kaisa Group) ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการ แต่บริษัทนี้กลับเกิดปัญหาสภาพคล่องจากผลกระทบยอดขายอสังหาฯ ที่ซบเซาลง จนถูกฟิทช์ เรตติ้ง ประกาศผิดนัดชำระหนี้บางส่วนไปเมื่อปี 2564 

โดยปกติแล้วโปรเจกต์ในโครงการพันธบัตรพิเศษเหล่านี้จะสร้างรายได้ครอบคลุมมากพอที่จะชำระคืนดอกเบี้ยและเงินต้นได้ แต่เมื่อทิศทางโครงการเริ่มมีเค้าลางความไม่แน่นอนมากขึ้น เนื่องจากการดำเนินงานที่หยุดชะงักงันของไคซา กรุ๊ป การสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการไถ่ถอนพันธบัตรเหล่านี้ 

ในปี 2567 จีนยังคงมีแผนจะออกพันธบัตรดังกล่าวอย่างต่อเนื่องอีก 3.9 ล้านล้านหยวน หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 1 แสนล้านหยวน และจากข้อมูลของวินด์ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยในจีนพบว่า ณ วันศุกร์ที่ 8 มี.ค. ยอดคงค้างพันธบัตรโครงสร้างพื้นฐานในจีนอยู่ที่ราว 25.3 ล้านล้านหยวน ซึ่งสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับพันธบัตรเทศบาลที่ 16 ล้านล้านหยวน และเกือบเทียบเคียงกับพันธบัตรรัฐบาลจีนที่ 30 ล้านล้านหยวน 

เกือบ 50% ของเงินที่ระดมทุนได้จากพันธบัตรโครงสร้างพื้นฐานมักถูกใช้ไปกับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม เช่น เขตพัฒนาเศรษฐกิจ และตามมาด้วยการสร้างถนน แต่ก็เริ่มกระจายไปยังด้านอื่นๆ มากขึ้นด้วย เช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับความริเริ่มแถบและถนน (BRI) โครงการด้านวัฒนธรรม การเดินทาง และพลังงานใหม่ 

ที่สำคัญก็คือ พันธบัตรโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ไม่ถูกจัดรวมอยู่ในการคำนวณงบประมาณขาดดุลของจีน เพราะถือว่าโครงการที่ลงทุนจะสร้างรายได้ที่ครอบคลุมการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแล้ว ดังนั้นจึงไม่ส่งผลกระทบต่อการตั้งงบประมาณขาดดุลของจีนซึ่งอยู่แค่ระดับ 3% ของจีดีพี หรือคาดว่าอยู่ที่ราว 4.06 ล้านล้านหยวนในปีนี้