ธุรกิจสีเขียวเอเชียมาแรง แต่ยังขาดแคลนทุนสนับสนุน

ธุรกิจสีเขียวเอเชียมาแรง แต่ยังขาดแคลนทุนสนับสนุน

:ยอดขายอีวีในเอเชีย รวมทั้งอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ไทย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสจำหน่ายอีวีได้มากถึง 80,000-100,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2578

การนำยานยนต์สีเขียวมาใช้ในภาคขนส่งสาธารณะ และการผลักดันพลังงานหมุนเวียน สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ แต่เทคโนโลยีสีเขียวที่จะทำให้เอเชียเปลี่ยนผ่านไปสู่คาร์บอนต่ำในอนาคตนั้น ยังประสบปัญหาด้านข้อจำกัดทางการเงินอยู่

เล ถิ ทู ถวีประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) วินฟาสต์ เผยผ่านการประชุมสุดยอดเทคโนโลยีสีเขียวเอเชีย ที่จัดขึ้นโดยนิกเคอิเอเชียและไฟแนนเชียลไทม์ส เมื่อวันพฤหัสบดี (7 มี.ค.) ว่าระบบขนส่งสาธารณะพลังงานไฟฟ้าและการเข้าถึงขนส่งดังกล่าวได้ง่าย เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เมืองเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นสีเขียวมากขึ้น

นอกจากวินฟาสต์ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ส่วนบุคคลแล้ว บริษัทยังได้สร้างและบริหารจัดการรถบัสไฟฟ้าอีกหลายร้อยคันในระบบขนส่งสาธารณะของเวียดนาม ทั้งยังจำหน่ายสกู๊ดเตอร์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฟฟ้าหลายหมื่นคันให้กับกลุ่มบริการเรียกรถในท้องถิ่นด้วย

ซีอีโอวินฟาสต์ระบุ"ภารกิจของเราคือ การทำให้อีวีเข้าถึงทุกคนได้ง่าย และขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าเพื่ออนาคตที่สีเขียวยิ่งกว่า”
 

วินฟาสต์ได้เริ่มผลิตรถยนต์อีวีในปี 2564 และวางแผนขยายธุรกิจไปทั่วโลก ล่าสุดบริษัทได้เข้าสู่ตลาดอินโดนีเซียเป็นที่เรียบร้อย และวางแผนสร้างโรงงานผลิตภายในปี 2569 ส่วนตลาดอื่น ๆ ที่บริษัทเตรียมขยายธุรกิจมีทั้งฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย และอินเดียโดยวินฟาสต์ตั้งเป้าขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศให้ได้ 50 แห่งภายในสิ้นปีนี้

“อีวีคืออนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” ถวี กล่าว

ทั้งนี้ งานประชุมสุดยอดดังกล่าวได้รวบรวมนักลงทุนและผู้นำธุรกิจในภูมิภาคมาหารือเกี่ยวกับการปรับใช้เทคโนโลยีในกว้าง เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกคาร์บอนเป็นศูนย์ของเอเชีย

ตลาดอีวีเอเชียโตแกร่ง

นิกเคอิเอเชีย รายงานว่า ขณะที่ตลาดอีวีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงอยู่ในช่วงพัฒนา เนื่องจากมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าน้อยกว่า 2% ของยอดขายอีวีทั่วโลก แต่ยอดจำหน่ายอีวีในภูมิภาคเติบโตอย่างรวดเร็ว และการแข่งขันก็ดุเดือดมาก เพราะมีผู้เล่นรายเล็กเข้ามาแข่งขันกับบริษัทอีวีรายใหญ่อย่างบีวายดีของจีน และเทสลาของอีลอน มัสก์มากขึ้น

ตามข้อมูลของอีวาย บริษัทที่ปรึกษาและตรวจสอบบัญชีระดับโลก ระบุว่ายอดขายอีวีในอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ไทย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสจำหน่ายได้มากถึง 80,000-100,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2578 จากระดับ 2,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2564

อิซาโอะ เซกิกูชิ ประธานบริหารนิสสัน มอเตอร์ อาเซียน เผย“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอีวีในตลาดเกิดใหม่อย่างประเทศไทย, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก รัฐบาลในประเทศเหล่านี้ต่างผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วยการให้เงินอุดหนุน เพื่อให้อีวีราคาถูกลงไปอีก”

ปัญหาใหญ่ ‘ขาดแคลนทุน’

ขณะที่ผู้ร่วมประชุมสุดยอดคนอื่น ๆ บอกว่า แม้ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ลงทุนเกี่ยวกับการลดการปล่อยคาร์บอน แต่ผู้เล่นด้านเทคโนโลยีสีเขียวหน้าใหม่ยังคงประสบกับการระดมทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูงในปัจจุบันส่งผลให้นักลงทุนระมัดระวังในการใช้จ่ายเงิน

ซวิตชี ชองผู้อำนวยการดีคาร์บอไนเซชัน พาร์ตเนอร์สย้ำว่า ผู้สนับสนุนเทคโนโลยีสีเขียวเลือกลงทุนอย่างระมัดระวังมากขึ้น จนทำให้บางบริษัทกลับไปพึ่งพาเงินทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อให้บริษัทบรรลุเป้าหมายท่ามกลางภาวะเงินทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด

“เงินทุนทุก ๆ 1 ดอลลาร์ จะมีความต้องการอยู่ที่ 3 ดอลลาร์ ขณะนี้ความสนใจในเทคโนฯด้านสภาพอากาศยังมีอยู่มาก แต่เงินทุนอยู่ในภาวะขาดแคลน นักลงทุนจึงระวัดระวังมากขึ้น และมองหาธุรกิจที่มีความมั่นคง” ชอง กล่าว

อเล็กซานดรา เทรซี ประธานฮอยปิงเวนเจอร์ บริษัทที่ปรึกษาเกี่ยวกับการเงินสีเขียว บอกว่า ท่ามกลางภาวะที่นักลงทุนใช้เงินอย่างระมัดระวัง สถาบันการเงินดั้งเดิมจึงเหมือนเป็นผู้เข้ามากอบกู้สถานการณ์นี้

“ในตลาดส่วนใหญ่ที่เรากำลังจับตาดู การจัดหาเงินทุนจำนวนมากมาจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ ไม่ได้มาจากตลาดทุน” เทรซี กล่าว

ไฮโดรเจนเริ่มมีบทบาท

แม้หลายบริษัทเผชิญกับภาวะเงินทุนที่มีจำกัด แต่ผู้เข้าร่วมประชุมหลายคนยังคงมองเห็นโอกาสว่าเทคโนโลยีสีเขียวใหม่ ๆ นั้น คุ้มค่าต่อการต่อสู้กับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และหนึ่งในเทคโนฯสีเขียวที่สำคัญคือ “พลังงานไฮโดรเจน” ที่ผลิตได้จากแหล่งทรัพยากรหมุนเวียน

ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน หลายประเทศและหลายธุรกิจต่างพยายามคว้าโอกาสจากพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพอย่าง “ไฮโดรเจน” และญี่ปุ่นก็เป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มแรก ๆ ที่จัดทำยุทธศาสตร์ไฮโดรเจน

อากิระ ยาบูโมโตะ เจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาอาวุโส จาก เจ-พาวเวอร์ บริษัทพัฒนาพลังงานไฟฟ้ายักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น บอกว่า ไฮโดรเจนมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานผลิตไฟฟ้าของบริษัท และตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 46% ภายในปี 2573 จากระดับในปี 2556

แม้การเปลี่ยนผ่านพลังงานมีอุปสรรคด้านเงินทุน แต่ผู้เข้าร่วมงานประชุมสุดยอดในปีนี้ยังคงมองในแง่ดีเกี่ยวกับศักยภาพของเทคโนโลยีสีเขียวที่สามารถช่วยเอเชียลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้

ทริชนา นากรานี ผู้บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจของไคล์มเวิร์กส์ บริษัทให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการลดคาร์บอนไดอกไซด์ในอากาศ เชื่อว่าการประหยัดต่อขนาด (economies of scale) หรือการได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต จะสามารถช่วยธุรกิจลดต้นทุนการผลิตนวัตกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้น