'เลิกจ้าง' เดือน ก.พ. ปีนี้ เข้าขั้นวิกฤติ สถิติชี้สูงสุดในรอบกว่า 10 ปี

'เลิกจ้าง' เดือน ก.พ. ปีนี้ เข้าขั้นวิกฤติ สถิติชี้สูงสุดในรอบกว่า 10 ปี

ผลสำรวจชี้การเลิกจ้างในสหรัฐเดือน ก.พ. 67 เพียงเดือนเดียวพุ่งเกือบ 85,000 อัตรา ทำสถิติเป็นเดือนกุมภาพันธ์ที่มีการเลิกจ้างมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552

ข้อมูลจากบริษัทชาลเลนเจอร์ เกรย์ แอนด์ คริสต์มาส ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านแรงงานของสหรัฐเปิดเผยว่า การเลิกจ้างในเดือน ก.พ. 2567 พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. ของปีอื่น ๆ นับตั้งแต่ที่เกิดวิกฤติทางการเงินโลก

เดือนก.พ. 2567 มีการเลิกจ้างรวม 84,638 อัตรา เพิ่มขึ้น 3% จากเดือนม.ค. 2567 และเพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.ของปีที่แล้ว นำโดยบริษัทเทคโนโลยีและการเงิน

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เมื่อพิจารณาจากตัวเลขในอดีต จำนวนการเลิกจ้างดังกล่าวนับว่าย่ำแย่ที่สุดเมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. ด้วยกันนับตั้งแต่ปี 2552 หรือปี ค.ศ. 2009 หลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ (วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์) ซึ่งขณะนั้นมีการประกาศปลดพนักงานรวมกัน 186,350 อัตรา 

ส่วนปีนี้บริษัทต่าง ๆ มีการปรับลดตำแหน่งงานรวม 166,945 อัตราแล้ว ลดลง 7.6% เมื่อเทียบรายปี

"ยิ่งเราสำรวจในช่วงเริ่มต้นปี 2567 เรายิ่งพบการเลิกจ้างอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจต่างๆ เดินหน้าปรับลดต้นทุนอย่างจริงจังและอ้าแขนต้อนรับนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่พลิกโฉมความต้องการด้านพนักงานเป็นอย่างมาก" แอนดรูว์ ชาลเลนเจอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากชาลเลนเจอร์ เกรย์ แอนด์ คริสต์มาส กล่าว

ท่ามกลางการเลิกจ้างจำนวนมากที่เกิดขึ้นหลายระลอก "ภาคเทคโนโลยี" เป็นอุตสาหกรรมที่มีการเลิกจ้างมากที่สุดในปีนี้ ด้วยการปลดพนักงานลง 28,218 อัตรา แม้จำนวนดังกล่าวจะลดลง 55% เมื่อเทียบรายปีก็ตาม ขณะที่การเลิกจ้างในหมู่กลุ่ม "บริษัทการเงิน" ปรับตัวขึ้น 56% เมื่อเทียบกับช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566

ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีแผนปรับลดตำแหน่งงานเป็นจำนวนมากประกอบด้วย อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งเพิ่มขึ้น 1,754% เมื่อเทียบรายปี อุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งเพิ่มขึ้น 1,059% และอุตสาหกรรมการศึกษา ซึ่งเพิ่มขึ้น 944%

อย่างไรก็ตาม จำนวนการเลิกจ้างดังกล่าวไม่ได้ส่งผลให้การยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่าการว่างงานเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ และพนักงานสามารถหางานใหม่ได้

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกอยู่ที่ระดับ 217,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยการเปิดเผยข้อมูลก่อนหน้านี้บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐชะลอตัวลง แต่ก็ยังคงแข็งแกร่ง นักลงทุนจะรอดูการเปิดเผยข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.พ.ของสหรัฐในวันนี้ เพื่อบ่งชี้รายละเอียดเกี่ยวกับภาวะตลาดแรงงาน

อ้างอิง: CNBC