กูรูอาเซียนมอง 'รัฐบาลพลเรือนไทย' มีศักยภาพฟื้น 'บทบาทนำภูมิภาค'

กูรูอาเซียนมอง 'รัฐบาลพลเรือนไทย' มีศักยภาพฟื้น 'บทบาทนำภูมิภาค'

คณะนักวิชาการอาเซียน - ออสเตรเลีย เปิดตัวรายงาน “ความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์: อาเซียน - ออสเตรเลีย หลัง 50 ปีแรก” กูรูชี้รัฐบาลประชาธิปไตยเปิดโอกาสไทยแสดงบทบาทสร้างสรรค์ในประเด็นปัญหาสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

KEY

POINTS

  • คณะนักวิชาการด้านอาเซียนจากออสเตรเลีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และกัมพูชา ร่วมกันเปิดตัวรายงาน “ความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์: อาเซียน-ออสเตรเลีย หลัง 50 ปีแรก”
  • ตอนที่ออสเตรเลียเริ่มเข้ามาเป็นคู่เจรจาของอาเซียนประเทศแรก อาเซียนมีจีดีพีรวมกันราว 50,000 ล้านดอลลาร์ แต่ปัจจุบันจีดีพีรวมอาเซียนกำลังเข้าใกล้หลัก 4 ล้านล้านดอลลาร์ ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง
  • ไทยกับออสเตรเลียควรรู้จักกันให้มากขึ้นภายใต้วาระของรัฐบาลไทยชุดใหม่ และไทยที่ต้องเพิ่มบทบาทการเป็นผู้นำในภูมิภาค 

คณะนักวิชาการอาเซียน - ออสเตรเลีย เปิดตัวรายงาน “ความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์: อาเซียน - ออสเตรเลีย หลัง 50 ปีแรก” กูรูชี้รัฐบาลประชาธิปไตยเปิดโอกาสไทยแสดงบทบาทสร้างสรรค์ในประเด็นปัญหาสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การประชุมผู้นำอาเซียน - ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ ได้เปิดฉากขึ้นแล้วที่นครเมลเบิร์น ระหว่างวันที่ 4 - 6 มี.ค.67 คณะนักวิชาการด้านอาเซียนจากออสเตรเลีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และกัมพูชา นำโดยนิโคลัส เฟอร์เรลลี จากมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย ร่วมกันเปิดตัวรายงาน “ความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์: อาเซียน - ออสเตรเลีย หลัง 50 ปีแรก” (Comprehensive Strategic Partners: ASEAN and Australia after the first 50 years 2024)

เฟอร์เรลลีให้สัมภาษณ์พิเศษ กรุงเทพธุรกิจถึงภาพรวมว่า รายงานฉบับนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึง ความสัมพันธ์ทางการทูตที่ใกล้ชิดระหว่างอาเซียน กับออสเตรเลีย พร้อมแนะนำขั้นตอนการปฏิบัติที่ต้องทำต่อไปเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เนื่องจากภูมิภาคเอเชียตะวันอออกเฉียงใต้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ออสเตรเลียก็อยากตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งยังมีเรื่องให้ต้องทำอีกมาก

“จุดเน้นของรายงานอยู่ที่ผู้นำหนุ่มสาวหน้าใหม่ เนื่องจากคนหนุ่มสาวมากมายทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลียต้องการโอกาสทำงานร่วมกัน จึงควรมีการลงทุนเพิ่มในระดับผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อเปิดโอกาสดึงคนเข้ามาทำงานร่วมกัน”

 

รายงานจึงเสนอแนะให้ตั้งศูนย์อาเซียน - ออสเตรเลีย เหมือนอย่างที่ประเทศคู่เจรจารายอื่นๆ ของอาเซียนทำ เพื่อนำคน และสถาบันที่สนใจอนาคตความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายมาไว้ด้วยกัน

เฟอร์เรลลี ย้ำว่า คนหนุ่มสาวออสเตรเลียตื่นเต้นมากที่จะได้ทำงานร่วมกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายคนเรียน และทำงานในภูมิภาคนี้ แม้ความเป็นพันธมิตรกับอาเซียนเป็นข้อเท็จจริงที่ออสเตรเลียภาคภูมิใจ แต่ก็อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ทำอะไรมากกว่านี้

“พวกเขามีแนวคิด และมุมมองใหม่ๆ และตื่นเต้นที่จะได้กำหนดวาระของตนเองว่าอาเซียนกับออสเตรเลียควรทำอะไรร่วมกัน”

ในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจ หัวหน้าคณะนักวิชาการเผยว่า พลวัตทางเศรษฐกิจของอาเซียนน่าอัศจรรย์ใจมาก กล่าวคือใน พ.ศ.2517 ตอนที่ออสเตรเลียเริ่มเข้ามาเป็นคู่เจรจาของอาเซียนประเทศแรก อาเซียนมีจีดีพีรวมกันราว 50,000 ล้านดอลลาร์ แต่ปัจจุบันจีดีพีรวมอาเซียนกำลังเข้าใกล้หลัก 4 ล้านล้านดอลลาร์ ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง

“ผมคิดว่าสำหรับคนอ่านกรุงเทพธุรกิจ พวกเขาอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงนี้ทั้งในประเทศไทย และในภูมิภาค ในออสเตรเลียก็เช่นกัน เรามองความสำเร็จของอาเซียนสำคัญมากสำหรับออสเตรเลีย ความสำเร็จของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ย่อมหมายความถึงความปลอดภัย และมั่งคั่งของออสเตรเลียด้วยเช่นกัน และถ้าเราคิดถึงวิกฤติในอนาคตที่จัดการไม่ดีพอจะส่งผลต่อออสเตรเลีย ดังนั้นจะเป็นการดีกับเราถ้าทำงานใกล้ชิดกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะคู่ค้า ทั้งยังเป็นเพื่อนสนิทในทางการเมือง และความมั่นคง เพราะในโลกที่ซับซ้อนนี้ทุกสิ่งทุกอย่างประเดประดังมาพร้อมกัน”

สำหรับประเทศไทย ที่เพิ่งเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่มีรัฐบาลพลเรือนมาจากการเลือกตั้งในรอบ 10 ปี กูรูรายนี้มองถึงพลวัตของประเทศไทยในแง่ที่ ชาวออสเตรเลียจำนวนมากได้ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ในไทยแล้วตระหนักดีว่าการเมืองไทยช่วงหลังมีความท้าทาย

“เรามองไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะให้โอกาสอะไรได้บ้าง แน่นอนว่ากิจการภายในของไทยเป็นเรื่องซับซ้อน ตอนนี้ไทยกับออสเตรเลียควรรู้จักกันให้มากขึ้นภายใต้วาระของรัฐบาลไทยชุดใหม่ และไทยที่ต้องเพิ่มบทบาทการเป็นผู้นำในภูมิภาค ความท้าทายอันหนึ่งคือ ช่วงเวลาที่ไทยมีรัฐบาลนำโดยทหารได้ทำลายบทบาทสร้างสรรค์ของไทยในภูมิภาค เมื่อได้รัฐบาลประชาธิปไตยมาแล้วย่อมเป็นโอกาสของไทยที่จะแสดงบทบาทอันสร้างสรรค์นั้นในประเด็นเมียนมา ทะเลจีนใต้ และประเด็นสำคัญอื่นๆ”

ในด้านเศรษฐกิจของไทย เฟอร์เรลลี แนะนำว่า การทำงานร่วมกันระหว่างไทยกับออสเตรเลียในอนาคตหลังจากผ่าน 50 ปีแรกถือเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ ไทยกับออสเตรเลียมีข้อตกลงการค้าเสรีตั้งแต่ช่วงรัฐบาลนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร นับถึงวันนี้ก็เกือบ 20 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ที่มอบเครื่องมือให้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด

“สิ่งที่ผมคิดว่ายังไม่มีคือ ความรู้สึกที่ว่า ไทยกับออสเตรเลียจะใช้จุดแข็งเสริมแกร่งให้กันได้อย่างไร รัฐบาลออสเตรเลียกำลังผลักดันให้ภาคธุรกิจเข้าไปลงทุนในอาเซียนให้มากยิ่งขึ้น ในมุมมองของผม นี่คือ โอกาสที่ดีที่สุดอันหนึ่งสำหรับเราที่จะคิดเรื่องการลงทุนในไทยให้มากขึ้น”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์