ภูมิรัฐศาสตร์ใกล้ไทย สงครามกลางเมือง ‘เมียนมา’

ภูมิรัฐศาสตร์ใกล้ไทย สงครามกลางเมือง ‘เมียนมา’

ผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามในเมียนมา ต่างหาทางออกจากประเทศ โดยไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายในการอพยพ ทำให้รัฐบาลต้องมีแผนรับมือทั้งด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ

การรัฐประหารในเมียนมาครบรอง 3 ปี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2567 หลังจากที่ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน พ.ย.2563 ปรากฎว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ พรรคเอ็นแอลดี ชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากถึง 396 เสียง จากเสียงในสภาทั้งหมด 476 เสียง และชนะพรรคพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือ พรรคยูเอสดีพี อย่างถล่มทลาย สร้างความกังวลให้กับกองทัพเมียนมาและเป็นแรงกดดันสำคัญที่ทำให้กองทันออกมาทำการรัฐประหาร

ภายหลังการรัฐประหารได้มีการเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร โดยสถานการณ์ลากยาวมาถึง 3 ปี และมีการต่อต้านรัฐบาลทหารจากกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น ในขณะที่บางรัฐที่มีเข้มแข็งมีความพร้อมที่จะประกาศเป็นรัฐอิสระ และทำให้รัฐบาลทหารต้องประกาศกฎหมายรับราชการทหาร สำหรับประชาชนผู้ชายที่อายุตั้งแต่ 18-35 ปี และผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 18-27 ปี เป็นเวลา 2 ปี หลังจากที่กองทัพเมียนมามีปัญหากำลังพลไม่เพียงพอ รวมถึงปัญหากำลังพลหนีทัพ

สถานการณ์ความขัดแย้งภายในประเทศที่ลากยาวมา 3 ปี และเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมือง ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเมียนมาอย่างมาก ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเมียนมาพยายามออกมาตรการหรือเพิ่มแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นผล เพราะมีความเสี่ยงของการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ภาวะเช่นนี้ทำให้ธุรกิจต่างชาติในเมียนมาชะลอแผนการลงทุน รวมถึงนักธุรกิจต่างชาติบางส่วนขายธุรกิจทิ้งไป

ฝ่ายความมั่นคงของไทยได้มีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องมีการติดตามผลกระทบเพื่อประเมินระบบการชำระเงินของเมียนมาที่จะส่งผลกระทบต่อไทย สถานการณ์ดังกล่าวจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องเตรียมการรับมือในกรณีที่เหตุการณ์ในเมียนมาเลวร้ายขึ้น โดยเฉพาะการที่กองทัพเมียนมาเสียพื้นที่การปกครองเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่ากองทัพเมียนมาจะมีความพร้อมมากกว่ากองทัพกลุ่มชาติพันธุ์

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคงใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่าที่เมียนมาจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ รวมถึงคาดเดาได้ยากว่าจะจบลงในรูปแบบใด โดยสถานการณ์ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณถึงเดินทางออกนอกประเทศของกลุ่มระดับบนที่มีความพร้อมในหาอยู่อาศัยในต่างประเทศ และไทยถือเป็นตัวเลือก ในขณะที่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามที่รุนแรงขึ้น อาจมีการอพยพออกนอกประเทศ และไทยเป็นประเทศเป้าหมาย ทำให้รัฐบาลต้องมีแผนรับมือทั้งด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ