สภาท้องถิ่นอังกฤษกว่าครึ่งประเทศ เสี่ยงล้มละลายภายใน 2-3 ปี

สภาท้องถิ่นอังกฤษกว่าครึ่งประเทศ เสี่ยงล้มละลายภายใน 2-3 ปี

ผลสำรวจเผยสภาท้องถิ่นมากกว่าครึ่งทั่วอังกฤษเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ "ล้มละลาย" ตามรอยรุ่นพี่เมือง "เบอร์มิงแฮม" ที่เป็นข่าวช็อกโลกไปเมื่อปีก่อน ส่งผลรัฐบาลท้องถิ่นรัดเข็มขัดคุมรายจ่ายเข้ม งบสันทนาการ-ศิลปวัฒนธรรมไปก่อน

ผลสำรวจของหน่วยงานข้อมูลรัฐบาลท้องถิ่นในสหราชอาณาจักร (LGIU) พบว่า เกือบ 1 ใน 10 ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสภาเมืองต่างๆ ทั่วประเทศยอมรับว่า มีแนวโน้มที่สภาเมืองของตนเองจะเข้าสู่ภาวะ "ล้มละลาย" ในปีงบประมาณหน้า ขณะที่ 51% คาดว่าอาจล้มละลายระหว่างช่วงเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาวาระหน้า 

ผลสำรวจประจำปีดังกล่าวที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ นับเป็นสัญญาณเตือนล่าสุดที่บ่งชี้ถึง "วิกฤตการณ์ทางการเงิน" ของสภาเมืองทั่วสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องจากปี 2566 ที่สภาเมืองหลายแห่ง เช่น นอตติงแฮม (Nottingham) เวิกกิ้ง (Woking) และโดยเฉพาะ เบอร์มิงแฮม (Birmingham) ซึ่งเป็นสภาเมืองใหญ่สุดอันดับ 2 ในอังกฤษ ต้องประกาศล้มละลายไปเมื่อปีที่ผ่านมา 

วิกฤตการณ์นี้ยังเกิดขึ้นในช่วงที่อังกฤษใกล้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปลายปี 2567 นี้ด้วย

บรรดาผู้นำการเมืองท้องถิ่นต่างกล่าวโทษว่าสถานการณ์มาถึงจุดนี้เพราะการตัดลดงบประมาณอย่างหนักหน่วงของรัฐบาลกลาง นับตั้งแต่พรรคอนุรักษ์นิยมเข้ามาเป็นรัฐบาลในปี 2010 แต่รัฐบาลกรุงลอนดอนโต้ว่าเป็นปัญหาจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาลท้องถิ่นเอง ที่ทำให้สภาท้องถิ่นล้มละลายถึง 3 แห่งในปีก่อน 

ผลสำรวจโดย LGIU พบว่าสภาเมืองท้องถิ่นเกือบ 1 ใน 3 มีแผนเตรียมตัดลดรายจ่ายในด้านการดูแลสวนสาธารณะและกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ลง ขณะที่ราว 1 ใน 3 จะลดงบประมาณด้านศิลปะและวัฒนธรรม และบางท้องที่จะลดงบในด้านสวัสดิการสังคมและผู้สูงวัย การศึกษาพิเศษ และสวัสดิการดูแลผู้พิการลง 

สภาท้องถิ่นอังกฤษกว่าครึ่งประเทศ เสี่ยงล้มละลายภายใน 2-3 ปี

"ผลสำรวจนี้เผยให้เห็นถึงความสิ้นหวังและหายนะทางการเงินที่เหล่าสภาเมืองกำลังเผชิญอยู่" โจนาธาน คาร์ เวสต์ ประธานบริหารของ LGIU กล่าว 

คาร์ เวสต์ กล่าวว่า การตัดลดงบประมาณด้านการบริการ การกู้ยืมเงิน และการต้องนำเงินสำรองมาใช้ปีแล้วปีเล่า เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืนอย่างสิ้นเชิง และไม่ว่าใครก็ตามที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาในปีหน้า จะต้องเข้ามาปฏิรูปทั้งระบบ

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่บรรดาสภาเมืองท้องถิ่นในอังกฤษระบุตรงกันว่า เป็นปัญหาที่ยากจะรับมือได้ก็คือ แรงกดดันด้านงบประมาณที่มาจาก "เงินเฟ้อ", ความต้องการสวัสดิการสังคม และการลดงบประมาณจากส่วนกลางที่มีมาตั้งแต่ปี 2010

เพื่อเอาตัวรอดจากภาวะล้มละลาย สภาเมืองหลายแห่งเลือกที่จะดิ้นหาเงินแบบพิเศษด้วยการ "ขายสินทรัพย์" เพื่ออุดรูรั่วในงบประมาณและหารายได้มาประทังค่าใช้จ่ายต่างๆ ในเมืองด้วย

เมื่อช่วงงต้นปี 2567 นี้ ไมเคิล โกฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเคหะและชุมชน ได้พยายามเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ด้วยการเพิ่มเงินให้รัฐบาลท้องถิ่นในปีงบประมาณ 2024/25 ทว่าก็ยังคงล้มเหลวไม่สามารถบรรเทาความกังวลให้รัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งหลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการปฏิรูปครั้งใหญ่แทนเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

LGIU ระบุว่า 97% ของสภาท้องถิ่นทั่วสหราชอาณาจักรต้องการให้รัฐบาลกลางจัดสรรงบประมาณสนุบสนุนแบบครั้งละหลายปี แทนที่จะเป็นการจัดสรรให้แบบปีต่อปีเหมือนในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่สภาเมืองหลายแห่งเห็นชอบ เช่น การเลิกใช้วิธีการแข่งประมูลเงินสนับสนุน และการให้สภาเมืองท้องถิ่นเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากภาษีทรัพย์สินทางธุรกิจไว้ในท้องที่เอง