'ปานปรีย์' ร่วมงาน OAV Stiftungsfest ตอกย้ำยุคใหม่ความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนี

'ปานปรีย์' ร่วมงาน OAV Stiftungsfest ตอกย้ำยุคใหม่ความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนี

รมว.ต่างประเทศกระชับสัมพันธ์เศรษฐกิจเมืองท่าใหญ่สุดอันดับ 2 ในเยอรมนีที่ 'เบรเมิน' ถกความร่วมมือ 3 ด้าน 'อีวี-พลังงาน, เอฟทีเอ, ทรัพยากรมนุษย์' ย้ำมิติใหม่ความสัมพันธ์สองประเทศ

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาในงาน OAV Stiftungsfest จัดโดยสมาคมเอเชียตะวันออกนครเบรเมิน (OAV Breman) ที่ศาลาว่าการเมืองเบรเมิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ซึ่งนายปานปรีย์ยังเป็นรัฐมนตรีจากไทยคนแรกในรอบกว่า 15 ปี ที่เข้าร่วมงานดังกล่าวว่า การแลกเปลี่ยนระดับสูงของผู้แทนรัฐบาลและภาคธุรกิจระหว่างไทยและเยอรมนีในปีนี้และกำลังจะมีตามมาอีกมาก ถือเป็นยุคใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเยอรมนี ซึ่งเสถียรภาพทางการเมืองทำให้ไทยพร้อมเปิดรับธุรกิจและการลงทุนโดยจะเน้นความร่วมมือกับเยอรมนี 3 ด้านหลัก ได้แก่

1. ความร่วมมือเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพื่อสานต่อคำกล่าวของประธานาธิบดีเยอรมนีในห้วงการเยือนไทยว่า เยอรมนีและไทยกำลังจะเข้าสู่ยุคใหม่ของความร่วมมือเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน 

ในด้านนี้ นายปานปรีย์ย้ำเป้าหมายของไทยที่จะเป็นผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของภูมิภาค จากฐานที่แข็งแกร่งของการเป็น 1 ใน 10 ประเทศผู้ผลิตรถยนต์ของโลก มีมาตรการสนันสนุนทั้งด้านภาษีและสิทธิประโยชน์อื่นๆ จากรัฐ และเป็นตลาดรถอีวีที่เติบโตสูงที่สุดในเอเชียรองจากจีน โดยปัจจุบันมีบริษัทรถยนต์อีวีในไทยแล้ว 16 ราย รวมถึงเมอร์เซเดสเบนซ์และบีเอ็มดับเบิลยู และไทยกำลังร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเยอรมนีเพื่อดึงดูดการลงทุนด้านอีวีให้มากขึ้นต่อไป

\'ปานปรีย์\' ร่วมงาน OAV Stiftungsfest ตอกย้ำยุคใหม่ความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนี

2. ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยมุ่งผลักดันการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (EFTA) ให้สำเร็จภายในปี 2568 ซึ่งจะยกระดับมาตรฐานทางการค้าและเกิดบรรยากาศสำหรับการลงทุนใหม่ๆ จากประเทศสมาชิกอียู ซึ่งเชื่อมั่นว่าการสนับสนุนจากเยอรมนีจะช่วยให้เอฟทีเอไทย-อียู บรรลุเป้าหมายได้ตามที่วางแผนเอาไว้ และไทยยังมีการปรับปรุงบรรยากาศด้านการลงทุน เช่น ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of doing business) และยังมีแผนที่จะยกระดับข้อเสนอจูงใจทั้งภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีสำหรับหลายอุตสาหกรรม เพื่อดึงดูดการลงทุนจากอียูและนำไปสู่การพัฒนาเรื่องกระบวนการขอ "วีซ่า" ต่อไป

3. ความร่วมมือเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยจะกระชับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับภาคธุรกิจเยอรมนีในประเทศไทย เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือทั้งด้านการศึกษาและด้านธุรกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองประเทศ

"นี่เป็นช่วงเวลาอันสมควรสำหรับการกระชับความร่วมมือของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยกลับมาสู่เส้นทางประชาธิปไตยในปัจจุบัน"

"นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีเศรษฐาเน้นย้ำอย่างต่อเนื่องว่า ขณะนี้ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับธุรกิจ และไม่มีเวลาใดที่จะดีไปกว่านี้อีกแล้วในการลงทุนในประเทศไทย"

ทั้งนี้ นายปานปรีย์ยังได้ถือโอกาสเชิญชวนนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการท่าเรือในเบรเมิน ซึ่งเป็นเมืองท่าใหญ่สุดอันดับ 2 ในเยอรมนีและเป็นหนึ่งในเมืองท่าใหญ่สุดในยุโรป ร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการ "แลนด์บริดจ์" ที่ประเทศไทยกำลังเร่งผลักดันอยู่ด้วย