‘เวียดนาม’ แห่เรียนนอกอันดับ 1 ในอาเซียน นำความรู้ใหม่กลับมาพัฒนาชาติ

‘เวียดนาม’ แห่เรียนนอกอันดับ 1 ในอาเซียน นำความรู้ใหม่กลับมาพัฒนาชาติ

“ชาวเวียดนาม” ติดอันดับศึกษาในต่างประเทศมากที่สุดในอาเซียน ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 4 สิ่งนี้จะเป็นตัวผลักดันให้เวียดนามขึ้นมาแซงไทยด้านเศรษฐกิจหรือไม่ จากการที่พวกเขานำความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาบ้านเมืองต่อ

KEY

POINTS

  • ในตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตเร็วมาก จะเห็นได้จากสัดส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงจากแต่เดิมที่ 13% ในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 42% ในปี 2563
  • ตัวเลขกระแสคนย้ายออกจากเวียดนามสุทธิลดลงจาก 162,571 คนในปี 2544 มาอยู่ที่ 4,378 คนในปี 2554 และหลังจากนั้น ตัวเลขก็แทบไม่เปลี่ยนแปลงเลยจนถึงปัจจุบัน
  • คนรุ่นใหม่เวียดนามแห่ไปเรียนในต่างประเทศมากเป็น “อันดับ 1” ในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 4

“ชาวเวียดนาม” ติดอันดับศึกษาในต่างประเทศมากที่สุดในอาเซียน ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 4 สิ่งนี้จะเป็นตัวผลักดันให้เวียดนามขึ้นมาแซงไทยด้านเศรษฐกิจหรือไม่ จากการที่พวกเขานำความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาบ้านเมืองต่อ

ในบรรดาเศรษฐกิจคู่แข่งของไทยที่น่าจับตามากที่สุดในเอเชีย ถ้าไม่นับญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ จีน ฯลฯ ที่วิ่งนำไปไกลแล้ว “เวียดนาม” ถือเป็นประเทศที่มีโอกาสแซงหน้าไทยไม่มากก็น้อย

แม้ว่าแต่ก่อน เวียดนามอาจถูกมองคล้ายกับ “เต่า” ที่เศรษฐกิจเติบโตเชื่องช้า เพราะพิษสงครามเวียดนาม แต่ปัจจุบันดูจะกลายร่างเป็น “เต่าบิน” เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน ตามข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยเมื่อปี 2566 อีกทั้งบริษัทข้ามชาติจำนวนมากก็แห่ไปตั้งฐานผลิตในเวียดนามด้วย

สิ่งที่น่าติดตามต่อจากนี้คือ การติดปีกด้านเศรษฐกิจของเวียดนาม เมื่อสำนักข่าว Nikkei รายงานว่า คนรุ่นใหม่เวียดนามแห่ไปเรียนในต่างประเทศมากเป็น “อันดับ 1” ในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 4 เมื่อเหล่าชาวเวียดนามเรียนจบ ก็นำองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ได้ กลับไปพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน

‘เวียดนาม’ แห่เรียนนอกอันดับ 1 ในอาเซียน นำความรู้ใหม่กลับมาพัฒนาชาติ - เวียดนามแห่เรียนต่างประเทศมากเป็น “อันดับ 1” ในอาเซียน ขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 4 (กราฟิก: จิรภิญญาน์ พิษถา) -

จั่น ตวน อันห์ (Tran Tuan Anh) หนึ่งในนักศึกษาเวียดนามที่กลับจากการศึกษาต่อในต่างประเทศ และได้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ Solano เกี่ยวกับแผงโซลาร์เซลล์ในเวียดนาม เล่าว่า ช่วงที่ศึกษาด้านวิศวกรรมที่มหาวิทยาลัย Oxford ในสหราชอาณาจักร มีการสอบเลือกสินทรัพย์ในการลงทุน เขาตัดสินใจเลือก “ทองคำ” ขณะที่เพื่อนต่างชาติเลือกอสังหาริมทรัพย์และหุ้นแทน

ผลปรากฏว่า สินทรัพย์ที่เขาเลือก สร้างผลตอบแทนได้น้อยจนทำให้เขาได้ตำแหน่งรองอันดับท้ายของการทดสอบนี้ จึงกลายเป็นการเปิดมุมมองว่า โลกอาจไม่ได้คิดเหมือนเวียดนาม ที่นิยมเก็บความมั่งคั่งในรูปทองคำแบบเดิมอีกต่อไป

“การศึกษาที่อังกฤษ ได้ปลูกฝังการทำงานอย่างมีเป้าหมาย มากกว่าเพียงการหาเงิน” ตวน อันห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของสตาร์ทอัพ Solano กล่าว

  • เวียดนาม เกิดภาวะสมองไหลน้อยลง

ในตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตเร็วมาก จะเห็นได้จากสัดส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงจากแต่เดิมที่ 13% ในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 42% ในปี 2563

ความก้าวหน้าเช่นนี้ จึงดึงดูดชาวเวียดนามในต่างแดนให้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด โดยจากข้อมูลธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ระบุว่า ตัวเลขกระแสคนย้ายออกจากเวียดนามสุทธิลดลงจาก 162,571 คนในปี 2544 มาอยู่ที่ 4,378 คนในปี 2554 และหลังจากนั้น ตัวเลขก็แทบไม่เปลี่ยนแปลงเลยจนถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน เวียดนามยังติด 10 อันดับแรกของประเทศบ้านเกิดนักศึกษาต่างประเทศในสหรัฐมาเป็นเวลานานกว่าทศวรรษ โดยติดอันดับที่ 5 ในปี 2565 ตามข้อมูลทางการของรัฐบาลอเมริกา อีกทั้งพวกเขายังครองสัดส่วนใหญ่ในฐานะนักศึกษาต่างชาติของประเทศฟินแลนด์ไปจนถึงเกาหลีใต้ด้วย

ไม่เพียง “ความรู้ใหม่ ๆ” ที่ได้กลับมาจากต่างแดน ชาวเวียดนามยังเห็นจุดแตกต่างระหว่างระบบการศึกษาของเวียดนามกับของโลกด้วย เช่น ประเทศในแถบอาเซียนจะเน้นสอนเรื่องอุดมการณ์และการท่องจำ รวมถึงนักเรียนบางคนติดสินบนอาจารย์เพื่อแลกกับเกรดที่ดี 

ตวน อันห์ แสดงความเห็นว่า การศึกษาในเวียดนามจะยึดคำตอบเดียวที่ถูกต้อง และมีระบบอาวุโสภายใน ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลเวียดนามยอมรับว่า ระบบการศึกษาในประเทศยังคงตามหลังประเทศที่เจริญแล้ว

  • ความท้าทายที่ยังรอการพิสูจน์

แม้ว่า “เวียดนาม” เป็นสัญชาติที่เรียนต่อต่างประเทศมากที่สุดในอาเซียน แต่มีความท้าทายหลายประการรออยู่ ไม่ว่าจะเป็น การขาดแคลนวิศวกร โดยซัพพลายเออร์สำหรับ Apple (แอปเปิ้ล) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐ เล่าว่า “พวกเขายังคงขาดแคลนวิศวกรในเวียดนาม โดยถ้าดูอินโดนีเซียที่มีสตาร์ทอัพบริการส่งอาหารอย่าง Gojek (โกเจ็ค) และสิงคโปร์ที่ให้กำเนิดสตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซ Shopee (ช้อปปี้) แล้วเทียบกับเวียดนาม จะพบว่า ประเทศนี้ไม่ได้เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมขนาดนั้น นั่นเพราะรัฐบาลต้องการความจงรักภักดีโดยไม่มีคำถาม และมีการควบคุมข้อมูลข่าวสาร”

นอกจากนี้ กระแสนิยมเรียนต่อต่างประเทศในเวียดนาม ยังทำให้การแบ่งแยกระหว่าง “ผู้จบต่างประเทศ” กับ “ผู้จบการศึกษาในประเทศ” ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จนความเชื่อมั่นในปริญญาของประเทศตัวเองลดน้อยลง

ยิ่งไปกว่านั้น แม้เป็นฐานการผลิตของเหล่าบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมาก แต่การมีส่วนร่วมของเวียดนามในการสร้างคุณค่าในผลิตภัณฑ์กลับอยู่ในระดับ 55% ซึ่งต่ำที่สุดใน 8 ประเทศในเอเชีย ตามข้อมูลประเมินของมหาวิทยาลัย Harvard ในปี 2563

นี่จึงเป็นความท้าทายของเวียดนาม ขณะเดียวกันก็น่าจับตาเทรนด์เรียนต่อต่างประเทศที่มีต่อการพัฒนาเทคโนโลยี ที่ทำให้เพื่อนบ้านนี้เติบโตจนไล่จี้ไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ 

อ้างอิง: nikkei, Unesco