'ข้าวส่งออกไทย' อยู่จุดไหนในตลาดโลก ในยุคที่ 'อินเดีย-เวียดนาม' ยังแกร่ง

'ข้าวส่งออกไทย' อยู่จุดไหนในตลาดโลก ในยุคที่ 'อินเดีย-เวียดนาม' ยังแกร่ง

เปิดข้อมูล “ข้าวส่งออกไทย” อยู่จุดไหนในตลาดโลก หลัง “อินเดีย” ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดระงับการส่งออกข้าว และลูกค้ารายใหญ่นอกจาก “อิรัก” ที่นำเข้าข้าวไทยมากที่สุดแล้ว ยังมีประเทศอื่นใดอีกบ้าง

สั่นสะเทือนไปทั้งโลก เมื่อราคาข้าวตลาดโลกอาจมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการที่ “อินเดีย” ยักษ์ใหญ่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก ระงับการส่งออกข้าว ยกเว้นข้าวบาสมาติ เพื่อควบคุมราคาข้าวในประเทศ อันเกิดจากปัญหาเอลนีโญที่ทำให้ผลผลิตข้าวในอินเดียลดลง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้อาจทำให้ “ไทย” ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 ในปัจจุบันอาจได้ประโยชน์ เมื่อคู่แข่งสำคัญอย่างอินเดียระงับการส่งออกข้าว จึงน่าสนใจต่อว่า สัดส่วนส่งออกข้าวไทยมีขนาดใหญ่เพียงใดในตลาดโลก พร้อม 5 อันดับประเทศนำเข้าข้าวไทยมากที่สุด

ข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยล่าสุด ระบุว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค. 2566 ไทยส่งออกข้าวไปต่างประเทศ 3,467,368 ตัน คิดเป็นมูลค่า 64,322 ล้านบาท โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้น 26.5% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 34.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่ส่งออกปริมาณ 2,741,910 ตัน และมีมูลค่า 47,785 ล้านบาท

สำหรับ “ประเทศผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก 5 อันดับ” (ม.ค.-พ.ค. 2566) มีดังนี้

1. อินเดีย 9.27 ล้านตัน

2. เวียดนาม 3.62 ล้านตัน

3. ไทย 3.47 ล้านตัน

4. ปากีสถาน 1.42 ล้านตัน

5. สหรัฐ 7 แสนตัน

ส่วนในภาพรวมทั้งปี 2565 ประเทศผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก 5 อันดับแรก มีดังนี้ 

1. อินเดีย 22.16 ล้านตัน

2. ไทย 7.69 ล้านตัน

3. เวียดนาม 7.10 ล้านตัน

4. ปากีสถาน 4.53 ล้านตัน

5. สหรัฐ 2.18  ล้านตัน

\'ข้าวส่งออกไทย\' อยู่จุดไหนในตลาดโลก ในยุคที่ \'อินเดีย-เวียดนาม\' ยังแกร่ง - ข้าวไทยอันหอมกรุ่น (เครดิต: Freepik) -

ขณะที่ “ชนิดข้าวไทยที่ส่งออกมากที่สุด” (ม.ค.-พ.ค. 2566) มีดังนี้

1. ข้าวขาว (White Rice) 1,890,824 ตัน

2. ข้าวหอมมะลิ (Thai Jasmine Rice) 694,996 ตัน

3. ข้าวนึ่ง (Parboiled Rice) 618,049 ตัน

4. ข้าวหอมไทย (Thai Aromatic Rice) 190,617 ตัน

5. ข้าวเหนียว (Sticky Rice) 117,881 ตัน

สำหรับชนิดข้าวไทยที่โดดเด่นมากที่สุด คงหนีไม่พ้น “ข้าวหอมมะลิโดยข้าวหอมมะลิของไทยได้รับรางวัลชนะเลิศข้าวที่ดีที่สุดในโลกจากงานประกวดข้าวโลกประจำปี 2564 (World’s Best Rice Award 2021) ซึ่งไทยได้รับรางวัลชนะเลิศระดับโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน คือ ปี 2563 และปี 2564 รวมถึงได้รับรางวัลชนะเลิศรวมทั้งหมด 7 ครั้ง จาก 13 ครั้ง ดังนี้

ปี 2552 ไทย

ปี 2553 ไทย

ปี 2554 เมียนมา

ปี 2555 กัมพูชา

ปี 2556 กัมพูชาร่วมกับสหรัฐ

ปี 2557 ไทยร่วมกับกัมพูชา

ปี 2558 สหรัฐ

ปี 2559 ไทย

ปี 2560 ไทย

ปี 2561 กัมพูชา

ปี 2562 เวียดนาม

ปี 2563 ไทย

ปี 2564 ไทย

อย่างไรก็ตาม จากการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2565 (The World’s Best Rice 2022) พบว่า “ข้าวหอมมะลิผกาลำดวนจากกัมพูชา คว้ารางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลกไปครอง โดยไทยได้อันดับ 2 อันดับ ซึ่งห่างกันเพียง 1 คะแนน โดยแพ้กันที่กลิ่นของข้าว ข้าวผกาลำดวนหลังการหุงแล้ว มีกลิ่นหอมมากกว่าข้าวหอมมะลิไทย นี่อาจเป็นสัญญาณว่าข้าวไทยจำเป็นต้องปรับปรุงพันธุ์ข้าวและดูแลกระบวนการปลูกให้ดียิ่งขึ้น

\'ข้าวส่งออกไทย\' อยู่จุดไหนในตลาดโลก ในยุคที่ \'อินเดีย-เวียดนาม\' ยังแกร่ง - ข้าวหอมมะลิผกาลำดวน จากกัมพูชา (เครดิต: phnompenhpost) -

นอกจากนี้ ข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยยังระบุว่า “ประเทศผู้นำเข้าข้าวไทย 5 อันดับแรก” (ม.ค.-พ.ค. 2566) มีดังนี้

1. อิรัก 592,733 ตัน

2. อินโดนีเซีย 465,316 ตัน

3. แอฟริกาใต้ 363,578 ตัน

4. สหรัฐ 297,968 ตัน

5. ญี่ปุ่น 166,775 ตัน

ส่วนในภาพรวมทั้งปี 2565 ประเทศผู้นำเข้าข้าวไทยมากที่สุดในโลก 5 อันดับแรก มีดังนี้

1. อิรัก 1,600,163 ตัน

2. แอฟริกาใต้ 774,929 ตัน

3. สหรัฐ 651,596  ตัน

4. ญี่ปุ่น 312,840 ตัน

5. อินโดนีเซีย 91,714 ตัน

จากข้อมูลการส่งออกข้าวไทยข้างต้น จะเห็นได้ว่า ข้าวไทยเป็นที่นิยมในต่างประเทศอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ “ข้าวหอมมะลิไทย” ได้รับรางวัลชนะเลิศข้าวที่ดีที่สุดในโลกรวมทั้งหมด 7 ครั้ง จาก 13 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันส่งออกข้าวในปัจจุบันกำลังดุเดือด ซึ่งคู่แข่งหลักของไทย คือ อินเดีย ที่ครองอันดับ 1 และเวียดนาม อันดับ 2 ดังนั้น หากไทยเร่งการปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทยให้หอมมากขึ้น ให้ผลผลิตมากขึ้น ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยเคมีใช้เอง และพัฒนาระบบชลประทาน ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสข้าวไทยให้หวนสู่บังลังก์ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกได้

\'ข้าวส่งออกไทย\' อยู่จุดไหนในตลาดโลก ในยุคที่ \'อินเดีย-เวียดนาม\' ยังแกร่ง - ภาพสรุปการส่งออกข้าวไทย (กราฟิก: กษิดิศ สิงห์กวาง) -

อ้างอิง: thairiceexportersthaigovsanookthaiembdcbangkokbiznews