“VinFast” บุกตีตลาดสหรัฐ ความท้าทายครั้งใหญ่ “ค่ายรถเวียดนาม”

“VinFast” บุกตีตลาดสหรัฐ ความท้าทายครั้งใหญ่ “ค่ายรถเวียดนาม”

เมื่อการบุกตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของ “VinFast” ค่ายรถยักษ์ใหญ่เวียดนาม กำลังประสบปัญหาต่าง ๆ รวมถึงไม่สามารถส่งมอบรถได้ตามกำหนดและเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ในการบุกตลาดสหรัฐ ปัจจัยเหล่านี้กำลังส่งสัญญาณอะไรกับยักษ์ EV แห่งเวียดนามนี้

เมื่อปีที่แล้ว VinFast รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติเวียดนาม ได้ประกาศบุกตีตลาดสหรัฐ นับเป็น "ประวัติศาสตร์ย้อนกลับ" ที่ครั้งหนึ่งสหรัฐเคยเข้าทำสงครามในเวียดนาม และในปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้าของประเทศที่เคยบอบช้ำจากสงครามนี้ได้กลับมาเติบโต และกำลังกลับเข้ามาบุกตลาดสหรัฐแทน!

ก่อนหน้านี้ VinFast ได้จัดส่งรถยนต์ไฟฟ้า 999 คันล็อตแรกมายังสหรัฐแล้ว และเดิมนั้นมีแผนจะส่งมอบรถดังกล่าวแก่ลูกค้าสหรัฐในเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว

แต่ผลปรากฏว่าผิดคาด รถที่จะส่งมอบได้เป็นอีกสเปคหนึ่ง อีกทั้งสเปคที่จำเป็นต้องส่งมอบถูกเลื่อนเป็นช่วงครึ่งหลังเดือน ก.พ. ปีนี้แทน เกิดอะไรขึ้นกับรถสัญชาติเวียดนามนี้ และขวากหนามอะไรกำลังรออยู่ในตลาดสหรัฐ

 

“VinFast” บุกตีตลาดสหรัฐ ความท้าทายครั้งใหญ่ “ค่ายรถเวียดนาม”

- รถ VinFast รุ่น VF8 (เครดิต: AFP)-

 

  • เกิดอะไรขึ้นกับรถ VinFast เหตุใดถึงเลื่อนการส่งมอบ

เดิมทีนั้น VinFast มีแผนส่งมอบให้ผู้สั่งจองในเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว โดยรถที่จะส่งมอบเป็นรถ SUV “VF8” 2 รุ่น ดังนี้

รุ่น Eco กำลังสูงสุด 260 กิโลวัตต์ ขับขี่ได้ไกลสุด 420 กม. เมื่อชาร์จแบตเต็ม

รุ่น Plus  กำลังสูงสุด 300 กิโลวัตต์ ขับขี่ได้ไกลสุด 400 กม. เมื่อชาร์จแบตเต็ม

ทั้งสองรุ่นมีจุดเด่นคือ มีระบบช่วยขับขี่อันสุดล้ำอย่าง ADAS ระบบเปลี่ยนเลนอัตโนมัติ และระบบช่วยจอด

สำหรับราคารถรุ่น VF8 ดังกล่าวอยู่ที่ 59,000 ดอลลาร์ หรือราวเกือบ 2 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ทาง VinFast ไม่สามารถส่งมอบรถสเปคดังกล่าวได้ตามข้อตกลง และได้เสนอรุ่นใหม่แทน คือ “City Edition” ที่ราคาต่ำกว่าที่เคยประกาศไว้ 3,000 ดอลลาร์ แบตเตอรี่ขนาดเล็กกว่า ทำให้ขับขี่ได้ไกลสุดเพียง 290 กม. อีกทั้งยังเป็นระบบความปลอดภัยขั้นพื้นฐานเท่านั้น ไม่ใช่ระบบ ADAS สร้างความไม่พอใจแก่ลูกค้าสหรัฐที่สเปครถไม่ตรงกับที่เคยสั่งจองไว้ จนมีหลายคนระบายผ่านเว็บบอร์ดชื่อดังในสหรัฐอย่าง Reddit

ต่อมา ทาง VinFast แจ้งว่า หากลูกค้าเปลี่ยนเป็นจองซื้อรุ่น City Edition นี้แทน VF8 เดิม จะได้รับส่วนลดเพิ่มจากเดิมอีก 3,000 ดอลลาร์ รวมเป็นส่วนลดทั้งหมด 6,000 ดอลลาร์ เหลือเพียงราคา 52,000 ดอลลาร์

ส่วนสเปครุ่น VF8 จากแต่เดิมมีกำหนดส่งมอบเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว จะเปลี่ยนเป็นส่งมอบช่วงครึ่งหลังของเดือน ก.พ. ปีนี้แทน โดย VinFast ชี้แจงว่าต้องมีการอัปเดตซอฟต์แวร์รถให้เสร็จสิ้นก่อน

 

“VinFast” บุกตีตลาดสหรัฐ ความท้าทายครั้งใหญ่ “ค่ายรถเวียดนาม”

- รถ VinFast สีเขียวมรกต ยากจะพบเห็น(เครดิต: AFP)-

 

  • ความท้าทายในการบุกตีตลาดสหรัฐ

1. การขับเคี่ยวสูงในตลาด EV สหรัฐ และคู่แข่งยักษ์ใหญ่อย่าง Tesla

ในตลาดรถ EV สหรัฐนั้น เมื่อปี 2565 ข้อมูลจาก S&P Global Mobility ระบุว่า บริษัทรถ Tesla ครองส่วนแบ่งการตลาดรถ EV อันดับ 1 สูงถึง 65% ตามมาด้วย Ford 7%, KIA ของเกาหลีใต้ 5%, Chevrolet 4%, Hyundai 4%,ฯลฯ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีคู่แข่งรถ EV จากแดนมังกรอย่าง NIO ก็เตรียมบุกตลาดสหรัฐในปี 2568 ด้วย แสดงถึงการแข่งขันอันดุเดือดของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐ ตลาดใหญ่อันเป็นที่หมายปองจากรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก

เมื่อไม่นานนี้ Tesla ที่เป็นทั้งเจ้าตลาดและมีสเปครถที่สูงกว่า ได้ประกาศลดราคารถโมเดล 3 และโมเดล Y ลงสูงสุดมากถึง 20% กดดันให้บริษัทคู่แข่งต้องลดราคาตาม ส่วนต่างกำไรที่ควรจะได้ก็ยิ่งลดลงไปอีก

นโยบายอุดหนุนพลังงานสะอาดของประธานาธิบดีโจ ไบเดน คืนเครดิตภาษีรถ EV สูงถึง 7,500 ดอลลาร์ ยังทำให้รถ EV ที่ผลิตในสหรัฐราคาถูกลงในสายตาลูกค้าด้วย ในขณะที่รถ VinFast ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว เพราะไม่ได้ผลิตในทวีปอเมริกาเหนือ

สำหรับราคารถ VinFast รุ่นที่จะเข้ามาบุกเบิกตลาดสหรัฐอย่าง VF8 ราคา 59,000 ดอลลาร์ และรุ่น VF9 ราคา 83,000 ดอลลาร์ ยังคงเผชิญความท้าทายด้านราคาด้วย เมื่อรถ Tesla โมเดล Y จากราคาเดิมที่ 65,990 ดอลลาร์ ปรับลดราคาลงมาเหลือ 52,990 ดอลลาร์ และรถยนต์ไฟฟ้า Hyundai Ioniq 5 เริ่มต้นที่ราคา 42,745 ดอลลาร์ เหล่านี้เป็นความท้าทายของ VinFast ที่“ราคารถปัจจุบันยังคงสูงกว่า 50,000 ดอลลาร์” ซึ่งบริษัทกำลังพิจารณาปรับลดราคาลงในขณะนี้

 

“VinFast” บุกตีตลาดสหรัฐ ความท้าทายครั้งใหญ่ “ค่ายรถเวียดนาม”

- เเบรนด์รถ VinFast (เครดิต: AFP)-

 

2. การพึ่งพาชิ้นส่วนรถจากบริษัทต่างชาติที่สูง

แม้ว่าบริษัทสัญชาติเวียดนามนี้จะผลิตรถ EV ออกมาได้ แต่ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ประกอบเป็นตัวรถขึ้นมาจากการพึ่งพาความร่วมมือกับบริษัทต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการประกอบตัวถังรถจากบริษัทเยอรมนี บริษัทสวิตเซอร์แลนด์ ชิปรถยนต์จากบริษัทสหรัฐ Intel  แบตเตอรี่ EV จากบริษัทจีน ฯลฯ

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้บริษัทรถเวียดนามรายนี้ “มีพื้นที่สำหรับลดราคาลงได้ต่ำกว่าค่ายรถยนต์จากสหรัฐ หรือจีนที่สามารถผลิตชิป และชิ้นส่วนต่าง ๆ ได้เอง” อีกทั้งเจ้าตลาดเดิมในสหรัฐ มีความเป็นยักษ์ใหญ่ด้านทุนที่สามารถผลิตครั้งละจำนวนมาก ในราคาที่ยิ่งต่ำลงได้ โดยเฉพาะเจ้าตลาดอย่าง Tesla ครอง 65% ของตลาดสหรัฐ ประกาศหั่นราคารถตัวเองลงสูงสุดถึง 20% ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ทำให้การเจาะตลาดของ VinFast ในสหรัฐยังคงไม่ใช่เรื่องง่าย

 

“VinFast” บุกตีตลาดสหรัฐ ความท้าทายครั้งใหญ่ “ค่ายรถเวียดนาม” - โรงประกอบรถ VinFast (เครดิต: AFP)-

 

  • เจาะผลดำเนินงาน VinFast

เมื่อเข้าไปดูรายละเอียดงบการเงินของ VinFast ในช่วง 9 เดือนปี 2565 สำหรับยื่น IPO ต่อตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ พบว่า บริษัทมีสินทรัพย์ทั้งหมด 4,400 ล้านดอลลาร์ มีหนี้ระยะสั้น 5,300 ล้านดอลลาร์ หนี้ระยะยาว 3,400 ล้านดอลลาร์ และขาดทุนสะสมเกือบ 4,700 ล้านดอลลาร์ หรือราว 155,000 ล้านบาท

“VinFast” บุกตีตลาดสหรัฐ ความท้าทายครั้งใหญ่ “ค่ายรถเวียดนาม”

- งบการเงินบริษัท VinFast ช่วง 9 เดือนปี 2565 (เครดิต: VinFast)-

 

อีกทั้งล่าสุดบริษัท VinFast ยังมีแผนลดพนักงานลง 80 คนทั้งในแคนาดาและสหรัฐ ปรับโครงสร้างบริษัท เนื่องจากยอดส่งมอบรถชะลอตัวลง และกำลังพิจารณาลดพนักงานในสำนักงานใหญ่เวียดนามลงด้วย

การขาดทุนที่สูงเช่นนี้สะท้อนถึงการทุ่มงบประมาณในการวิจัยรถ และแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อบุกเบิกตลาดต่างประเทศของค่ายรถเวียดนามรายนี้

โดยสรุป กรณี VinFast บุกตลาดสหรัฐ ถือเป็นกรณีศึกษาทางธุรกิจที่น่าสนใจว่า การบุกตลาดต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ตลาดนั้นจะมีขนาดใหญ่ แต่จำนวนคู่แข่งก็มากขึ้นตามไปด้วย มีการแข่งขันด้านราคากันอย่างรุนแรง อีกทั้งลักษณะการบริโภคของตลาดต่างประเทศอาจแตกต่างจากตลาดภายในที่พวกเราคุ้นเคยกันที่ทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่ต้องทำการบ้านอย่างหนัก

ยังคงน่าติดตามต่อว่า ในแผนบุกตลาดสหรัฐของ VinFast นั้น บริษัทจะมีกลยุทธ์อย่างไรบ้าง ในช่วงแรกอาจต้องยอมรับการขาดทุนเพื่อบุกเบิกตลาดใหม่นี้ก่อน ไม่แน่ว่าบริษัทอาจกำลังเรียนรู้นวัตกรรมจากบริษัทต่างชาติจนสามารถนำมาผลิตชิ้นส่วนเป็นของตัวเองได้มากขึ้น เหมือนประเทศที่เคยประสบความสำเร็จแล้วอย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ช่วยลดต้นทุนธุรกิจในการแข่งขันกับคู่แข่งให้ดียิ่งขึ้นก็เป็นได้

 

อ้างอิง: reuters reuters(2) bloomberg autoblog electrek dot.la twitter vietnam sec