ครูในญี่ปุ่นแห่ลาป่วย 'โรคทางใจ' ทุบสถิติ ผลพวงงานงอกจากโควิด-19

ครูในญี่ปุ่นแห่ลาป่วย 'โรคทางใจ' ทุบสถิติ ผลพวงงานงอกจากโควิด-19

ครูในญี่ปุ่นลาป่วยจากอาการป่วยทางจิตใจพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คาดสาเหตุหลักเพราะงานงอกกจากโควิด- ผู้ปกครองร้องเรียนบ่อยขึ้น

รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า จำนวนครูที่ต้องลางานเนื่องจากมีอาการป่วยทางด้านจิตใจในโรงเรียนของรัฐบาลญี่ปุ่นนั้น เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6,539 คนในปีงบประมาณ 2565 โดยระบุถึงหนึ่งในสาเหตุที่เป็นไปได้ว่า เนื่องจากครูมีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2565 ที่นับถึงเดือนมี.ค. 2566 นั้น จำนวนครูที่มีอาการป่วยทางด้านจิตใจ เพิ่มขึ้น 642 คนจากปี 2564 ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นปีที่สองติดต่อกัน โดยจำนวนดังกล่าวคิดเป็น 0.71% ของครูทั้งหมดในโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมต้น และมัธยมปลาย รวมถึงโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 140 คน

ทั้งนี้ จำนวนครูที่ลางานเนื่องจากอาการป่วยทางจิตใจอยู่ที่ประมาณ 5,000 คนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่พุ่งขึ้นมากกว่า 1,300 คนในช่วงสองปีนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษากล่าวว่า จำนวนครูป่วยทางด้านจิตใจเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาระหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นซึ่งเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น ความจำเป็นในการใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อ แต่ยังได้ระบุถึงแนวโน้มการร้องเรียนที่เพิ่มขึ้นจากผู้ปกครองของนักเรียนด้วย

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การขาดแคลนครูในโรงเรียนถือเป็นปัญหารุนแรงในญี่ปุ่น โดยคนหนุ่มสาวหลีกเลี่ยงการเข้าสู่อาชีพครูที่ถูกมองว่ามีภาระงานหนัก ขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ครูจำนวนมากขึ้นลางานเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือการคลอดบุตร

กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของญี่ปุ่นตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่าเป็น "ความท้าทายที่ร้ายแรง" และจะส่งเสริมการปฏิรูปรูปแบบการทำงาน รวมถึงการลดงานเอกสาร และจัดการกับชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน