3 ปีรัฐประหารเมียนมา ยังไร้เอกภาพ-สู้รบหนักต่อเนื่อง

3 ปีรัฐประหารเมียนมา ยังไร้เอกภาพ-สู้รบหนักต่อเนื่อง

รัฐบาลทหารเมียนมาขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือนจนถึงวันที่ 31 ก.ค. ปี 2567 เป็นการขยายเวลาครั้งที่ 5

1 ก.พ. ครบรอบ 3 ปีที่กองทัพเมียนมายึดอำนาจจากประชาชน และทำการกวาดล้างบรรดาผู้เห็นต่างอย่างโหดเหี้ยมและต่อเนื่องแต่    สถานการณ์ขณะนี้ กองทัพเมียนมากำลังถูกต่อต้านอย่างหนัก และสูญเสียการควบคุมพื้นที่  จึงมีความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลทหารของเมียนมาอาจจะเดินมาถึงทางตันในเร็วๆ

‘ดูวา ลาชี ลา’ รักษาการประธานาธิบดีของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) บอกว่า ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเมียนมาเจอการต่อต้านอย่างหนัก โดยกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐประหารประสบชัยชนะอย่างน่าประหลาดใจนับจากเริ่มเปิดปฏิบัติการ 1027 นำโดยกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ และนักรบฝ่ายต่อต้าน “รัฐประหาร” เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ปี 2566 

กองกำลังดังกล่าวสามารถรุกคืบและยึดค่ายทหารและบางเมืองในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดแก่บรรดานายทหารในกองทัพ นับตั้งแต่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ปี 2564 และนำไปสู่การประท้วงใหญ่ทั่วประเทศ

ดูวา ลาชี ลา กล่าวว่า “หลังผ่านไป 3 ปี การปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิก็เข้มแข็งมากขึ้น และแต่ละวันที่ผ่านไป เราเข้าใกล้ชัยชนะยิ่งขึ้น กองทัพที่เป็นอาชญากรไม่มีทางทำลายเจตนารมณ์ของประชาชนได้” 
 

รักษาการประธานาธิบดีเอ็นยูจี ยังบอกอีกว่า ตอนนี้กองทัพเมียนมากำลังรับมือกับการหนีทัพของทหารเพิ่มขึ้น ถือเป็นความอัปยศอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลทหาร ที่มีทหารหนีทัพมากขึ้น

กองทัพอ้างมาตลอดว่าการสู้รบที่เกิดขึ้นเป็นการปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย  พร้อมทั้งระบุว่า ข่าวที่ออกมาว่าทหารทำร้ายหรือย่ำยีประชาชนที่เห็นต่าง  หรือการสู้รบที่ทำให้กองทัพสูญเสียกำลังพล รวมทั้งข่าวเรื่องการหนีทัพของบรรดาทหารล้วนเป็น“ข่าวปลอม”ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือกองทัพทั้งสิ้น

ตั้งแต่รัฐประหาร มีพลเรือนถูกสังหารไปแล้วอย่างน้อย 4,468 คนและอีกเกือบ 20,000 คนถูกคุมขังด้วยข้อกล่าวหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ              

สหประชาชาติ(ยูเอ็น)และสิทธิมนุษยชนกลุ่มต่างๆ กล่าวหาว่าบรรดานายพลในกองทัพมีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่ครอบคคลุมถึง ก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติในการปราบปรามผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง

“โวล์กเกอร์ เติร์ก” ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ระบุว่า วิกฤตมนุษยชนในเมียนมาเลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว เมื่อกองทัพพ่ายแพ้ในสนามรบ ก็เลือกใช้วิธีโจมตีทางอากาศ ที่กองทัพมีแสนยานุภาพเหนือกว่า ทำให้เกิดความสูญเสียและความเสียหายแก่พลเรือนอย่างมาก 

ด้านแอมเนสตี อินเตอร์แนชันแนล และฮิวแมนไรท์วอทช์ ร่วมกันเรียกร้องให้ประชาคมโลก ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสกัดกั้นไม่ให้กองทัพเมียนมาเข้าถึงเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินรบ 

นอกจากนี้ ยังมีเสียงเรียกร้องจากประชาคมโลกนำตัวผู้นำทางทหารของเมียนมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมสำหรับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการก่ออาชญากรรม

“รัฐบาลประเทศต่างๆควรทำอะไรมากกว่านี้เพื่อสกัดกั้นทหารรัฐบาลเมียนมาไม่ให้ใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเทศสมาชิกยูเอ็นทุกประเทศควรเรียกร้องหรือสร้างแรงกดดันไปที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นเอสซี)ให้คว่ำบาตรอาวุธแก่กองทัพเมียนมา ซึ่งรวมถึงคว่ำบาตรน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินเจ็ทเพื่อไม่ให้ทหารใช้เครื่องบินเหล่านี้ไปโจมตีพลเรือนผู้บริสุทธิ์”อีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการฮิวแมน ไรท์ วอทช์ เอเชีย ระบุในแถลงการณ์ 

แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดยังถือว่าไม่เลวร้ายเท่าข่าวล่าสุด เมื่อวันพุธ(31ม.ค.)ที่รัฐบาลทหารเมียนมา ประกาศขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือนจนถึงวันที่ 31 ก.ค. ปี 2567 ซึ่งเป็นการขยายเวลาครั้งที่ 5 นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อ 3 ปีก่อน

การตัดสินใจต่อเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินของสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติเมียนมา (NDSC) ทำให้พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา มีอำนาจในการใช้กฎหมาย อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการอย่างเต็มที่ต่อไปอีก 6 เดือนและขยายอำนาจของสภาบริหารแห่งรัฐของเมียนมา (SAC) ซึ่งเป็นคณะบริหารเมียนมาออกไปด้วย

ก่อนหน้านี้  พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายให้สัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งในเดือนส.ค. ปี 2566 แต่ต่อมาก็อ้างเรื่องการไร้เสถียรภาพในพื้นที่ขัดแย้งและความจำเป็นที่ต้องดำเนินการสำรวจสำมะโนประชากรระดับชาติก่อนจึงจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้

พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ย้ำคำมั่นเรื่องจัดการเลือกตั้งกับเจ้าหน้าที่ด้านการเลือกตั้งและพรรคการเมืองต่าง ๆ ในการประชุมที่กรุงเนปิดอว์เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ซึ่งสื่อของทางการเมียนมา รายงานว่า พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายระบุว่า SAC ตั้งเป้าจัดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม ก่อนส่งมอบหน้าที่รับผิดชอบประเทศให้กับพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง

แต่บรรดาหน่วยงานในสังกัดของยูเอ็นหลายแห่งระบุตรงกันว่า สถานการณ์ความมั่นคงในเมียนมาเลวร้ายลงเรื่อย ๆ เวลานี้เกิดความขัดแย้งขึ้นในพื้นที่สองในสามของประเทศ นับตั้งแต่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์หลัก ๆ ของเมียนมาเปิดฉากโจมตีทหารเมียนมาภายใต้รหัส “ปฏิบัติการ 1027” ในช่วงปลายเดือนต.ค. ปี 2566 ก็สามารถยึดเมืองได้แล้วอย่างน้อย 34 เมือง ทำให้ NDSC ต้องจัดประชุมพิเศษในเดือนพ.ย. และประกาศกฎอัยการศึกในหลายพื้นที่ของรัฐฉานทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ