'เอไอ'ยิ่งปัง 'เลย์ออฟ'ยิ่งดัง คาดกระแสเลิกจ้างลากยาวทั้งปี 2567

'เอไอ'ยิ่งปัง 'เลย์ออฟ'ยิ่งดัง  คาดกระแสเลิกจ้างลากยาวทั้งปี 2567

กระแสการเลย์ออฟในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีตั้งแต่เดือนแรกของปี 2567 ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าการนี่เป็นการปรับโครงสร้างปกติตามฤดูกาล หรือจะเป็นอีกหนึ่งปีแห่งการเลย์ออฟในกลุ่มเทคโนโลยีเหมือนปีที่แล้ว

Key Points

  • บริษัทติดตามข้อมูลการจ้างงาน layoffs.fyi พบว่าในเดือน ม.ค.นี้ มีบริษัทเทคโนโลยีเลิกจ้างพนักงานแล้วกว่า 2 หมื่นคน 
  • นักวิเคราะห์คาดว่าการเลย์ออฟในกลุ่มบิ๊กเทคจะยังมีต่อเนื่องในปีนี้ ตราบที่การแข่งขันและลงทุนในเอไอยังเป็นไปอย่างเข้มข้น  
  • ซุนดาร์ พิชัย ซีอีโอของกูเกิลเตือนว่าอาจมีการเลย์ออฟอีกมากในปีนี้ เนื่องจากบริษัทยังเดินหน้าปรับทิศทางลงทุนไปยังเอไอต่อ

 

ล่าสุดสำนักข่าวซีเอ็นบีซีได้รวบรวมความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญใน อุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า จากแนวโน้มที่บริษัทเทคโนโลยียังมุ่งลงทุนและจ้างงานในกลุ่มเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) อย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่า กระแสการเลย์ออฟในกลุ่มบริษัทไอทีจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี 2567 นี้ 

บริษัทด้านข้อมูลการเลิกจ้างในภาคเทโนโลยี เลย์ออฟส์ ดอต เอฟวายไอ ระบุว่าเฉพาะในเดือน ม.ค.นี้ มีการเลิกจ้างในบริษัทเทคโนโลยีไปแล้วมากกว่า 2 หมื่นราย 

"กูเกิลและบริษัทบิ๊กเทคอื่นๆ กำลังเดิมพันครั้งใหญ่กับเอไอ ขณะเดียวกันก็ลดส่วนที่ไม่ใช่เชิงกลยุทธ์ลง การเลิกจ้างจะยังคงเกิดขึ้นในบิ๊กเทคบางราย ไปพร้อมกับการแห่จ้างงานเอไออย่างบ้าคลั่งและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากการแข่งขันในสมรภูมินี้จะยังคงดำเนินต่อไปทั่วโลกเทคโนโลยี" แดน ไอฟ์ส กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์เวดบุช ซีเคียวริตีส์ กล่าว 

ก่อนหน้านี้ไม่นาน ซุนดาร์ พิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ กูเกิล อิงค์ ได้ระบุในจดหมายถึงพนักงานเมื่อวันที่ 17 ม.ค. เตือนว่าจะมีการเลิกจ้างตามมาอีกมากในปีนี้ เนื่องจากบริษัทจะยังคงปรับทิศทางลงทุนมุ่งไปที่เอไอเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับการที่อัลฟาเบธ บริษัทแม่ของกูเกิลประกาศเลย์ออฟพนักงานไปแล้วหลายรอบในเดือนนี้   

อเล็กซ์ คันโทรวิทซ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทบิ๊ก เทคโนโลยี กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจของโลกในเวลานี้ไม่ได้อยู่ในยุคต้นทุนต่ำดอกเบี้ย 0% อีกต่อไปแล้ว ทำให้บริษัทต้องหาวิธีลดต้นทุนเพื่อให้สามารถลงทุนที่จำเป็นต่อไปได้ ซึ่งการลงทุนในเอไอทั้งการปรับใช้และการเทรนเอไอล้วนมีราคาแพงมาก และนี่อาจเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับกูเกิลในวันนี้  

"ผมคิดว่าบริษัทบิ๊กเทครายอื่นๆ จะทำตามนี้เหมือนกัน" คันโทรวิทซ์ กล่าว


บิ๊กเทคลดคน แต่เพิ่มงบลงทุนเอไอ

บริษัทซอฟต์แวร์รายใหญ่จากเยอรมนี "เอสเอพี" (SAP) กลายเป็นบิ๊กเทครายแรกๆ ของปีที่ประกาศปรับโครงสร้างใหญ่กระทบพนักงานในระดับ 8,000 อัตรา เพื่อหันไปเพิ่มการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์การเติบโตหลักแทน โดยเฉพาะใน ธุรกิจเอไอ บริษัทระบุว่าบรรดาคนส่วนใหญ่จากทั้งหมด 8,000 คนที่ได้รับผลกระทบนั้น จะเป็นโครงการออกโดยสมัครใจและมาตรการช่วยเสริมทักษะภายใน แต่คาดว่าพนักงานทั้งหมดของบริษัทจะยังมีจำนวนเท่าเดิมภายในสิ้นปีนี้

ทางด้าน "อเมซอน" (Amazon) ซึ่งมีการลงทุนเป็นจำนวนมากไปกับเอไอได้ลดพนักงานหลายร้อยคนในแผนกไพรม์ วีดีโอ และเอ็มจีเอ็ม สตูดิโอเมื่อต้นเดือนนี้ ก่อนจะเลย์ออฟรอบสองอีกหลายร้อยคนในแพลตฟอร์มทวิตช์และแผนกหนังสือเสียงออดิเบิล 

ไมค์ ฮอปกินส์ ซึ่งดูแลแผนกวิดีโอสตรีมมิ่งและสตูดิโอ กล่าวว่า บริษัทได้ระบุชัดเจนถึงโอกาสที่จะลดหรือยุติการลงทุนบางส่วน และหันไปเพิ่มการลงทุนในด้านอื่นๆ ที่จะเกิดผลกระทบมากที่สุดแทน สอดคล้องกับที่แผนกธุรกิจคลาวด์อย่างอเมซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS) เพิ่งประกาศลงทุนเพิ่ม 2.26 หมื่นล้านเยน (ราว 5.43 แสนล้านบาท) ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 19 ม.ค. เพื่อขยายโครงสร้างของระบบคลาวด์ไปยังบริการสำคัญๆ ด้านเอไอ   

แม้ว่า AWS จะรักษาตำแหน่งผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ที่สุดของโลกได้ แต่ AWS ก็ช้าต่อการแข่งขันด้านเอไอเชิงรู้สร้าง หรือ generative AI เพราะได้ปล่อยโมเดลภาษาขนาดใหญ่อย่าง Titan ตามออกมาหลายเดือนหลังจากที่ไมโครซอฟท์ประกาศลงทุนมูลค่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 4.63 แสนล้านบาท) ในโอเพนเอไอ ผู้สร้าง ChatGPT และตามหลังกูเกิลที่เปิดตัวแชตบอท Bard 


ผลกระทบไม่ได้จำกัดแค่บริษัทเทคโนโลยี

หลายบริษัทนอกภาคเทคโนโลยีก็มีการประกาศเลย์ออฟ เพื่อหันไปมุ่งลงทุนในธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอเช่นกัน

Vroom ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซและขายรถยนต์มือสองในสหรัฐ ได้แจ้งตลาดเรื่องการลดพนักงาน 800 คน พร้อมปิดธุรกิจอีคอมเมิร์ซกับดีลเลอร์รถมือสองเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยจะหันไปมุ่งการลงทุนด้านสินเชื่อรถยนต์และบริการเอไอแทน  

ส่วนเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ บริษัทด้านสื่อการเรียนรู้ ดูโอลิงโก (Duolingo) ได้ประกาศลดส่วนผู้รับเหมาลง 10% โดยจะหันไปใช้เอไอสร้างคอนเทนต์แทน 

ทั้งนี้การเลิกจ้างจำนวนมากในหลักหลายพันขึ้นไป หรือ Mass layoffs เริ่มขึ้นในปี 2565 และต่อเนื่องถึงปี 2566 เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจมหภาคทั่วโลก เช่น อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่สูง ทำให้ผู้บริโภคต้องลดการใช้จ่าย ท่ามกลางความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลก