แค่ต้นปีเลิกจ้างแล้วกว่า 10 บริษัท วิเคราะห์เลย์ออฟ 2567 น่ากลัวจริงหรือไม่

แค่ต้นปีเลิกจ้างแล้วกว่า 10 บริษัท วิเคราะห์เลย์ออฟ 2567 น่ากลัวจริงหรือไม่

ตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือน ม.ค. นี้ มีรายงานข่าวการ "เลย์ออฟ" หรือเลิกจ้างมาอย่างต่อเนื่องแล้วกว่า 10 บริษัท จนทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าสหรัฐจะส่งสัญญาณร้ายกันตั้งแต่ต้นปี 2567

Key Points

  • เดือน ม.ค. 2567 มีธุรกิจในสหรัฐปลดพนักงานไปแล้วหลายสิบแห่ง เฉพาะในบริษัทเทคโนโลยีมีการเลิกจ้างแล้วมากกว่า 7,800 คน
  • 'เอไอ' และการปรับกลยุทธ์เลิกจ้างแบบทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง เป็นสิ่งที่ถูกจับตาในการเลิกจ้างรอบใหม่
  • ธุรกิจที่เลิกจ้างไม่ได้จำกัดเฉพาะบริษัทเทคโนโลยี แต่ยังรวมถึงกลุ่มค้าปลีก ธนาคาร ยานยนต์ และสื่อ รวมแล้วหลายหมื่นคน


ตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือน ม.ค. นี้ มีรายงานข่าวการ "เลย์ออฟ" หรือเลิกจ้างมาอย่างต่อเนื่องแล้วกว่า 10 บริษัท ตั้งแต่ภาคเทคโนโลยีไปจนถึงภาคค้าปลีกและการผลิต จนทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าสถานการณ์ในสหรัฐซึ่งยังคงเป็นเศรษฐกิจเบอร์ 1 ของโลก จะส่งสัญญาณร้ายกันตั้งแต่ต้นปี 2567

ทว่าในความเป็นจริงนั้น หากลงรายละเอียดไปที่ "ตัวเลข" และประเภท "ธุรกิจ" ที่เลิกจ้าง เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว และเทียบไปถึงสภาพเศรษฐกิจรวมในปัจจุบันจะพบสัญญาณที่บ่งชี้ว่า การเลย์ออฟในปีนี้อาจยังไม่เลวร้ายอย่างที่กังวลกัน หรืออาจเรียกได้ว่าน่ากลัวไปคนละแบบ

เลย์ออฟตั้งแต่ต้นปี 'ไม่ใช่เรื่องแปลก'

ซาราห์ โรดฮอสท์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทออนเวิร์ด เอชอาร์ เปิดเผยกับยูเอสเอทูเดย์ว่า เดือนแรกของปีคือเดือนที่บริษัทส่วนใหญ่จะดำเนินการปรับโครงสร้างบริษัทกันมากที่สุด ทั้งในแง่ของโครงสร้างองค์กรและทิศทางบริษัท จึงนำไปสู่การเลย์ออฟเกิดขึ้นในเดือน ม.ค.เป็นจำนวนมาก หรืออาจเรียกได้ว่านี่คือฤดูการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายงานตามปกติในรอบปี ในช่วงการปิด-หลังปิดปีงบประมาณของบริษัท

ขณะที่เดือน "เมษยน" ยังเป็นอีกเดือนแดงเดือดที่มักจะเกิดการเลย์ออฟมากที่สุดในรอบปี เนื่องจากเป็นเดือนหลังปิดปีงบประมาณของบางบริษัท ที่จะครบสิ้นปีงบประมาณในวันที่ 31 มีนาคม (สิ้นไตรมาส 4) จากข้อมูลที่บริษัทด้านข้อมูลการจ้างงาน ชาลเลนเจอร์ เกรย์ แอนด์ คริสต์มาส จึงพบว่านับตั้งแต่ 2013 เป็นต้นมา เดือนที่มีการเลย์ออฟมากที่สุดในรอบปีจึงเป็นเดือน เมษายน และ มกราคม ตามลำดับ  

แค่ต้นปีเลิกจ้างแล้วกว่า 10 บริษัท วิเคราะห์เลย์ออฟ 2567 น่ากลัวจริงหรือไม่

มกราคมปีนี้เลิกจ้างไปแล้วเท่าไร 

"กลุ่มเทคโนโลยี" คือภาคธุรกิจที่ถูกจับตามากที่สุด เพราะเคยสร้างวีรกรรมเลย์ออฟครั้งใหญ่ในปีที่แล้วและยังมีมาต่อเนื่องจนถึงปีนี้ แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ จำนวนการเลย์ออฟที่น้อยกว่ากันมากอย่างเห็นได้ชัด และยังไม่มีการประกาศในระดับเลิกจ้างขนานใหญ่ (Mass layoff) เกิดขึ้นเหมือนปีที่แล้ว

"กูเกิล" (Google) เป็นยักษ์ไอทีที่ถูกจับตามากที่สุดในปีนี้เพราะมีข่าวออกมาหลายระลอกภายในเดือนเดียว เริ่มจากการปลดพนักงานไปหลักร้อยคนในฝ่าย "กูเกิล แอสซิสแตนท์" และฝ่ายฮาร์ดแวร์ที่ดูแลแบรนด์พิกเซล, เนสต์, และฟิตบิท จากนั้นกูเกิลมีข่าวเลย์ออฟรอบที่ 2 อีกนับร้อยคนในฝ่ายขายและการตลาด ก่อนจะตามมาด้วยการเลย์ออฟอีกราว 100 คน ใน "ยูทูบ" (Youtube)

"อเมซอน ดอต คอม" (Amazon.com) ปลดพนักงานหลายร้อยคนในฝ่าย "ไพรม์ วีดีโอ" และ "เอ็มจีเอ็ม สตูดิโอ" ขณะที่บริษัทลูกในเครืออเมซอนอย่าง "ทวิตช์" (Twitch) แพลตฟอร์มที่คอเกมและสายคอนเทนต์รู้จักกันดี ก็ประกาศเลย์ออฟราว 500 คน หรือคิดเป็น 35% ของพนักงานทั้งหมด 

"พิกซาร์" (Pixar) สตูดิโอแอนิเมชันชื่อดังจะลดคนประมาณ 1,300 คน หรือราว 20% ของพนักงานทั้งหมด เพราะบริษัทแม่อย่างดิสนีย์ต้องการคุมค่าใช้จ่ายหลังจากแพลตฟอร์มดิสนีย์พลัสยังไม่สามารถทำกำไรได้ ส่วนแพลตฟอร์มสอนภาษา "ดูโอลิงโก" (Duolingo) เพิ่งเปิดเผยในเดือนนี้ว่าลดคนไปแล้วประมาณ 10% ณ สิ้นปี 2566 ขณะที่บริษัทซอฟต์แวร์เกม "ยูนิตี" (Unity) เตรียมเลย์ออฟพนักงาน 1,800 คน หรือราว 25% 

ในภาพรวมสายเทคโนโลยีประกาศเลย์ออฟไปแล้วราว 7,800 คน ในช่วงเกือบ 3 สัปดาห์แรกของเดือนนี้ ซึ่งหากมองในเชิงตัวเลขแล้วคงเทียบไม่ได้เลยกับการเลิกจ้างของสายเทคในปี 2566 ที่เพียงแค่เฉพาะ 3 บริษัทใหญ่นำโดยกูเกิล ไมโครซอฟท์ และอเมซอน ก็เลย์ออฟไปถึง 30,000 คนภายใน ม.ค. เพียงเดือนเดียว และตลอดทั้งปีมีการเลย์ออฟในกลุ่มเทคฯ ไปมากกว่า 2.6 แสนคน ซึ่งมากกว่าเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 1.64 แสนคร

โรเจอร์ ลี ผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปติดตามข้อมูลการจ้างงานในสายเทค เลย์ออฟส์ ดอต เอฟวายไอ เปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นมันนีว่า บริษัทเทคจำนวนมากยังอยู่ระหว่างการพยายามปรับสมดุลเอาคนออก หลังจากที่จ้างงานมามากเกินไปหลังช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงที่ทุกคนหันมาเรียนหนังสือ ทำงาน ช้อปปิ้ง และใช้ชีวิตกันผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทำให้มีการจ้างงานในสายเทคเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ แต่เมื่อโควิดจบลงและชีวิตกลับมาสู่ยุคออฟไลน์ ตำแหน่งงานจำนวนมากจึงถูกเลย์ออฟตามไปด้วย

แค่ต้นปีเลิกจ้างแล้วกว่า 10 บริษัท วิเคราะห์เลย์ออฟ 2567 น่ากลัวจริงหรือไม่

'เอไอ-นิวนอร์มอล' ความน่ากังวลในการเลย์ออฟสายเทคฯ 

อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณจะยังไมใช่เรื่องน่าวิตกในขณะนี้ แต่สิ่งที่น่ากังวลจริงๆ มากกว่าคือสัญญาณของการ "ดิสรัปต์" จากปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่กำลังเริ่มเห็นชัดมากขึ้นในกลุ่มเทคโนโลยี เพราะเริ่มมีการเลย์ออฟจากเหตุผลการนำเอไอมาใช้แทนที่มากขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว เช่น บริษัทเทคโนโลยีการศึกษา "เชกก์" (Chegg) ที่ลดคนลง 4% หรือราว 80 คน และบริษัท "ดร็อปบ็อกซ์" (Dropbox) ที่ลดคน 16% หรือราว 500 คน 

ขณะที่อาร์วิน กฤษณา ซีอีโอของบริษัทไอบีเอ็ม เปิดเผยกับบลูมเบิร์กว่าจะระงับการจ้างงานในตำแหน่งที่สามารถใช้เอไอแทนที่ได้ภายในอีกไม่กี่ปีนี้ ก่อนที่จะกล่าวกับสื่ออื่นในภายหลังเพื่อป้องกันการตื่นตระหนกว่า อย่างไรเสียเอไอก็จะสร้างงานใหม่มากกว่าที่มันแย่งคนทำ

ชาลเลนเจอร์ เกรย์ แอนด์ คริสต์มาส ระบุว่าเฉพาะในเดือน พ.ค. 2566 มีคนมากถึง 3,900 คนที่ถูกเลิกจ้างเพราะเอไอ และนับเป็นครั้งแรกที่มีการปรากฎอย่างชัดเจนว่ามีการเลย์ออฟพนักงานเพราะเหตุผลเรื่องเอไอ

ส่วนสถานการณ์ในปี 2567 นี้ เริ่มพบในเคสของดูโอลิงโก ที่ลดคน 10% แต่ที่เรียกความสนใจมากที่สุดคือข่าวที่ ซุนดาร์ พิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทกูเกิล อิงค์ ระบุในบันทึกภายในองค์กรว่า จะมีการเลิกจ้างตามมาอีกมากในปีนี้ เนื่องจากบริษัทจะยังคงปรับทิศทางการลงทุนใหม่ๆ ไปยังด้านต่างๆ ซึ่งรวมถึงเอไอ  

แค่ต้นปีเลิกจ้างแล้วกว่า 10 บริษัท วิเคราะห์เลย์ออฟ 2567 น่ากลัวจริงหรือไม่

อีกหนึ่งความน่ากังวลคือ แม้จะไม่ได้เกิดการเลิกจ้างครั้งใหญ่ในหลักหลายพันหรือหลักหมื่นคนเหมือนในปีที่แล้ว แต่การเลิกจ้างทีละน้อยในหลักร้อยแต่บ่อยครั้งเข้า ก็อาจกลายเป็น "นิวนอร์มอล" ที่ทำให้คนผวากับความไม่มั่นคงของงานในบริษัทเทคโนโลยีวันนี้ 

บลูมเบิร์กระบุว่า บางบริษัท เช่น กูเกิล ที่ทยอยเลิกจ้างทีละน้อยแต่แบ่งเป็นหลายรอบในเดือนนี้กำลังสะท้อนถึงกลยุทธ์ใหม่ของการเลิกจ้างในบริษัทเทคโนโลยี โดยหนึ่งในพนักงานของกูเกิลที่ประสบภัยกล่าวว่า การเลิกจ้างครั้งนี้มาแบบช้าๆ แต่ชัดเจนและไม่ทันสังเกต โดยมาเป็นทีละขยักเล็กๆ และมันกำลังทำลายขวัญกำลังใจของบริษัทนี้ ขณะที่ข้อมูลจากเอกสารแจ้งตลาดหลักทรัพย์พบว่า กูเกิลเลย์ออฟรวมแล้วประมาณ 630 คน ในจำนวนนี้เป็นระดับรองประธานบริษัท 4 คน และผู้อำนวยการ 25 คน 

อุตสาหกรรมอื่นๆ มีเลย์ออฟปีนี้หรือไม่

กลุ่มค้าปลีก, การเงิน, ยานยนต์ และกลุ่มสื่อ คืออุตสาหกรรมหลักๆ ที่พบการเลย์ออฟอย่างชัดเจนในเดือน ม.ค.นี้ นอกเหนือจากวงการไอที 

"กลุ่มธนาคาร-การเงิน" เพิ่งมีข่าว 5 แบงก์ใหญ่เลิกจ้างกว่า 2 หมื่นคนไปเมื่อปีที่แล้ว แต่มาปีนี้เฉพาะแค่ "ซิตี้กรุ๊ป" (Citigroup) เพียงรายเดียวก็ประกาศเตรียมปลดพนักงาน 20,000 คน ตลอดสองปีข้างหน้า โดยจะเป็นการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เพื่อลดค่าใช้จ่ายลง 2.5 พันล้านดอลลาร์ในระยะยาว หลังจากบริษัทขาดทุนถึง 1.8 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ขณะที่ "แบล็กร็อก" (Blackrock) ซึ่งมีกองทุนที่มีสินทรัพย์ในการจัดการมากที่สุดในโลก ประกาศปลดพนักงานลง 3% หรือราว 600 คน

"กลุ่มสื่อ" ที่พบการเลิกจ้างยังคงเป็นประเภทนิตยสารและหนังสือพิมพ์ที่มีปัญหาในการทำกำไรหลังถูกดิสรัปต์จากยุคดิจิทัลจนล้มหายตายจากกันมาแล้วรอบใหญ่ โดยครั้งนี้เป็นนิตยสารกีฬาอายุเกือบ 70 ปีในสหรัฐ "สปอร์ตส์ อิลลัสเทรตด์" (Sports Illustrated) ที่ส่งสัญญาณเตรียมเลย์ออฟราว 100 คน หรืออาจจะทั้งหมด เมื่อบริษัทอารีนาซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การพิมพ์ติดปัญหาเรื่องหนี้จนไม่สามารถจ่ายค่าลิขสิทธิปีละ 15 ล้านดอลลาร์ ให้กับเจ้าของหัวนิตยสารอย่าง ABG ได้ 

ส่วนหนังสือพิมพ์ "ลอสแอนเจลิส ไทม์ส" (Los Angeles Times) ที่มีอายุ 142 ปี ก็เตรียมเลิกจ้างพนักงานในกองบรรณาธิการราว 100 คน ซึ่งเป็นการลดคนต่อเนื่องหลังจากที่ประกาศเลิกจ้างไป 13% เมื่อครึ่งปีที่ผ่านมา ด้าน "ยูนิเวอร์แซล มิวสิก กรุ๊ป" (Universal Music) ซึ่งเป็นค่ายเพลงสังกัดของเทย์เลอร์ สวิฟท์ เตรียมเลิกจ้างอีกหลายร้อยคนในไตรมาสแรก  

สำหรับ"กลุ่มยานยนต์" มีสัญญาณเลย์ออฟในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ตามทิศทางของอุตสาหกรรมรถอีวีที่ชะลอตัวลงในปีที่แล้ว นำโดย "สเตลแลนทิส" (Stellantis) ที่ประกาศเลย์ออฟไปแล้ว 2 รอบในเดือนนี้ คือ เลย์ออฟพนักงานชั่วคราว 2,250 คน ที่โรงงานในเมืองตูริน ประเทศอิตาลี ซึ่งผลิตรถยนต์เฟียตและมาเซราติ ส่วนอีกล็อตคือ เลย์ออฟพนักงาน 539 คน ที่โรงงานหลายแห่งในสหรัฐ ซึ่งการเลย์ออฟในกลุ่มยานยนต์เป็นไปตามทิศทางของอุตสาหกรรมรถอีวีที่ชะลอตัวลงในปีที่แล้ว 

ด้าน "ฟอร์ด มอเตอร์" (Ford) จะลดพนักงานส่วนผลิตรถป๊กอัพไฟฟ้า F-150 ไลท์นิ่ง ลงครึ่งหนึ่งซึ่งคาดว่าจะกระทบพนักงานราว 1,400 คน แต่จะไปจ้างใหม่เพิ่มอีก 900 และเพิ่มพนักงานอีก 700 คน ในโรงงานที่มิชิแกนเพื่อเพิ่มการผลิตในส่วนของรถปิ๊กอัพและเอสยูวีปกติแทน 

ขณะที่ "กลุ่มค้าปลีก" ถือเป็นข่าวใหญ่จากการปิดห้างดังหลายแห่งด้วยกัน นำโดย "เมซีส์ อิงค์" (Macy's) เชนห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ในสหรัฐ ปลดพนักงานจำนวน 2,350 ตำแหน่ง หรือราว 3.5% ของพนักงานทั้งหมด และปิดห้างสรรพสินค้าไป 5 สาขา เนื่องจากวางแผนจะปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยเมซีส์นั้นมีปัญหาการถูกดิสรัปต์จากอีคอมเมิร์ซมาหลายปี และมีการปรับโครงสร้างมาอย่างต่อเนื่อง

แค่ต้นปีเลิกจ้างแล้วกว่า 10 บริษัท วิเคราะห์เลย์ออฟ 2567 น่ากลัวจริงหรือไม่

ด้าน "เวย์แฟร์" (Wayfair) ซึ่งเป็นห้างค้าปลีกขายสินค้าเครื่องใช้ในบ้านออนไลน์ ประกาศลดคน 13% หรือราว 1,650 คน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อลดโครงสร้างและประหยัดค่าใช้จ่ายลงประมาณ 280 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่มีการจ้างงานมากเกินไปในช่วงโควิดที่การค้าออนไลน์กำลังบูมสุดขีด  

แม้การเลิกจ้างจะไม่ใช่เรื่องดีและไม่เคยเป็นเรื่องดี แต่อย่างน้อยที่สุดหากเทียบกับสถานการณ์ในตลาดการจ้างงานสหรัฐแล้วจะพบว่า สถานการณ์ในตลาดแรงงานยังทรงตัวดีอยู่ 

ตัวเลขการขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ม.ค. ลดลง 16,000 ราย อยู่ที่ 187,000 ราย ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบเกือบ 1 ปีครึ่ง และอาจเป็นเหตุผลที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ยังไม่วิตกถึงการเลิกจ้างตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยมองเป็นเรื่องของธุรกิจเฉพาะรายมากกว่า และอาจต้องรอดูสัญญาณการเลิกจ้างไปจนถึงช่วงกลาง-ท้ายปี ก่อนจะประเมินได้จริงๆ ว่า กระแสการเลย์ออฟเป็นการปรับโครงสร้างทางธุรกิจหรือเป็นวิกฤตลูกใหม่ที่ต้องจับตากันแน่

ที่มา: CNN, Bloomberg, TechCrunch