เรียนต่อแคนาดาต้องรู้ รัฐจำกัดวีซ่าศึกษา ลดวิกฤติค่าเช่า ใครกระทบมากสุด?

เรียนต่อแคนาดาต้องรู้ รัฐจำกัดวีซ่าศึกษา ลดวิกฤติค่าเช่า ใครกระทบมากสุด?

เรียนต่อแคนาดาต้องรู้! รัฐบาลออกมาตรการใหม่ จำกัดวีซ่านักเรียนเป็นเวลา 2 ปี เพื่อบรรเทาวิกฤติที่อยู่อาศัยขาดแคลน แต่มาตรการนี้จะได้ผลจริงหรือไม่ คนที่ได้รับผลกระทบเป็นนักเรียนต่างชาติ หรือแคนาดากำลังวางระเบิดภาคแรงงานของประเทศตัวเอง?

แคนาดาประกาศเมื่อวันจันทร์ (22 ม.ค.) ว่า รัฐบาลจะจำกัดการรับนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษาต่อเป็นเวลา 2 ปี หลังมีจำนวนนักษาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วช่วงสองสามปีที่ผ่านมมา ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยในประเทศย่ำแย่ลงไปอีก

เมื่อปี 2566 แคนาดาออกใบอนุญาตด้านการศึกษาเกือบ 1 ล้านใบ ซึ่งมากกว่าช่วงสิบปีที่ผ่านมาประมาณ 3 เท่า และตอนนี้มาตรการใหม่จะลดการออกใบอนุญาตศึกษาลงเกือบ 3 เท่า

รายละเอียดมาตรการจำกัดวีซ่านักเรียน

“มาร์ก มิลเลอร์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองแคนาดา เผยว่า รัฐบาลจะออกมาตรการจำกัดวีซ่านักเรียนชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งอาจทำให้ปีนี้ออกวีซ่านักเรียนเพียง 364,000 ฉบับเท่านั้น

มาตรการใหม่ยังจำกัดใบอนุญาตทำงานหลังเรียนจบให้กับนักเรียนต่างชาติด้วย ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเดินทางกลับบ้านเกิดได้

เนื่องจากที่ผ่านมา ใบอนุญาตดังกล่าวเป็นหนทางที่ง่ายต่อการรับสิทธิพำนักถาวร โดยผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือโทมีสิทธิได้รับใบอนุญาตทำงานนานถึง 3 ปี

แต่มาตราการล่าสุด จะทำให้คู่สมรสของนักศึกษาต่างชาติที่ลงทะเบียนเรียนในระดับอื่น ทั้งมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย จะไม่ได้รับใบอนุญาตทำงานอีกต่อไป และการออกใบอนุญาติเข้าศึกษาในปี 2568 จะได้รบการพิจารณาใหม่ในช่วงปลายปีนี้

ทำไมรัฐบาลต้องออกมาตรการนี้?

แคนาดากลายเป็นประเทศจุดหมายปลายทางยอดนิยมในหมู่นักเรียนต่างชาติ เนื่องจากขอใบอนุญาตทำงานหลังเรียนจบค่อนข้างง่าย แต่จำนวนนักเรียนต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความขาดแคลนอพาร์ตเมนท์เช่าอยู่ และทำให้ค่าเช่าที่อยู่อาศัยแพงขึ้น

สแตตสแกน เผยว่า ในเดือนธ.ค. 2566 ค่าเช่าทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 7.7% จากปีก่อนหน้า ซึ่งนอกเหนือจากวิกฤติค่าเช่าแล้ว รัฐบาลยังสร้างความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาของสถาบันบางแห่งด้วย

ใครได้รับผลกระทบ?

นักเรียนต่างชาติสร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจแคนาดาได้ราว 22,000 ล้านดอลลาร์แคนาดาต่อปี แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสถาบันการศึกษาที่ขยายวิทยาเขตเพื่อรองรับจำนวนนักเรียนหลั่งไหลเข้ามาต่อเนื่อง

รัฐออนแทริโอ เป็นรัฐที่คนนิยมไปศึกษาต่อมากที่สุด และมีสัดส่วนนักเรียนต่างมากสุดเช่นกัน ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารและภาคการค้าปลีกบางแห่งได้ออกมาเตือนการจำกัดจำนวนนักเรียนต่างชาติว่า อาจทำให้เกิดความขาดแคลนแรงงานชั่วคราว

กลุ่มล็อบบี้เผยกับรอยเตอร์เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ร้านอาหารทั่วแคนาดากำลังเผชิญกับความขาดแคลนแรงงาน โดยมีตำแหน่งว่างเกือบ 100,000 ตำแหน่ง และนักเรียนต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนแรงงานในอุตสาหกรรมบริการอาหารในปี 2566 ราว 4.6%

ธนาคารของแคนาดาก็ได้รับประโยชน์จากการหลั่งไหลเข้าเข้ามาในประเทศของนักเรียนชาวต่างชาติเช่นกัน เนื่องจากนักเรียนแต่ละคนต้องมีใบรับรองการลงทุน (จีไอซี) มากกว่า 20,000 ดอลลาร์แคนาดา ซึ่งเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นเพื่อให้ครอบคลุมค่าครองชีพของนักเรียนต่างชาติ

ด้านมหาวิทยาลัยโทรอนโต (U of T) ระบุในแถลงกรณ์ว่า สถาบันหวังได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลทุกระดับเพื่อให้มั่นใจว่า การจัดสรรใบอนุญาตเพื่อการศึกษาจะออกให้กับสถาบันต่าง ๆ เช่น U of T และร่วมแก้ไขปัญหาความท้าทายที่มีอยู่

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของทางการในปี 2565 ระบุ สัดส่วนนักศึกษาต่างชาติประมาณ 40% มาจากอินเดีย รองลงมาเป็นจีน มีสัดส่วน 12%