เปิดรายงาน 'Gen-AI กับอนาคตของงาน' เอไอยุคใหม่จะแย่งงาน 40% ของโลกอย่างไร

เปิดรายงาน 'Gen-AI กับอนาคตของงาน'  เอไอยุคใหม่จะแย่งงาน 40% ของโลกอย่างไร

ไม่ว่าจะด้านดีหรือด้านร้าย "เอไอ" จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมอนาคตของงานทั่วโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งสิ่งที่เราควรจะทำก็คือ ทำให้มั่นใจว่าเอไอจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติมากกว่าเป็นลบ

Key Points

  • IMF เปิดเผยรายงาน "เจนเอไอกับอนาคตของงาน" พบว่า มีงานทั่วโลก 40% ที่เสี่ยงถูกเอไอแย่งงานไป
  • กลุ่มตลาดเกิดใหม่และกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ จะถูกเอไอดิสรัปต์น้อยกว่าและช้ากว่า
  • กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเสี่ยงถูกเอไอแย่งงานมากที่สุด แต่ก็มีโอกาสพัฒนาบนเอไอมากสุดเช่นกัน
     

ถึงแม้ว่าการประชุม "เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม" (WEF) ปี 2567 นี้ จะมีเรื่อง "เจนเนอเรทีฟ เอไอ" (เจนเอไอ) เข้ามาเป็น 1 ใน 4 ธีมหลักประจำปีควบคู่ไปกับเรื่อง การเมืองและความมั่นคง, เศรษฐกิจ, และพลังงานและสิ่งแวดล้อม แต่ก็ดูเหมือนว่าเจนเอไอจะถูกฉายภาพในด้าน "ความน่ากังวล" เป็นหลักตั้งแต่เริ่มงานเสียแล้ว  

คริสตาลินา กิออร์กิเอวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยระหว่างร่วมการประชุม WEF ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ในสัปดาห์นี้ว่า ไม่ว่าจะด้านดีหรือด้านร้าย "เอไอ" จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมอนาคตของงานทั่วโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งสิ่งที่เราควรจะทำก็คือ ทำให้มั่นใจว่าเอไอจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติมากกว่าเป็นลบ 

ในรายงานฉบับเต็มของไอเอ็มเอฟเรื่อง "Gen-AI: Artificial Intelligence and the Future of Work" หรือ "เจนเอไอกับอนาคตของงาน" ได้ระบุถึงปัญญาประดิษฐ์ยุคใหม่หรือเจนเอไอที่เข้ามาส่งผลกระทบต่อตลาดการจ้างงานทั่วโลกทั้งในด้านบวกและด้านลบ ซึ่งสามารถสรุปบทคัดย่อเบื้องต้นได้ดังนี้

"ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มีศักยภาพในการเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขอบเขตของตลาดแรงงาน ประเทศที่พัฒนาแล้วจะได้สัมผัสทั้งประโยชน์และโทษของเอไอ เร็วกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา สาเหตุหลักมาจากโครงสร้างการจ้างงานของประเทศพัฒนาแล้ว ที่มุ่งเน้นไปยังงานเกี่ยวกับการใช้สติปัญญา (cognitive intensive) (มากกว่างานที่ใช้แรง) 

ทั้งนี้ มีรูปแบบที่สอดคล้องกันบางประการเกี่ยวกับความเสี่ยงจากเอไอ เช่น ผู้หญิงและคนที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) มีความเสี่ยงมากกว่าแต่ก็พร้อมที่จะรับผลประโยชน์จากเอไอที่ดีกว่าเช่นกัน ส่วนกลุ่มแรงงานอายุมากกว่าอาจมีความสามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ได้น้อยกว่า ในขณะที่ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้อาจเพิ่มขึ้นอีก หากกลุ่มแรงงานรายได้สูงสามารถปรับใช้เอไอได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งการคืนทุนจะยิ่งเพิ่มช่องว่างความมั่งคั่งให้ห่างมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากมีความสามารถในการผลิตเพิ่มขึ้นเพียงพอ ระดับรายได้ของแรงงานส่วนใหญ่ก็อาจพุ่งสูงขึ้นได้ ซึ่ง IMF แนะนำว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศตลาดเกิดใหม่กลุ่มบนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับกรอบการกำกับดูแล และสนับสนุนการจัดสรรแรงงาน ขณะเดียวกันก็ต้องปกป้องผู้ที่ได้รับผลกระทบในทางลบ โดยตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและทักษะดิจิทัลให้มากขึ้น"

เปิดรายงาน \'Gen-AI กับอนาคตของงาน\'  เอไอยุคใหม่จะแย่งงาน 40% ของโลกอย่างไร

'เอไอ' เสี่ยงแย่งงาน 40% ทั่วโลก อย่างไร

ผลกระทบ "เชิงลบ" จากเอไอที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ การเข้ามาแทนที่หรือแย่งงานมนุษย์ไป ในขณะที่ผลกระทบ "เชิงบวก" คือการส่งเสริมการทำงานของมนุษย์ให้ง่ายขึ้น 

รายงานของ IMF ระบุว่าในเชิงลบนั้น การจ้างงานทั่วโลกมีความเสี่ยงจากเอไอสูงถึง 40% โดยตัวเลขนี้มาจากการหาค่าเฉลี่ยระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ 60%, กลุ่มตลาดเกิดใหม่ 40%, และกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ 26%

เปิดรายงาน \'Gen-AI กับอนาคตของงาน\'  เอไอยุคใหม่จะแย่งงาน 40% ของโลกอย่างไร

ที่ผ่านมา ระบบอัตโนมัติ  (automation) และเทคโนโลยีสารสนเทศ (information technology) มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่องานประจำหรืองานรูทีน แต่เอไอมีความต่างออกไปเพราะสามารถส่งผลกระทบต่องานที่มีทักษะสูง (high-skilled jobs)

ผลที่ตามมาก็คือ "ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว" งานประมาณ 60% อาจได้รับผลกระทบจากเอไอ ซึ่งเราสามารถแบ่งความเสี่ยง 60% นี้ออกได้อย่างละครึ่ง เป็นความเสี่ยงที่พลิกกลับมาเป็นโอกาสได้ (กราฟแท่งสีแดง /เสี่ยงสูง แต่ก็เกื้อหนุนสูง) จากการบูรณาการเอไอเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต

ส่วนอีกครึ่งที่เหลือ (กราฟแท่งสีชมพู /เสี่ยงสูง เกื้อหนุนต่ำ) เป็นงานที่สามารถใช้แอปพลิเคชันเอไอเข้ามาทำในส่วนหลักๆ แทนได้ ซึ่งจะนำไปสู่การลดการเปิดตำแหน่งงาน การกดเงินเดือนลง และลดการจ้างงาน โดยในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจทำให้งานในส่วนนี้หายไปเพราะถูกแทนที่ด้วยเอไอ 

ในแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่า กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีความเสี่ยงในรูปแบบ High risk, high return ในแง่ของการจ้างงาน คือไม่ตกงานก็รวยไปเลย หากปรับตัวไม่ได้ก็เสี่ยงถูกเอไอแย่งงานไป แต่หากปรับตัวและใช้ประโยชน์จากเอไอได้ ก็จะยิ่งได้ผลตอบแทนสูงขึ้นไปกว่าเดิมมาก 

เปิดรายงาน \'Gen-AI กับอนาคตของงาน\'  เอไอยุคใหม่จะแย่งงาน 40% ของโลกอย่างไร

"ประเทศไทย" มีการเตรียมพร้อมสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ "ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่และประเทศรายได้ต่ำ" แม้จะมีความเสี่ยงที่จะถูกเอไอแย่งงานน้อยกว่าประเทศร่ำรวย ในสัดส่วน 40% และ 26% ตามลำดับ หรือถูกดิสรัปต์น้อยกว่าและช้ากว่า แต่ในแง่ของโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากเอไอก็น้อยตามไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากการขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและขาดแรงงานที่มีทักษะ ทำให้เมื่อเวลาผ่านไป ช่องว่างความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งห่างมากขึ้นตามไปด้วย 

ขณะเดียวกัน การวางนโยบายเอไอก็ยังมีข้อควรระวังไม่ว่าจะในกลุ่มประเทศไหนก็ตาม เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องหาจุดสมดุลระหว่างการพลิกฟื้นการผลิต จีดีพี และค่าแรง กับตำแหน่งงานในประเทศที่จะหายไปเพราะเอไอ รวมถึงปัญหาช่องว่างรายได้ที่จะยิ่งห่างขึ้น