‘เศรษฐา’ และ ‘เอไอ’ บนเวที ‘ดาวอส’

‘เศรษฐา’ และ ‘เอไอ’ บนเวที ‘ดาวอส’

รายงานผลสำรวจความเสี่ยงประจำปีล่าสุดของ WEF บอกว่า เอไอ คือ 1 ใน 5 ปัจจัยเสี่ยงของโลกภายใน 2 ปีข้างหน้านี้ ในแง่ของ “ข้อมูลที่ผิดพลาดและการบิดเบือนข้อมูลจากเอไอ”

การประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (WEF) ณ สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 15-19 ม.ค. 2567 นับเป็นครั้งที่ 54 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Rebuilding Trust”

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย นับเป็นการเข้าร่วมระดับผู้นำของไทยในรอบ 12 ปี และเป็นอีกครั้งที่ นายเศรษฐา จะได้พบหารือกับบิ๊กคอร์ปชั้นนำระดัับโลก ชวนมาลงทุนในไทยอีกครั้ง หลังจบทริปเดินสายดึงบิ๊กคอร์ปมาไทยเมื่อปีที่แล้ว 

การประชุม WEF ที่เมืองดาวอสครั้งนี้ ทั่วโลกจับตาใกล้ชิด เพราะเกิดขึ้นท่ามกลางโลกที่ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวอีกต่อไป 

ความเข้มข้นในเชิงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเป็นเรื่องใหญ่ รวมถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยี “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ เอไอ ก็เข้ามาเขย่าโลกทัั้งใบแทบไม่ได้ตั้งตัว และเป็น 1 ใน 4 ธีมหลักของงานประชุมครั้งนี้ด้วย ที่ครอบคลุม การเมือง, เศรษฐกิจ, เอไอ, และสิ่งแวดล้อม

ภายใต้หัวข้อหลักๆ ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การบรรลุความร่วมมือและความมั่นคงในโลกที่แตกแยก, การสร้างการเติบโตและสร้างงานสำหรับยุคใหม่, ปัญญาประดิษฐ์ในฐานะพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม และยุทธศาสตร์ระยะยาวสำหรับสภาพภูมิอากาศ ธรรมชาติ และพลังงาน

เรื่องของ “เอไอ” นั้น หากย้อนไปดูจะพบว่า WEF เริ่มปูความสำคัญของเอไอมาตั้งแต่ปีที่แล้ว กับการจัดประชุม AI Governance Summit เป็นครั้งแรกในเดือน พ.ย. และสำหรับปีนี้ ที่ประชุมดาวอสเห็นตรงกันว่า “เอไอ” ในฐานะพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม คือหนึ่งในธีมที่สำคัญที่สุดของปีนี้ และจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในประเด็นสนทนาต่างๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตั้งแต่เรื่องการจ้างงาน ทักษะงาน การกำกับดูแล ไปจนถึงการเมือง

ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังพิจารณาเรื่องการออกกฎกำกับดูแลเอไอ ซึ่งรวมถึงสหภาพยุโรป (อียู) ที่เพิ่งร่างกฎหมายกำกับดูแลเอไอออกมาเป็นครั้งแรกเมื่อเดือน ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา

เอไอ กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนต้องไม่มองผ่าน เพราะเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจ สังคม และการใช้ชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นเหลือเกินที่เราต้องรู้เท่าทัน “เอไอ” และใช้เอไอให้เกิดประโยชน์

ดังนั้นรัฐบาลเศรษฐา 1 ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากพอๆ กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รายงานผลสำรวจความเสี่ยงประจำปีล่าสุดของ WEF บอกว่า เอไอ คือ 1 ใน 5 ปัจจัยเสี่ยงของโลกภายใน 2 ปีข้างหน้านี้ ในแง่ของ “ข้อมูลที่ผิดพลาดและการบิดเบือนข้อมูลจากเอไอ” WEF จัดให้เรื่องนี้ เป็นความเสี่ยงสูงสุดอันดับ 2 เป็นรองเพียงแค่ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่สุดขั้วเท่านั้น