ผู้นำโลกร่วมหารือประชุมดาวอส ท่ามกลางขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์

ผู้นำโลกร่วมหารือประชุมดาวอส ท่ามกลางขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์

เหล่าผู้นำโลก พร้อมผู้นำธุรกิจร่วมประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เน้นหารือสถานการณ์ขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ขณะนี้ ทั้งรัสเซีย-ยูเครน ,อิสราเอล-ฮามาสและสถานการณ์ตึงเครียดในทะเลแดงที่ส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานโลก

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันอังคาร (9 ม.ค.) ว่าแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ, เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และผู้นำในประเทศตะวันออกกลางที่สำคัญ มีกำหนดเข้าร่วมประชุม World Economic Forum หรือสภาเศรษฐกิจโลก (ดับเบิลยูอีเอฟ) ในสัปดาห์นี้ ระหว่างวันที่ 15-19 ม.ค.

ดับเบิลยูอีเอฟระบุ นอกจากบลิงเคนแล้ว ยังมีเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ และดั๊ก เอ็มฮัฟฟ์ สามีของกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐเข้าร่วมด้วย ด้านทำเนียบขาว เผยซัลลิแวนอาจกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมนี้

นอกจากนี้ บลิงเคนและซัลลิแวนจะเข้าร่วมประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในความขัดแย้งกาซา ร่วมกับผู้นำจากกาตาร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วย

ด้านบอร์ก เบรนเด ประธานประชุมดับเบิลยูอีเอฟ เผยว่า ประเด็นที่ให้ความสำคัญในปีนี้อาจเป็นเรื่องการหารือทางการทูตระดับสูงเกี่ยวกับสงครามในตะวันออกกลาง, ยูเครน และแอฟริกา

แอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาติ และรัฐมนตรีต่างประเทศอีกกว่า 40 คน จะเข้าร่วมการประชุมในปีนี้เช่นกัน และคาดว่ามาครงจะขึ้นกล่าวถึงบทบาทของฝรั่งเศสในอนาคตของยุโรป

ส่วนการประชุมเกี่ยวกับสงครามยูเครน คาดว่าประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีแห่งยูเครน จะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าเจ้าหน้าที่จากรัสเซียจะเข้าร่วมด้วยหรือไม่ ขณะที่จีน พันธมิตรคนสำคัญของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน จะส่งหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม เพื่อกระทบไหล่กับธุรกิจชั้นนำและผู้นำทางการเมืองในดาวอส

ด้านเจเรมี เจอร์เกนส์ กรรมการผู้จัดการดับเบิลยูอีเอฟ มองว่า เบื้องหลังเศรษฐกิจที่ซับซ้อน ทั้งนโยบายของธนาคารกลางและหนี้สินที่เพิ่มขึ้น อาจเป็นวาระการประชุมที่สำคัญด้วย

“สองภูมิภาคที่มีผู้เข้าร่วมประชุมปีนี้มากขึ้นมาจากแถบละตินอเมริกาและเอเชีย สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างของเศรษฐกิจโลก” เจอร์เกนส์ กล่าว

เจ้าหน้าดับเบิลยูอีเอฟ ระบุ มีผู้บริหารธนาคาร บริษัทประกัน บริษัทลงทุน และบริษัทการเงินอื่น ๆ ราว 530 แห่ง เข้าร่วมงานประชุมที่ดาวอสในปีนี้ ซึ่งหนึ่งงานประชุมสำคัญวันที่ 17 ม.ค. เป็นการประชุมแบบปิดของผู้บริหารบริษัททางการเงิน ซึ่งจะมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารจากธุรกิจธนาคาร ตลาด ประกัน และการจัดการสินทรัพย์เข้าร่วมมากกว่า 100 คน
 

ซี. เอส. เวนคตริษนันท์ ซีอีโอบาร์เคลย์ส และรอย กอรี ซีอีโอแมนูไลฟ์ ไฟแนนเชียล บริษัทประกันแคนาดา เป็นประธานร่วมในการประชุมหัวข้อดังกล่าว ซึ่งจะโฟกัสที่การเผชิญความเสี่ยงท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่มั่นคงของเศรษฐกิจมหภาค และเทคโนโลยีดิสรัปชัน

แอนนา มาร์กส์ ประธานดีลอยท์ โกลบอล ตอบรอยเตอร์ผ่านอีเมลว่า “ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง, ความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ความกังวลทางเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อนโยบายรัฐบาลและการตัดสินใจต่าง ๆ การประชุมนี้จะมีบทบาทสำคัญต่อปัญหาเหล่านั้น”

ด้านแคเรน แฮร์ริส กรรมการผู้จัดการแมคโคร เทรนด์ กรุ๊ป ของเบนแอนด์คอมพานี มองว่า ปี 2567 เป็นปีที่เน้นให้ความสำคัญเศรษฐกิจในระยะยาว

 การเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ระบุว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับการเติบโตช่วงครึ่งทศวรรษที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 30 ปี โดยเวิลด์แบงก์กล่าวในรายงาน “แนวโน้มเศรษฐกิจโลก” ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร(9 ม.ค.)ว่า การเติบโตทั่วโลกคาดว่าจะชะลอตัวเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันในปี 2567 ลดลงเหลือ 2.4% จาก 2.6% ในปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.7% ในปี 2568

รายงานของเวิลด์แบงก์ ระบุว่าแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้เมื่อเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 แต่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นจะนำมาซึ่งความท้าทายใหม่ในระยะสั้น ส่งผลให้เศรษฐกิจส่วนใหญ่มีแนวโน้มเติบโตช้าในปี 2567 และ 2568 มากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมา

“ไอฮัน โคเซ” รองหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกและผู้อำนวยการกลุ่ม Prospects กล่าวกับซีเอ็นบีซีว่า “สงครามในยุโรปตะวันออก กรณีที่รัสเซียบุกยูเครน ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในตะวันออกกลาง อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อราคาพลังงานที่อาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจ”

เวิลด์แบงก์ ระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบหนักที่สุดในระดับภูมิภาค การเติบโตในปี 2567 คาดว่าจะอ่อนแอที่สุดในอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชียกลาง และเอเชียแปซิฟิก โดยสาเหตุหลักมาจากการขยายตัวที่ช้าลงของเศรษฐกิจจีน

“การเติบโตในระยะสั้นจะยังคงอ่อนแอ ส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ยากจนที่สุด ติดกับดักหนี้ โดยมีระดับหนี้สินมหาศาลและมีปัญหาการเข้าถึงอาหารที่ไม่เอื้ออำนวยสำหรับประชากรประมาณเกือบ 1 ใน 3 คน” รายงานของเวิลด์แบงก์ระบุ