เจนZ-มิลเลนเนียล นักสะสมรุ่นใหม่ สนใจประมูลงานศิลปะ-วัตถุโบราณเพิ่ม 65%

เจนZ-มิลเลนเนียล นักสะสมรุ่นใหม่  สนใจประมูลงานศิลปะ-วัตถุโบราณเพิ่ม 65%

"เจนZ-มิลเลนเนียล" เป็นนักสะสมรุ่นใหม่ที่เข้ามาในตลาดการประมูลงานศิลปะมากขึ้น 65% โดยใช้เงินเฉลี่ย 2 ล้านบาทในปี 66 ไปกับการสะสมงานศิลปะ-วัตถุโบราณ มูลค่าตลาดการประมูลงานศิลปะออนไลน์จะเติบโตแตะ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2573 จากนักประมูลรุ่นใหม่ที่เพิ่มขึ้น

Keypoint:

  • นักสะสมรุ่นใหม่ ใช้เงินเฉลี่ย 2 ล้านบาท ไปกับการสะสมงานศิลปะและวัตถุโบราณ
  • การประมูลงานศิลปะกำลังเปลี่ยนไปสู่โลกดิจิทัลและออนไลน์ คาดว่ามูลค่าตลาดจะเติบโตแตะ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2573
  • บริษัทประมูลกำลังเพิ่มการลงทุนด้านดิจิทัล เพื่อดึงดูดนักสะสมงานศิลปะรุ่นเยาว์

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นักสะสมรุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียหันมาสะสมงานศิลปะที่มีมูลค่า และกลายเป็นลูกค้าหลักของบริษัทประมูลระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการซื้อผ่านทางช่องทางออนไลน์

 

แม้จะค่อนข้างใหม่ในตลาด แต่ Gen Z หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 12- 27 ปี และคนรุ่นมิลเลนเนียลที่มีอายุ 28-43 ปี กลับมียอดการใช้จ่ายในการซื้องานศิลปะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผลการสำรวจจาก Basel และ UBS สะท้อนว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยด้านศิลปะและโบราณวัตถุของคนรุ่นมิลเลนเนียลที่มีรายได้สูงในเอเชีย อยู่ที่ประมาณ 59,785 ดอลลาร์ หรือราวๆ 2 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่ม Gen Z อยู่ที่ 56,000 ดอลลาร์ ราวๆ 1.9 ล้านดอลลาร์

นำโดยประเทศจีนที่คนรุ่นมิลเลนเนียล ใช้เงินไปการการซื้องานศิลปะและโบราณวัตถุมากที่สุด ตามมาด้วยฮ่องกงและสิงคโปร์

รวมทั้งนักสะสมจากประเทศจีน มียอดใช้เงินเฉลี่ยสูงสุดที่ 241,000 ดอลลาร์ หรือราว 8.4 ล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ตามมาด้วยสิงคโปร์ที่ 38,000 ดอลลาร์ หรือราว 1.3 ล้านบาท และไต้หวันที่ 31,000 ดอลลาร์ หรือราว 1 ล้านบาท

นักสะสมสัญชาติเอเชียเพิ่มขึ้นในปี 2566

บริษัทประมูลระดับนานาชาติชั้นนำอย่าง ซัทเทบีส์ (Sotheby's) บริษัทจัดการประมูลผลงานศิลปะสัญชาติอังกฤษ และ ฟิลลิปส์ (Phillips Auction) บริษัทประมูลเก่าแก่จากประเทศอังกฤษยังได้รายงานว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มียอดซื้อจากนักสะสมรุ่นใหม่ชาวเอเชียเพิ่มขึ้น

รายงานประจำปีล่าสุดของฟิลลิปส์ แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลคิดเป็นเกือบหนึ่งในสามของผู้ซื้อจากทั่วโลก และกลุ่ม Gen Z เข้าสู่ตลาดนักสะสมเพิ่มขึ้น 65% ในปี 2566 ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ลูกค้ารุ่นมิลเลนเนียลคิดเป็นเกือบ 40% ในตลาดการประมูลฝั่งเอเชียแปซิฟิก และ 20% ในสหรัฐ ยุโรป และตะวันออกกลาง

ด้านซัทเทบีส์เผยรายงานของ ในปี 2566 ระบุว่ากิจกรรมการประมูลของนักสะสมรุ่นเยาว์เพิ่มขึ้นเป็น 30% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 จาก 6% ในปี 2561

ความชอบสวนทางนักสะสมรุ่นเก๋า

ในขณะเดียวกัน นักสะสมรุ่นใหม่กลับมีแนวคิดและการเลือกซื้อที่แตกต่าง ตรงกันข้ามกับความชอบของคนรุ่นเก่า โดยเมื่อปีที่แล้ว ลูกค้าที่เป็นกลุ่มมิลเลนเนียลให้ความสนใจไปกับงานประติมากรรม ศิลปะจัดวาง ภาพถ่าย และภาพยนตร์หรือวิดีโออาร์ต ในขณะที่ Gen Z ชอบงานศิลปะดิจิทัลและภาพพิมพ์

เอริน เรมิงตัน (Erin Remington) ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการดูแลจัดการของ Saatchi Art ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายศิลปะโดยเฉพาะ  เผยว่านักสะสมรุ่นมิลเลนเนียลสนใจงานศิลปะประเภท figurative work หรือชิ้นงานศิลปะที่มีความหมายแบบเปรียบเทียบ หรืออุปมาอุปไมย และยังแสดงความสนใจในงานศิลปะ Landscapeแบบ Surrealism  หรือเหนือความเป็นจริง 

สำหรับนักสะสมรุ่นใหม่ การซื้อของสะสมจากผลงานของศิลปินบลูชิป หรือผู้ที่มีชื่อเสียงในอุตสาหกรรม ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ซึ่งมีนักสะสมอายุน้อยเพียง 11% เท่านั้นที่มองว่าการสะสมงานศิลปะบลูชิพเป็นเรื่องสำคัญ

เน้นประมูล 'กระเป๋าถือ-นาฬิกา-ภาพพิมพ์'

นักสะสม Gen Z มักจะซื้องานศิลปะจากช่องทางออนไลน์ โดยมีความสนใจในกระเป๋าถือ นาฬิกา และภาพพิมพ์ ซึ่งเป็นงานศิลปะที่สร้างขึ้นโดยใช้หมึกบนไม้หรือหินแกะสลักแล้วกดบนกระดาษ

แม้ว่าการประมูลงานศิลปะจะกลับไปสู่สถานการณ์เกือบปกติ เหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด แต่การประมูลผ่านช่องทางออนไลน์ก็ยังคงดำเนินต่อไป ทำให้คาดว่าตลาดการประมูลงานศิลปะออนไลน์จะเติบโตเป็น 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 จาก 9.72 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ตามรายงานของ Grand View Research

บริษัทประมูลขยายตลาดดิจิทัล

จำนวนการประมูลงานศิลปะออนไลน์ก็เพิ่มขึ้นในปี 2566 เนื่องจากกลุ่มนักสะสมทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง และผู้ที่มีสภาพคล่องทางการเงิน เริ่มหันมามีความสนใจในผลงานศิลปะมากขึ้น ขณะที่การเข้าชมการประมูลสดลดลงมากเป็นประวัติการณ์

หลังการระบาดใหญ่ โลกการประมูลงานศิลปะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สู่”ดิจิทัล" ทำให้การประมูลในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 กว่า 80% ของการประมูลเป็นการประมูลผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนั้นเหล่าบริษัทประมูลกำลังเร่งการลงทุนในพื้นที่ดิจิทัลเพื่อดึงดูด กลุ่มนักสะสมอายุน้อยที่ "เข้าใจเรื่องดิจิทัลและเชื่อมโยงกับตลาดการประมูลทั่วโลกมากขึ้น"

อ้างอิง CNBC