มองอะไรในปีแห่งการเลือกตั้งทั่วโลก 2567

มองอะไรในปีแห่งการเลือกตั้งทั่วโลก 2567

“บิล เกตส์” มองว่าปีนี้จะมีปัจจัยที่ทำให้ทางข้างหน้าเกิดความหักเหอันสำคัญยิ่งสำหรับชาวโลก หนึ่งในปัจจัยใหญ่ได้แก่ การเลือกตั้งทั่วไปในกว่า 60 ประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมกันเกือบครึ่งของชาวโลกทั้งหมด

เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป ณ ที่ใดมักสื่อให้เข้าใจว่า ที่นั่นใช้กติกาตามแนวคิดประชาธิปไตยเป็นฐานของการอยู่ร่วมกันของสมาชิกในชุมชน หรือประเทศ และสมาชิกมีอิสระที่จะเลือกใครก็ได้ให้เป็นตัวแทนของตนในกิจการบริหารชุมชน หรือประเทศนั้น

แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า การเลือกตั้งมิได้หมายความว่าประชาชนมีอิสระที่จะเลือกใคร หรือมีตัวเลือกมากพอเสมอไป หรือมีกติกาที่เป็นธรรม และโปร่งใสในกระบวนการเลือกตั้ง ในหลายประเทศ ประชาชนตกอยู่ในสภาพมัดมือชกแบบสัมบูรณ์

นิตยสารไทม์เพิ่งนำความเป็นไปในประเทศต่างๆ ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปแบบให้คะแนน 0 ถึง 1 มาเสนอ คะแนน 0 หมายถึงความไร้อิสระของประชาชนแบบสัมบูรณ์ และ 1 หมายถึงมีความอิสระ และเป็นธรรม หรือเป็นประชาธิปไตยตามอุดมการณ์ ปรากฏว่าไม่มีประเทศใดได้คะแนนเต็ม 1

เบลเยียมได้คะแนนสูงสุดคือ 0.97 ตามด้วยฟินแลนด์ 0.96 ทั้งคู่อยู่ในยุโรป และมีการพัฒนาก้าวหน้ามากทั้งทางสังคม และเศรษฐกิจ ส่วนประเทศที่ได้ 0 คือ ซีเรีย มาลี ชาด และซูดานใต้ ประเทศเหล่านี้มีสภาพเป็นเผด็จการแบบสัมบูรณ์บ้าง

ตกอยู่ในภาวะรัฐล้มเหลวบ้างซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกาและมีการพัฒนาในระดับล้าหลังมาก การเลือกตั้งเป็นเพียงการจัดกิจกรรมทำลายทรัพย์เพื่อสร้างภาพเท่านั้น

ในบรรดาประเทศที่จะมีการเลือกตั้งในปีนี้ อินเดีย (คะแนน 0.53) สหรัฐ (0.83) ปากีสถาน (0.3) รัสเซีย (0.25) และเกาหลีเหนือ (0.14) มีอาวุธนิวเคลียร์ที่สามารถถล่มโลกได้ไว้ในครอบครอง แต่มีความแตกต่างกันมากทั้งในระดับของการพัฒนาและความเป็นประชาธิปไตย  สหราชอาณาจักร (0.93) อาจมีการเลือกตั้งด้วย แต่ยังไม่มีกำหนดแน่นอนเนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลปัจจุบันอาจอยู่ต่อไปได้จนถึงสิ้นเดือนม.ค.2568

ในบรรดาประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐถูกจับตามองมากที่สุด เนื่องจากเป็นอภิมหาอำนาจที่มีความสามารถทำลายโลกได้แบบแทบในพริบตา และเป็นผู้นำของค่ายโลกตะวันตกในสงครามเย็น ยิ่งกว่านั้น การเลือกตั้งอาจส่งผลให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง 

คาดกันเขาจะทำความปั่นป่วนสูงมากทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ภายในเขาอาจทำให้ความแตกแยกที่สูงมากอยู่แล้วในปัจจุบันผันไปเป็นสงครามกลางเมือง ภาวะภายในจะจูงใจให้ฝ่ายปฏิปักษ์ในสงครามเย็นฉวยโอกาสรุกไล่ ซึ่งจะไม่มีผลดีต่อชาวโลกโดยทั่วไปแน่นอน

ในบรรดาประเทศละตินอเมริกา ซึ่งเป็นแดนประชานิยมแบบเลวร้าย น่าสังเกตว่ามีความแตกต่างกันมากเนื่องจากอุรุกวัยได้คะแนนสูงถึง 0.93 ส่วนเวเนซุเอลาได้เพียง 0.11 

อุรุกวัยไม่มีน้ำมันปิโตรเลียม และทรัพยากรธรรมชาติระดับมหาศาลเช่นเดียวกับเวเนซุเอลา แต่มีการพัฒนาในระดับสูง ไม่ใช้นโยบายประชานิยมแบบเลวร้าย และมีความโปร่งสูงสุดในละตินอเมริกา

(ปี 2565 ได้คะแนน 74 จาก 100 ซึ่งสูงกว่าสหรัฐ และเทียบได้กับประเทศในยุโรป) ส่วนเวเนซุเอลาใช้ประชานิยมแบบเลวร้าย และมีความโปร่งในระดับต่ำสุด (14 จาก 100 คะแนน) ตัวอย่างนี้น่าจะบ่งชี้เบื้องต้นว่า ถ้าสังคมมีความโปร่งใส จะทำอะไรก็มักไม่ประสบอุปสรรคใหญ่หลวง

ไทยไม่มีการเลือกตั้งทั่วไปในปีนี้ จึงไม่มีข้อมูลในนิตยสารไทม์ สำหรับการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว องค์กรเอกชนแห่งหนึ่งประเมินว่าน่าจะให้คะแนน 0.29 ซึ่งเท่ากับของแอลจีเรียในแอฟริกาตามนิตยสารไทม์

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังการเลือกตั้งปี 2544 ซึ่งใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่ามีความเป็นประชาธิปไตยใกล้อุดมการณ์ที่สุด เป็นที่ประจักษ์ว่าประชาธิปไตยแบบไทยมี 5 องค์ประกอบหลักคือ อัตตาธิปไตย (เจ้าของพรรคเป็นผู้สั่งเพียงผู้เดียว) ธนาธิปไตย (ใช้เงินนำหน้าโดยเฉพาะการซื้อเสียง) โจราธิปไตย (โกง) ญาติกาธิปไตย (เพื่อญาติและพวกพ้อง) และประชานิยมธิปไตย (ใช้ประชานิยมแบบเลวร้าย)

ทหารยึดอำนาจ 2 ครั้งหลังปี 2544 ส่งผลให้ประชาธิปไตยแบบไทยชะงักไปบ้างเป็นบางส่วน อย่างไรก็ดี “ปรากฏการณ์ชั้น 14” บ่งชี้ว่า มันกำลังกลับมาแบบเร่งเร้า และเข้มข้นจนไม่มีใครกล้ายับยั้ง

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์