'ยูโอบี' เปิด 6 เทรนด์สู่เป้าหมายเน็ตซีโร่

'ยูโอบี' เปิด 6 เทรนด์สู่เป้าหมายเน็ตซีโร่

ยูโอบีเผย 6 เทรนด์เน็ตซีโร่ภายใต้เมกะเทรนด์ใหญ่ การปฏิวัติอุตสาหกรรมภายใน 2050 ชี้ไม่ได้มีแต่ความเสี่ยงสภาพอากาศ แต่อาเซียนยังมีโอกาส 1 ล้านล้านดอลลาร์จากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจใหม่ ย้ำเน็ตซีโร่ทำได้จริงต้องเริ่มที่การเข้าใจและวางนโยบายของรัฐบาล

“กรุงเทพธุรกิจ” จัดงานสัมมนา Sustainability Forum 2024 ระหว่างวันที่ 13-14 ธ.ค.2566 โดยมีการนำเสนอแนวทางการเงินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของผู้บริหารบริษัทชั้นนำ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมธนาคารในภูมิภาค

เมลิสซา มอย หัวหน้าฝ่ายธุรกิจเพื่อความยั่งยืน สำนักงานความยั่งยืนของกลุ่มคอร์ปอเรต, ธนาคารยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า “เมกะเทรนด์” ที่หลายฝ่ายกำลังพูดถึงซึ่งรวมถึงในการประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของสหประชาชาติ (COP28) ที่เพิ่งจบลงไปก็คือ โลกกำลังจะเกิดการปฏิวัติอุสาหกรรมครั้งใหญ่ภายใน 27 ปีข้างหน้านี้ หรือภายในปี 2050 ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนจากยุคของพลังงานฟอสซิลเกือบทั้งหมดไปสู่ยุคของเศรษฐกิจเน็ตซีโร่ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานหมุนเวียน รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) พลังงานไฮโดรเจน เศรษฐกิจหมุนเวียน และอื่นๆ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 6 เทรนด์สำคัญๆ ได้ดังนี้

1.การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะรุนแรงขึ้น

แม้ว่าจะมีการพูดถึงปัญหามาหลายทศวรรษแล้ว แต่โลกกลับยังไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ตามเป้า เช่นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นตามมา

2.โอกาสด้านความยั่งยืน 1 ล้านล้านดอลลาร์ในอาเซียน

เน็ตซีโร่ไม่ได้หมายถึงวันสิ้นโลกที่ภาคธุรกิจกำลังจะตายเพราะการปรับตัว แต่ยังหมายถึง “โอกาส”เนื่องจากยังมีอีกหลายภาคส่วนที่จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านทั้งในแง่การใช้พลังงานหมุนเวียนและในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งมีมูลค่ารวม 1 ล้านล้านดอลลาร์ในอาเซียน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 หมวดธุรกิจหลักๆ คือ ทรัพยากรและพลังงานที่ยั่งยืน, อาหารและเกษตร, เมืองสีเขียวและเชื่อมต่อกัน และอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ
 

3.การจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งห่วงโซ่

ปัจจุบันทิศทางของบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งเปลี่ยนไปสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมแบบเป็นองค์รวมทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ครอบคลุมจนถึงพาร์ทเนอร์ที่ทำธุรกิจด้วย

4.การเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย กับมาตรการ CBAM ของยุโรป

มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ที่ออกมาในปีนี้ ถือเป็นปัจจัยที่เป็นรูปธรรมอย่างมากในการกดดันให้ภาคธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวหากจะค้าขายกับยุโรป ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทจำนวนมากในอาเซียนที่เป็นซัพพลายเออร์ในยุโรปและสหรัฐ

5.ยุคที่ความยั่งยืนต้องโปร่งใสขึ้น และ 6.นักลงทุนจะตั้งคำถาม ESG ละเอียดขึ้น

การประกาศเป้าหมายสู่เน็ตซีโร่จะไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะนักลงทุนจะตั้งคำถามเจาะลึกมากขึ้นว่า ธุรกิจจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้ อย่างไร มีแผนการเปลี่ยนผ่านอะไร และจะดำเนินการเปลี่ยนผ่านอย่างไรบ้าง
 

สำหรับบทบาทของสถาบันการเงินที่จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายเน็ตซีโร่ได้อย่างไร และมีความกังวลต่อเรื่องนี้หรือไม่นั้น ผู้บริหารยูโอบีมองว่าเป็นโอกาสของการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจมากกว่าจะเป็นเรื่องน่ากังวล ซึ่งต้องขับเคลื่อนไปทั้งระบบแบบอีโคซิสเต็มโดยมีรัฐบาลกำหนดทิศทางที่ชัดเจน และนโยบายสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมออกมา เพื่อให้สถาบันการเงินในฐานะผู้สนับสนุนด้านเงินทุนเดินตามได้ถูก และสามารถเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจและระบบเศรษฐกิจจริง

“เป้าหมายเน็ตซีโร่เป็นเรื่องที่ต้องเดินไปทั้งอีโคซิสเต็มจึงจะเกิดขึ้นได้จริง รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายของไทยต้องรู้และเข้าใจ จากนั้นจึงกำหนดแนวทางและนโยบายสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้เราและภาคเศรษฐกิจจริงเดินตามได้อย่างถูกต้อง” เมลิสซา มอย กล่าว