ธุรกิจกาแฟเอเชียแข่งเดือด ‘อินเดีย-เวียดนาม’ตลาดใหญ่

ธุรกิจกาแฟเอเชียแข่งเดือด ‘อินเดีย-เวียดนาม’ตลาดใหญ่

อินเดียและเวียดนามจ่อเป็นผู้นำด้านการบริโภคกาแฟในเอเชียภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งการแข่งขันอย่างดุเดือดในธุรกิจกาแฟของภูมิภาคนี้ ส่งผลให้เชนร้านกาแฟหันมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ กันอย่างคึกคักเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด

ข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ ระบุว่า ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเตรียมเร่งแก้ไขผลกระทบจากคาเฟอีนที่เพิ่มขึ้น อินเดียและเวียดนามกลับเป็นประเทศที่บริโภคกาแฟมากเป็นอันดับต้น ๆ โดยคาดว่าอินเดียจะบริโภคกาแฟเพิ่มขึ้น 37% ส่วนเวียดนามบริโภคมากขึ้น 32% ภายในปี 2570

ในการคาดการณ์นี้  ยูโรมอนิเตอร์นำปัจจัยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี), การรับรู้ของผู้บริโภคและเยาวชน และการเพิ่มขึ้นของประชากร มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา  ตัวอย่างเช่น อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกปีนี้ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่า อินเดียจะเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก ภายในปี 2570

“นาธานาเอล ลิม” ผู้จัดการฝ่ายข้อมูลเชิงลึกด้านเครื่องดื่มของยูโรมอนิเตอร์ เอเชีย ให้ความเห็นว่า การดื่มกาแฟสัมพันธ์กับรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและการขยายตัวของเมืองด้วยเช่นกัน

ราชากาแฟ

เวียดนามกลายเป็น “ราชาแห่งกาแฟ” เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากเป็นผู้ส่งออกกาแฟโรบัสต้ารายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ปัจจุบันกาแฟถือเป็นการส่งออกทางวัฒนธรรมด้วย เช่น การจำหน่ายกาแฟดริปสไตล์โดดเด่นและกาแฟนมเย็น (ca phe sua da) ของเวียดนาม กลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

ซอฟต์พาวเวอร์ ดังกล่าวเกิดขึ้นจากตลาดภายในของเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่คนท้องถิ่นดื่มกาแฟหลากหลายชนิด แต่ยังคงรักษาวัฒนธรรมร้านกาแฟนั่งดื่มชิวๆ เอาไว้ด้วย

“ดัง เดือง ไฮ” ผู้ช่วยประธานเชนร้านกาแฟ “ตรุง เหงียน” (Trung Nguyen) ให้สัมภาษณ์กับนิกเคอิเอเชียว่า “กาแฟคือพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์”

ปีนี้ ตรุงเหงียนเริ่มรุกตลาดต่างประเทศ ด้วยการเปิดร้านกาแฟในจีนและสหรัฐ  ซึ่งดัง บอกว่า เครื่องดื่มพรีเมียมเป็นเหมือนสัญลักษณ์ความรุ่งเรืองของเอเชีย ไม่ใช้เพราะแบรนด์เอเชียสามารถเจาะตลาดใหม่ได้อย่างเดียว แต่เป็นเพราะพฤติกรรมดื่มกาแฟของภูมิภาคเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่แซงหน้าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศตะวันตก

ธุรกิจกาแฟแข่งขันสูง

อย่างไรก็ตาม ลิม กล่าวผ่านการประชุมกาแฟนานาชาติแห่งเอเชีย ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 ธ.ค. ในนครโฮจิมินห์ ว่า “ผู้คนดื่มกาแฟมากขึ้น และยินดีจ่ายเพิ่มอีก แต่การแข่งขันในอุตสาหกรรมกาแฟที่สูงขึ้น ผลักดันให้หลายบริษัทพยายามใช้โซลูชันสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความตื่นเต้นให้กับลูกค้าทั่วทั้งเอเชีย”

ยกตัวอย่างเช่น การรับและจัดส่งสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน โดยปกติเติบโตในช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อลดการติดต่อกันแบบตัวต่อตัว แต่เทรนด์นี้ยังคงเติบโตต่อเนื่องหลังการแพร่ระบาดของโควิด เนื่องจากธุรกิจหลายแห่งยังคงเสนอรีวอร์ดต่าง ๆ ให้ผู้ใช้งาน เพื่อโปรโมตแอปฯ และอาจรวบรวมข้อมูลผู้ใช้หลายล้านคน ซึ่งร้านกาแฟก็หันไปใช้แอปฯ เหล่านั้นเช่นกัน

ขณะที่ผู้จำหน่ายกาแฟหลายรายกำลังปรับเปลี่ยนเมนูเครื่องดื่ม ให้มีหลายรสชาติให้เลือก ตั้งแต่กาแฟมะพร้าว ไปจนถึงกาแฟ pepper peach ซึ่งความพยายามเหล่านี้ ช่วยให้ธุรกิจกาแฟในเวียดนามมีอิทธิพลมากกว่าเชนร้านกาแฟต่างประเทศ

เชนร้านกาแฟรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่างสตาร์บัคส์ ยังคงตามหลังเชนร้านกาแฟ Highlands ในเวียดนาม และตามหลังร้านกาแฟ Luckin ในจีน

“คิม คนุดเซน” หัวหน้าฝ่ายขาย จาก GEA ซัพพลายเออร์อุปกรณ์เครื่องจักร เผยว่า ธุรกิจท้องถิ่นเวียดนามกำลังผลิตกาแฟสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น และยกระดับห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งไม่ใช่แค่การยกระดับเพาะปลูกเมล็ดกาแฟเท่านั้น

ด้าน “เหวียน ฮวย ตาม อันห์” ประธานโฆษก JDE บริษัทผลิต-จำหน่ายเครื่องชงกาแฟ เผยว่า ผู้ดื่มกาแฟฉลาดขึ้น ทำให้ธุรกิจกาแฟต้องพยายามปรับตัว “คนหนุ่มสาวรู้ว่าจะลิ้มรสกาแฟอย่างไร และจะมองหากาแฟคุณภาพจากที่ใด” เหวียน กล่าว