อัพไซเคิลสู่ ‘ธุรกิจใหญ่’ ‘กากกาแฟ’ ทำได้มากกว่าที่คิด!

อัพไซเคิลสู่ ‘ธุรกิจใหญ่’ ‘กากกาแฟ’ ทำได้มากกว่าที่คิด!

‘ไบโอ-บีน’ บริษัทสัญชาติอังกฤษ เป็นธุรกิจที่รีไซเคิล 'กากกาแฟ' รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยใช้กากกาแฟจำนวนหลายพันตันต่อปี เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

ในบทความก่อนหน้านี้ ผู้เขียนพูดถึงประเด็นการนำ กากกาแฟ ใช้แล้วมาแปรรูปหรือรีไซเคิลในรูปแบบต่าง ๆ จากของทิ้งมาต่อยอดเป็นของใช้สารพัดประโยชน์ เช่น ทำปุ๋ยต้นไม้, ผสมเป็นวัสดุเพาะเห็ด,ไล่ยุงและแมลงต่าง ๆ และดูดซับกลิ่นไม่พึงประสงค์ ฯลฯ ส่วนใหญ่นิยมทำใช้กันตามครัวเรือนมานานแล้ว หรือไม่ก็ทำเป็นธุรกิจขนาดเล็ก

การเปลี่ยนขยะจากกากกาแฟให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นอกจากจะช่วยประหยัดทุนทรัพย์และสร้างเสริมรายได้แล้ว ยังมีประโยชน์ด้านการ 'ลดโลกร้อน' ได้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากกากกาแฟเมื่อนำไปฝังกลบ มีอัตราการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์เสียอีก

สัปดาห์นี้ขอขยับสเกลธุรกิจขึ้นไปให้ใหญ่กว่าเดิม เป็นการนำกากกาแฟมา 'อัพไซเคิล' เป็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้นไปอีกในระดับอุตสาหกรรม ผ่านทาง 'บริษัทสตาร์ทอัพ' จากหลากหลายประเทศ

อัพไซเคิล (upcycle) เป็นศัพท์ค่อนข้างใหม่ในวงการธุรกิจ มาจากคำว่า อัพเกรด (upgrade) หมายถึงการทำให้ดีขึ้นหรือพัฒนาให้ดีขึ้น  ส่วนคำว่า รีไซเคิล (recycle) หมายถึงการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วมาแปรรูปใหม่เพื่อกลับเข้าสู่วงจรการใช้อีกครั้ง พอรวมกันแล้วก็หมายถึง การนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วหรือของทิ้งเป็นขยะ มาแปลงให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพและมูลค่าสูงขึ้น

อัพไซเคิลสู่ ‘ธุรกิจใหญ่’ ‘กากกาแฟ’ ทำได้มากกว่าที่คิด!

'โกรไซเคิล' บริษัทสตาร์ทอัพจากอังกฤษ  ใช้กากกาแฟมาเป็นส่วนผสมหลักในการทำก้อนเพาะเห็ด  (ภาพ : instagram.com/grocycle_project/)

@ Grocycle และ Upcycle

'โกรไซเคิล' (Grocycle) เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพจากอังกฤษ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2011 ที่เมืองเมืองพรีมัธ ใช้กากกาแฟมาเป็นส่วนผสมหลักในการทำก้อนเพาะเห็ด กาแฟกาแฟก็มาจากการตระเวนเก็บตามร้านกาแฟในเมือง นอกจากจะก่อตั้งเป็นฟาร์มเพาะเห็ดหลากหลายชนิดจากกากกาแฟแล้วส่งจำหน่ายตามร้านอาหารและภัตตาคารอีกด้วย แถมเปิด 'เวิร์คช้อป' อบรมการเพาะเห็ดจากกากกาแฟให้กับบุคคลทั่วไปด้วย และจัดจำหน่ายก้อนเชื้อเห็ดนานาชนิด

หลังจากก่อตั้งมา 10 กว่าปี ปรากฎว่า โกรไซเคิลนำกากกาแฟไปแปรรูปเป็นวัสดุเพาะเห็ดทั้งสิ้น 62,337 กิโลกรัม มีคนมาเรียนวิธีเพาะเห็ดรูปแบบนี้ประมาณ 1,000 คน 

อีกบริษัทชื่อ 'อัพไซเคิล' (UpCycle)  จากฝรั่งเศส เน้นเพาะเห็ดนางรมจากกากกาแฟ ในสัปดาห์หนึ่ง ๆ ใช้กากกาแฟไปประมาณ 2 ตัน หรือราว 1,000 กิโลกรัม ส่วนใหญ่ได้มาจากกรุงปารีส

อัพไซเคิลสู่ ‘ธุรกิจใหญ่’ ‘กากกาแฟ’ ทำได้มากกว่าที่คิด! 'ซิงเท็กซ์ อินดัสเตรียล' นำกากกาแฟมาเป็นหนึ่งส่วนผสมผลิตเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป,ด้าย และผ้าผืน  (ภาพ : singtex.com/yarn/)

@ Singtex® Industrial

'ซิงเท็กซ์ อินดัสเตรียล' Singtex® Industrial แบรนด์ใหญ่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอจากไต้หวันที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ เป็นบริษัทที่นำกากกาแฟมาเป็นหนึ่งส่วนผสมผลิตเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป, ด้าย และผ้าผืน โดยใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเอง ชื่อว่า 'สคาเฟ' (Scafé) เป็นเส้นใยผ้าที่เกิดจากของสองสิ่งที่นำมาอัพไซเคิล คือ กากกาแฟผสมร่วมกับพลาสติกโพลีเอทธิลีน มีคุณสมบัติในการดูดซับกลิ่น แห้งไว และป้องกันแสงยูวีได้ดี

นอกจากนั้น ยังผลิตสารสกัดน้ำมันจากกากกาแฟ ซึ่งนำไปใช้ในธุรกิจเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลผิว เช่น สบู่

แต่ละวันรถบรรทุกซิงเท็กซ์ จะวิ่งไปทั่วกรุงไทเป เพื่อเก็บกากกาแฟซึ่งเป็นขยะเหลือทิ้งตามร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น และร้านกาแฟสตาร์บัคส์ วันละไม่ต่ำกว่า 500 กิโลกรัม

อัพไซเคิลสู่ ‘ธุรกิจใหญ่’ ‘กากกาแฟ’ ทำได้มากกว่าที่คิด! แก้วกาแฟแบบรียูสของบริษัทคัฟฟีฟอร์ม ผลิตจากกากกาแฟกับเศษไม้ เป็นงานดีไซน์ที่จัดว่าสวยทีเดียว  (ภาพ : facebook.com/kaffeeform)

@ Kaffeeform

'คัฟฟีฟอร์ม' (Kaffeeform) เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพร่วมลงทุนจากเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2009 หลัก ๆ เน้นนำกากกาแฟกับเศษไม้มาอัพไซเคิลเป็นงานดีไซน์ในแบบ 'ภาชนะรียูส' เช่น แก้ว, ฝาแก้ว และถาด ที่สามารถนำกลับไปใช้ในธุรกิจร้านกาแฟได้อีกรอบ ถือเป็นแนวคิดสร้างสรรค์มาก ๆ ในการนำของเสียจากธุรกิจหนึ่งมาแปรรูปกลับมาเป็นของใช้ใหม่ในธุรกิจนั้น ๆ

แรกเริ่มนั้น คัฟฟีฟอร์ม เน้นผลิตแก้วแบบรียูสจากกากกาแฟก่อนเป็นอันดับแรก เป้าหมายนั้นเกิดจากความตั้งใจที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งใช้ประโยชน์จากกากกาแฟซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ที่หาได้ง่าย เป็นทางเลือกแทนแก้วพลาสติก

ส่วนการออกแบบก็โฟกัสไปที่ความทนทาน, แข็งแรง และยั่งยืน สำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน

อัพไซเคิลสู่ ‘ธุรกิจใหญ่’ ‘กากกาแฟ’ ทำได้มากกว่าที่คิด!

จี้ห้อยคอทำจากกากกาแฟ,โลหะเงินสเตอร์ลิงซิลเวอร์ และทอง 18K เป็นฝีมือการออกแบบของโรสซาเลีย แม็คมิลแลน  (ภาพ : notjustalabel.com)

@ Rosalie McMillan

'โรสซาเลีย แม็คมิลแลน' (Rosalie McMillan) นักออกแบบเครื่องประดับจากลอนดอน กับคอลเล็กชั่นใหม่ล่าสุดที่ชื่อว่า 'จาวา โอเร่' (Java Ore) เป็นเครื่องประดับสำหรับสุภาพสตรีจำพวก จี้ห้อยคอ, กำไล และต่างหู ทำจากทอง 18k ผสมกับโลหะเงินสเตอร์ลิงซิลเวอร์ที่อยู่ในรูปการรีไซเคิล ตามด้วยกากกาแฟที่เก็บรวบรวมจากลอนดอน กลายเป็นเครื่องประดับที่ทนทาน และเต็มไปความสวยงามอย่างน่าทึ่ง

เนื่องจากการออกแบบได้รับแรงบันดาลใจจากคุณสมบัติและการก่อรูปของกากกาแฟที่เผยให้เห็นความงามที่ซ่อนเร้นอยู่ โรสซาเลีย จึงตั้งคาแรคเตอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นผิวเครื่องประดับในคอลเล็กชั่นนี้ว่า เคอร์เฟส (curface)

อินสตาแกรมของโรสซาเลีย บอกว่า แต่ละชิ้นเป็นงานแฮนด์เมด ทำด้วยความใส่ใจในคุณภาพ และแต่ละชื้นมีเรื่องราวของตัวเอง

อัพไซเคิลสู่ ‘ธุรกิจใหญ่’ ‘กากกาแฟ’ ทำได้มากกว่าที่คิด! แบรนด์คัฟเฟ่ บูเอโน ในโคเปนเฮเกน อัพไซเคิลกากกาแฟให้เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มคอสเมติกจากธรรมชาติ  (ภาพ : facebook.com/kaffebueno1)

@ Kaffe Bueno

'คัฟเฟ่ บูเอโน' (Kaffe Bueno) เป็นบริษัทสตาร์ทอัพในโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ค ดูเผิน ๆ แล้วอาจคิดว่าทำธุรกิจร้านกาแฟ ใช่ครับ ก่อนหน้านี้หลัก ๆ เป็นเทรดเดอร์ค้ากาแฟและทำโรงคั่วกาแฟ ซึ่งนำเข้ากาแฟออร์แกนิคมาจากโคลอมเบีย แต่ตอนหลังหันมาอัพไซเคิลกากกาแฟใช้แล้วให้เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มคอสเมติกจากธรรมชาติ, อาหารแนวโภชนบำบัด และอาหารฟังก์ชัน

เป็นบริษัทที่โด่งดังมากในสแกนดิเนเวีย ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 2016 โดยนักธุรกิจเชื้อสายโคลอมเบีย 3 คน กวาดรางวัลธุรกิจสีเขียวมาแล้วมากมายในระดับนานาชาติ กับแนวคิด 'เคมีสีเขียว' ที่มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนากระบวนการและเทคโนโลยีทางเคมีให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอันเป็นแนวทางพัฒนาแบบยั่งยืน

ปีค.ศ. 2021 คัฟเฟ่ บูเอโน ได้รับเงินทุน 2.5 ล้านยูโรป (92 ล้านบาท) จากสภานวัตกรรมแห่งยุโรป เพื่อดำเนินการสร้าง 'โรงกลั่นชีวภาพจากกากกาแฟ' แห่งแรกของสแกนดิเนเวีย

อัพไซเคิลสู่ ‘ธุรกิจใหญ่’ ‘กากกาแฟ’ ทำได้มากกว่าที่คิด! บริษัทไบโอ-บีน  ผู้บุกเบิกวิธีเปลี่ยนขยะจากกากกาแฟให้เป็นพลังงานทางเลือก เช่น ถ่านกากกาแฟ  (ภาพ : facebook.com/biobeanltd)

@Bio-bean 

'ไบโอ-บีน' (Bio-bean) สตาร์ทอัพสัญชาติอังกฤษ ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 2013 เป็นผู้บุกเบิกวิธีเปลี่ยนขยะจากกากกาแฟให้เป็น 'พลังงานทางเลือก' เช่น  เปลี่ยนกากกาแฟ 7,000 ตันต่อปี ให้เป็นน้ำมันไบโอดีเซล B20 นำกลับมาเติมให้รถเมล์ในกรุงลอนดอน เมืองที่มีอัตราบริโภคกาแฟมากถึง 200,000 ตันต่อปี และต่อมา ได้อัพไซเคิลกากกาแฟให้เป็นเชื้อเพลิงแข็งได้สำเร็จ เช่น เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดและถ่านกากกาแฟ 

แน่นอนว่า ผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับไบโอ-บีน ก็คือ การผลิต 'เชื้อเพลิงแข็ง' จากกากกาแฟที่เก็บมาจากร้านกาแฟ, ร้านอาหาร และออฟฟิศต่าง ๆ ในลอนดอนนับร้อยแห่ง เพื่อจำหน่ายให้ครัวเรือนและอุตสาหกรรม ใช้ทดแทนฟืนหรือถ่านหิน เนื่องจากเชื้อเพลิงประเภทหลังนี้เมื่อมีการเผาไหม้เกิดขึ้นจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา สร้างมลพิษทางอากาศและส่งผลเสียหายต่อสุขภาพร่างกายด้วย

ในเว็บไซต์ของบริษัทบอกว่า ไบโอ-บีนเป็นบริษัทที่รีไซเคิลกากกาแฟใช้แล้วรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยรีไซเคิลจำนวนหลายพันตันต่อปีให้เป็น 'ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ' (Bio-Products)

อัพไซเคิลสู่ ‘ธุรกิจใหญ่’ ‘กากกาแฟ’ ทำได้มากกว่าที่คิด! รองเท้าแนวสนีกเกอร์ ของแบรนด์เรนส์ ออริจินัล ผลิตจากเส้นใยกากกาแฟผสมกับเม็ดพลาสติกจากขวดพลาสติก  (ภาพ : facebook.com/rensoriginal)

@ Rens Original

'เรนส์ ออริจินัล' (Rens Original) สตาร์ทอัพชื่อดังจากเฮงซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ก่อตั้งเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ผลิตรองเท้าแนว 'สนีกเกอร์' ที่ทำจากเส้นใยกากกาแฟผสมกับเม็ดพลาสติกจากขวดพลาสติกรีไซเคิล เป็นรายแรกของโลก จนได้รับความนิยมอย่างสูงในฐานะสินค้าสายแฟชั่นเพื่อความยั่งยืน มีผลิตภัณฑ์จำหน่ายกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

เจ้าของบริษัทเป็นชาวเวียดนาม 2 คนที่เดินทางเข้ามาศึกษาและทำงานที่ฟินแลนด์ พวกเขาเริ่มมีไอเดียว่าจะใช้เส้นใยจากกากกาแฟมาผลิตรองเท้า เพื่อตอบโจทย์ประเด็นการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมดีไซน์สวยงามน่าสวมใส่ มาตั้งแต่ปีค.ศ. 2017  จากนั้นก็ไปเสนอไอเดียระดมทุนผ่านทางแพลตฟอร์ม 'คิ๊กสตาร์ทเตอร์' ในอีก 2 ปีต่อมา

ไม่น่าเชื่อครับว่า สามารถระดมทุนได้มากถึง 520,000 ดอลลาร์สหรัฐ (18 ล้านบาท) ภายใน 24 ชั่วโมง สำหรับการผลิตรองเท้าวัสดุรีไซเคิลรุ่นแรกที่ผลิตมาจากกากกาแฟจำนวน 300 กรัม มาถึงตอนนี้ หลังผลิตรองเท้าออกมาหลากหลายรุ่น เรนส์ ออริจินัล สามารถอัพไซเคิลกากกาแฟไปแล้วจำนวนมากกว่า 750,000 แก้ว และขวดพลาสติกใช้แล้วอีกกว่า 250,000 ชิ้น

นอกจากบริษัทที่ผู้เขียนยกมาเป็นตัวอย่างแล้ว ยังมีอีกหลายบริษัทที่อัพไซเคิลกากกาแฟให้เป็นสินค้ามีมูลค่า เช่น ดิคาฟเฟ่ (Decafé) ในสเปน ทำธุรกิจผลิตโคมไฟฟ้าและอุปกรณ์เกี่ยวเนื่อง, อัพเซอร์เคิล บิวตี้ (UpCircle Beauty) จากลอนดอน  อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และ โดเมสติก สเตนซิลเวิร์คส์ (Domestic Stencilworks) ในซานดิเอโก้ แคลิฟอร์เนีย ผลิตหมึกพิมพ์จากกากกาแฟ

กากกาแฟไม่ว่าจะเป็นตามร้านรวงคาเฟ่หรือตามบ้านที่ปกติมักนำไปทิ้งลงถังขยะ พอใส่ไอเดียและเทคโนโยลีลงไปในการแปรรูป ก็กลับกลายเป็นผลิตภัณฑ์ในระดับอันซีนที่ได้รับความนิยมในจากผู้บริโภคทั่วไปโดยเฉพาะในกลุ่มสายกรีน บางผลิตภัณฑ์ได้รับรางวัลระดับนานานชาติก็มาก บ้างกลายเป็นผู้นำเทรนด์ธุรกิจไปก็มี

ของทิ้งของเสียอย่างกากกาแฟเลยขึ้นชั้นเป็นขยะที่มีมูลค่าซุกซ่อนอยู่ หากรู้วิธีสร้างสรรค์บวกกับเทคโนโลยี นำไปอัพไซเคิลเป็นนวัตกรรมใหม่ ใช้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจได้อีกครั้ง

.........................

เขียนโดย : ชาลี วาระดี