ทำทุกสิ่งให้เป็นไปได้โดย Elon Musk | กฤชชัย อนรรฆมณี

ทำทุกสิ่งให้เป็นไปได้โดย Elon Musk | กฤชชัย อนรรฆมณี

มีหนังสือเล่มใหม่เพิ่งวางแผงด้วยภาพหน้าปก Elon Musk เต็มหน้า ชายผู้มีสีสันมากที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบัน ด้วยผลงานธุรกิจนวัตกรรมและเรื่องราวส่วนตัวของเขาเอง

Musk ได้ชื่อว่าเป็นนวัตกรสำคัญของยุคนี้ ทั้งรถไฟฟ้า Tesla, จรวดสำรวจอวกาศ SpaceX, X (Twitter ในอดีต) จนถึงความฝันในการไปสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร ส่วนหนึ่งของหนังสือได้อธิบายวิถีการทำงานของ Musk ที่ทำให้เขาสามารถสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้

The Algorithm

Elon Musk เป็นผู้มีความทะเยอทะยานมาก ตั้งเป้าหมายอย่างสุดโต่ง แม้ว่าจะเป็นงานยากๆ ก็ต้องทำสำเร็จให้ได้ เขาไม่ยอมให้ใครก็ตามปฏิเสธคำสั่งของเขา ไม่ชอบให้พนักงานพูดว่าไม่, ทำไม่ได้ หรือเป็นไปไม่ได้

หนังสือกล่าวถึง กรอบแนวทาง 5 ข้อ เรียกว่า The Algorithm ที่เขาต้องการจากทีมงาน เพื่อการแก้ปัญหา สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ พัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการมุ่งไปสู่เป้าหมายเป็นตัวตั้ง

1.Question every requirement ตั้งคำถามถึงความต้องการ เพื่อให้รู้ที่มาที่ไปของความจำเป็นในงาน Musk กล่าวว่า “หากคุณรู้เพียงว่าข้อกำหนดนี้มาจากแผนกกฎหมาย หรือแผนกความปลอดภัย ถือว่าใช้ไม่ได้” ต้องรู้ว่าข้อกำหนดนี้มาจาก "ใคร"

ไม่ว่าผู้นั้นคือใครหรือฉลาด (Smart) เพียงใดก็ตาม ไม่เว้นแม้แต่มาจากตัว Musk เอง เพื่อให้เข้าใจข้อกำหนดเหล่านั้นจริงๆ พร้อมกับสำทับว่า “ความต้องการจากคนฉลาด เป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด” เพราะคนทั่วไปมักจะไม่ตั้งคำถามกับเขาเหล่านั้น

2.Delete any part or process you can เอาสิ่งที่ไม่จำเป็นออกให้หมด ขั้นตอนกระบวนการ เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อการบรรลุเป้าหมายเท่านั้น ตัดทิ้งขั้นตอนงานให้มากที่สุดที่จะทำได้ ลบไปเรื่อยๆ ถ้ายกเลิกมากเกินไป ค่อยคืนงานที่จำเป็นจริงๆ กลับเข้าไปใหม่ในภายหลัง ถ้าเพิ่มกลับเข้าไปไม่ถึง 10% แสดงว่าคุณยกเลิกงานน้อยเกินไป

3.Simplify and optimize ลดความซับซ้อน หาวิธีง่ายที่สุด ด้วยประสิทธิภาพสูงสุด ขั้นตอนนี้ต้องทำหลังจากตัดงานที่ไม่จำเป็นออกไป หรือกระบวนการ Lean ที่สุดแล้ว สิ่งที่หลายคนพลาดคือ ไป Simplify ก่อน ทั้งที่ยังไม่ได้ลบขั้นตอนไม่จำเป็นออก กลายเป็นการไปปรับปรุง กระบวนการ หรือส่วนงาน ที่มันไม่ควรมีอยู่

4.Accelerate cycle time เร่งรอบการทำงานให้สั้นลง ทำให้งานเร็วขึ้น งานทุกอย่างทำให้เร็วขึ้นได้เสมอ แต่ต้องทำหลังจากผ่าน 3 ขั้นตอนแรกแล้วเท่านั้น Musk ยอมรับว่าเขาสูญเสียพลังงานไปมากมาย ในการเร่งรัดงานในโรงงาน Tesla ที่เขามาตระหนักในภายหลัง ว่ามันควรจะถูกยกเลิกไปก่อนหน้านั้นแล้ว

5.Automate สร้างระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติ เอาหุ่นยนต์เข้ามาใช้ เพื่อแทนที่การทำงานด้วยคน เชื่อมโยงข้อมูลจากสายการผลิตและระบบการจัดการ ก่อนถึงขั้นนี้ Musk เน้นย้ำว่า “เราต้องผ่านการตั้งคำถาม ยกเลิก กระบวนการ, ส่วนงานหรือชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็น และข้อบกพร่องต่างๆ ได้รับการแก้ไขแล้ว”

เชื่อมโยงหลักการ

คำถามเรียบง่ายแต่ทรงพลัง "ทำไม" ถูกยกเป็นแก่นหลักของหนังสือดัง Start With Why การตั้งคำถามหาเหตุผลในสิ่งที่เป็นไปเพื่อให้มี เป้าหมายเป็นตัวตั้ง หรือในขณะเดียวกัน เราอาจได้พบว่าเหตุผลในการคงอยู่ของงาน คืออดีตที่ล้าสมัยไปแล้ว

เช่นเดียวกับแนวคิดพื้นฐานของระบบ Lean ที่ต้องรู้ว่าลูกค้าของเราคือใคร ความต้องการคืออะไร งานที่ทำอยู่สร้างคุณค่าให้กับลูกค้าจริงหรือไม่ หากไม่ใช่สิ่งเหล่านั้นคือความสูญเสีย (Waste) ความสูญเสียคือสิ่งที่ต้องขจัดออกหรือลดลงให้มากที่สุด

มีหลักการปรับปรุงที่เรียกว่า ECRS : Eliminate, Combine, Rearrange และ Simplify (เลิก, ควบรวม, จัดลำดับใหม่ และทำให้ง่าย)

ผมเคยทำโครงการกับลูกค้ารายหนึ่ง หลังจากที่เราเขียนขั้นตอนงานออกมาทั้งหมดแล้ว พบว่ามีเอกสารรายงานที่เกิดขึ้นระหว่างทางทั้งหมด มากกว่า 40 รายงาน หลังจากใช้แนวคิด "ยกเลิก" และ "ควบรวม" สามารถลดจำนวนรายงานได้ครึ่งหนึ่ง จากนั้นจึงหาวิธีสร้างรายงานให้รวดเร็วขึ้น หากปรับปรุงการสร้างรายงานที่ไม่มีผู้ใช้ประโยชน์ สิ่งนี้ก็เป็นความสูญเสียนั่นเอง

การเร่งเวลาการทำงานหรือกระบวนการให้เร็วขึ้น ต้องตรงกับความต้องการของลูกค้าด้วย เพราะหากไม่สอดคล้องกันแล้ว ผลตามมาคือ Stock ที่ไม่จำเป็น

การสร้างระบบ Automation เป็นการตกหล่มของหลายองค์กรที่เอาเทคโนโลยีเป็นตัวตั้ง Tesla เองเคยอยู่ในสถานการณ์นี้เช่นกันในช่วงที่โรงงาน เผชิญปัญหากำลังการผลิต มียอดจองลูกค้าล้น การส่งมอบล่าช้าอย่างมาก

Musk ให้สัมภาษณ์รายการ CBS Morning ถึงความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่เขาเรียนรู้ คือเมื่อสร้างโรงงาน เขาตั้งใจให้ระบบการผลิตในโรงงาน "อัตโนมัติอย่างสมบูรณ์แบบ" สร้างโรงงานต้นแบบที่ทันสมัยล้ำยุค ใช้เทคโนโลยีให้มากที่สุด

แต่ในที่สุดพบปัญหาว่า โรงงานมีระบบ Automation และหุ่นยนต์มากเกินไป กลายเป็น "เครือข่ายอันวุ่นวาย ของสายพานการผลิต" ทำให้กระบวนการมีปัญหาและล่าช้า

หนังสือระบุถึงมุมมืดอีกด้านของ Musk ในการกดดันเพื่อนร่วมงานและคนรอบข้างอย่างดุดัน ให้บรรลุเป้าหมาย พฤติกรรมบางช่วงของเขาดูราวกับปีศาจ หนังสือใช้คำว่าอยู่ใน Demon Mode ความเชื่อของ Musk คือ การที่เราจะพุ่งทะยานไปข้างหน้าได้ ต้องทิ้งอะไรไว้ข้างหลังเสมอ แบบเดียวกับจรวด

การบรรลุเป้าหมาย มีหลายวิถี ที่เราเลือกใช้ได้ครับ