เปิดชีวิต 50 วันตัวประกันไทยในอุ้งมือฮามาส ภาพติดตาเพื่อนตายต่อหน้า

เปิดชีวิต 50 วันตัวประกันไทยในอุ้งมือฮามาส ภาพติดตาเพื่อนตายต่อหน้า

ตัวประกันชาวไทยที่ถูกฮามาสลักพาตัวไปหลังเหตุโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ได้รับการปล่อยตัวมาแล้วจำนวนหนึ่ง อนุชา อ่างแก้ว แรงงานภาคเกษตรไทยวัย 28 ปี เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ถึงเรื่องราว 50 วันระหว่างที่ถูกจับเป็นตัวประกัน

Key points:

  • ตัวประกันที่ได้รับอิสระมีไม่กี่คนที่ยอมคุยยาวถึงสิ่งที่ตนได้ประสบมา แต่คนที่เปิดเผยมักพูดถึงการถูกทุบตีและขู่ฆ่า
  • ตัวประกันชายชาวอิสราเอลถูกทำร้ายมากเป็นพิเศษ
  • ขณะนี้มีตัวประกันเหลืออยู่ราว 130 คน รวมทั้งคนไทย 8 คน
  • สิ่งที่ยากที่สุดของอนุชา อ่างแก้วคือ การได้เห็นเพื่อนถูกฮามาสฆ่าไปต่อหน้าต่อตา

 

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. กลุ่มติดอาวุธฮามาสบุกข้ามพรมแดนเข้าไปในอิสราเอล สังหารประชาชนราว 1,200 คน จับชาวอิสราเอลและต่างชาติเป็นตัวประกันอย่างน้อย 240 คนถึงขณะนี้ปล่อยตัวแล้วกว่า 100 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เด็ก และชาวต่างชาติ 

ด้านอิสราเอลตอบโต้การโจมตีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ด้วยการถล่มกาซาทั้งทางอากาศและทางบก คร่าชีวิตประชาชนกว่า 15,000 คน ตามตัวเลขของหน่วยงานสาธารณสุขปาเลสไต์ที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) มองว่าเชื่อถือได้

อนุชาเผยกับรอยเตอร์เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่บ้านเกิดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เล่าถึงการถูกจับเป็นตัวประกัน 50 วัน ปากคำจากผู้ประสบเหตุรายนี้ช่วยฉายภาพว่าตัวประกันหลายคนเจออะไรบ้าง และบางคนยังต้องเจอต่อไป

ราว 7.30 น. ของวันที่ 7 ต.ค. ตอนที่อนุชาโผล่ขึ้นมาจากบังเกอร์หลบจรวดบริเวณพรมแดนอิสราเอล-ฉนวนกาซา เขาคาดว่าจะได้เจอกับทหารอิสราเอล แต่กลายเป็นว่าอนุชาและเพื่อนแรงงานไทยอีก 5 คน ถูกกลุ่มติดอาวุธ 10 คนควบคุมตัวไป เขาเห็นธงปาเลสไตน์บนแขนเสื้อก็รู้เลยว่าเป็นฮามาส

“เราตะโกนไทยแลนด์ ไทยแลนด์ แต่ก็ไม่มีใครสนใจ”

หลังจากนั้นไม่นานคนไทยสองคนจากหกคนในกลุ่มถูกฆ่า หนึ่งในนั้นคือเพื่อนของอนุชาที่ถูกฮามาสใช้ความรุนแรงแบบไม่เลือกเป้าหมายยิงเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตาเขา คนที่เหลือถูกบังคับขึ้นรถบรรทุกนั่งไปกาซาราว 30 นาที

อาหาร 2 มื้อ น้ำ 2 ขวด

เมื่อไปถึงกาซา กลุ่มติดอาวุธในเครื่องแบบส่งชาวไทยที่ถูกผูกมือไพล่หลังให้ชายกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งพาตัวไปอย่างบ้านร้างหลังหนึ่ง ต่อมามีชายอิสราเอล วัย 18 ปีคนหนึ่งมาสมทบ ซึ่งอนุชารู้จักตอนที่เขาทำงานในไร่อะโวคาโดในคิบบุตซ์รีม

ไม่นานหลังจากนั้นพวกเขาถูกทุบตีเตะต่อย

"เราตะโกน ‘ไทยแลนด์ ไทยแลนด์’” อนุชาเล่าซึ่งนั่นทำให้ความรุนแรงลดลงมาเล็กน้อย แต่ชายหนุ่มอิสรเอลยังโดนหนัก

หนึ่งชั่วโมงต่อมาทั้ง 5 คนถูกนำตัวขึ้นรถบรรทุกอีกคันขับไปราว 30 นาทีถึงตึกเล็กๆ นำไปสู่อุโมงค์แห่งหนึ่ง

ที่ใกล้ปากอุโมงค์พวกเขาถูกซ้อมอีกรอบแล้วถูกถ่ายรูป ก่อนเดินฝ่าความมืดบนทางเดินกว้างราวหนึ่งเมตรไปยังห้องเล็กๆ ห้องหนึ่ง ไม่มีหน้าต่าง กว้าง ยาว ด้านละ 1.5 เมตร เปิดไฟหนึ่งดวง มีชาวอิสราเอลคนหนึ่งอยู่ที่นั่นก่อนแล้ว

กลุ่มติดอาวุธยังเดินหน้าชกต่อยตัวประกันต่อไปอีกสองวัน แต่ชาวอิสราเอลโดนเฆี่ยนด้วยสายไฟฟ้าต่ออีกสองวัน

อนุชาไม่ได้บาดเจ็บสาหัส แต่ร่องรอยจากการถูกพันธนาการยังคงอยู่บนข้อมือแม้ถูกปล่อยตัวมาแล้วหลายสัปดาห์

ชีวิตระหว่างนั้นตัวประกันชายทั้ง 6 คนต้องนอนบนพื้นทราย ได้ขนมปังแผ่นวันละสองครั้ง และแบ่งน้ำดื่มกันวันละสองขวดเติมให้ทุกวัน

เวลาจะเข้าห้องสุขาก็มีการ์ดหนึ่งในแปดคนติดอาวุธคล้ายปืน AK-47 พาไปขับถ่ายในหลุมใกล้ๆ ห้องพัก การ์ดห้ามไม่ให้พวกเขาคุยกัน

“ผมรู้สึกสิ้นหวัง” อนุชาเล่าตอนแรกเขานับวันจากจำนวนมื้ออาหาร หลังจากวันที่ 4 ชายทั้ง 6 ถูกพาตัวไปอีกห้องหนึ่งขณะกำลังเดินไปตามอุโมงค์ ผู้คุมส่องตะเกียงเห็นประตูเหล็กเรียงเป็นแนว

 

‘ไทยแลนด์ กลับบ้าน’

ห้องใหม่กว้างกว่าเดิม มีแผ่นพลาสติกปูนอน หลอดไฟ 3 ดวงมีซอกให้ใช้เป็นห้องสุขา

ไม่มีการทุบตีแล้ว อาหารดีขึ้นมีถั่ว เนย และต่อมามีข้าว อนุชายังนับวันเวลาจากมื้ออาหารแล้วขีดพื้นไว้นับจำนวนวันที่ถูกคุมขัง

ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อการ์ดนำกระดาษมาให้พวกเขาลงชื่อ การ์ดคนนี้ก็เหมือนกับคนอื่นๆ ที่พูดภาษาอารบิกอย่างเดียว ชาวอิสราเอลคอยเป็นล่ามให้อนุชาที่พอพูดภาษาฮิบรูพื้นฐานได้

แต่ยามทิ้งปากกาลูกลื่นสีขาวเอาไว้หนึ่งด้าม พวกเขาใช้ระบุเวลา วาดรอยสัก ร่างกระดานหมากรุกบนแผ่นพลาสติก ส่วนตัวหมากรุกทำจากกล่องยาสีฟันสีชมพูและเขียว

อีกสิ่งหนึ่งที่พอจะดึงความสนใจไปได้คือการคุยถึงอาหาร อนุชาคิดถึงซอยจุ๊ เนื้อดิบจิ้มแจ่ว

“อาหารคือที่มาของความหวัง” อนุชาพูดพลางยิ้ม

หลายสัปดาห์ผ่านไป อนุชาไม่รู้เรื่องที่อิสราเอลจู่โจมและทิ้งระเบิดเหนือพื้นดิน เขามักคิดถึงพ่อ ลูกสาววัย 7 ขวบ และคู่รักที่อยู่กันมา 14 ปี

ในวันที่ 35 ชายชุดดำมาตรวจสอบสั้นๆ ดูจากกริยาท่าทางเคารพนบนอบของผู้คุม ตัวประกันทราบดีว่าชายผู้นี้คือผู้นำระดับสูงของฮามาส

พวกเขาดำเนินชีวิตตามปกติเหมือนเดิมจนกระทั่งวันหนึ่งหลังรับประทานอาหารเสร็จ การ์ดคนหนึ่งเข้ามาประกาศ “ไทยแลนด์ กลับบ้าน”

ชายไทยสี่คนถูกนำตัวเดินไปตามอุโมงค์ราวสองชั่วโมงจึงขึ้นมาบนดินไปยังอาคารแห่งหนึ่งของฮามาส ตัวประกันหญิงชาวอิสราเอลจำนวนหนึ่งก็คอยอยู่ที่นั่นด้วย

ราว 11 ชั่วโมงต่อมาพวกเขาถูกส่งตัวให้กับกาชาดที่ขับรถพาพวกเขาออกจากกาซาในวันที่ 25 พ.ย.

“ผมไม่เคยคิดว่าจะได้ปล่อยตัว เหมือนผมเกิดใหม่” อนุชาเล่า แต่ส่วนที่ยากที่สุดยังคงเป็นสิ่งที่เขาเห็นในวันที่ 7 ต.ค.

“ผมสูญเสียเพื่อนไปต่อหน้าต่อตา”

 

สัมพันธ์ไทย-อิสราเอล-ปาเลสไตน์

ตัวประกันที่ได้รับอิสระมีไม่กี่คนที่ยอมคุยยาวถึงสิ่งที่ตนได้ประสบมา แต่คนที่เปิดเผยมักพูดถึงการถูกทุบตีและขู่ฆ่า ขณะนี้มีตัวประกันเหลืออยู่ราว 130 คน รวมทั้งคนไทย 8 คน

ก่อนสงคราม แรงงานไทยทำงานในภาคเกษตรอิสราเอลราว 30,000 คน ถือเป็นแรงงานข้ามชาติใหญ่สุดกลุ่มหนึ่งของอิสราเอล ประเทศที่ให้ค่าแรงสูง 

กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลยกย่องตัวประกันชาวไทยที่เสียชีวิตเป็น “วีรบุรุษ” และกล่าวว่า ตัวประกันที่ได้รับการปล่อยตัวจะได้รับผลประโยชน์เช่นเดียวกับชาวอิสราเอล

ในแง่ความสัมพันธ์ทางการทูตไทยซึ่งเป็นมิตรกับอิสราเอล ยอมรับปาเลสไตน์เป็นรัฐอธิปไตยในปี 2555