ทำไม ‘แจ๊ค หม่า’ ต้องพูดถึง ‘พินตัวตัว’ คู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดของอาลีบาบา

ทำไม ‘แจ๊ค หม่า’ ต้องพูดถึง ‘พินตัวตัว’ คู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดของอาลีบาบา

แจ๊ค หม่า พูดปลุกขวัญพนักงานให้กลับมาสู้อีกครั้ง ในฐานะผู้ก่อตั้งอาลีบาบา โดยกระตุ้นให้ “แก้ไขแนวทางธุรกิจของตนเอง” และยกย่องคู่แข่งอีคอมเมิร์ซอย่าง PDD Holdings Inc. ที่ขยายส่วนแบ่งการตลาดได้อย่างรวดเร็ว

เมื่อคืนวันพุธที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา “แจ๊ค หม่า” ที่วางมือจากงานบริหารอาลีบาบา กรุ๊ป ไปหลายปีแล้วหลังเจอแรงกดดันหนักจากทางการจีน จนถึงขั้นมีข่าวว่าจะขายหุ้นหลายร้อยล้านเพื่อเอาเงินไปลงกับบริษัทใหม่ด้านอาหารที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในปีนี้ แต่แล้วจู่ๆ ก็กลับมาปรากฏตัวอีกครั้ง

ครั้งนี้หม่ามาพูดปลุกขวัญเรียกกำลังใจพนักงานให้กลับมาสู้อีกครั้ง ในฐานะผู้ก่อตั้งอาลีบาบา โดยกระตุ้นให้อาลีบาบา “แก้ไขแนวทางธุรกิจของตนเอง” และยกย่องคู่แข่งอีคอมเมิร์ซอย่าง PDD Holdings Inc. ที่ขยายส่วนแบ่งการตลาดได้อย่างรวดเร็ว

แต่หม่าอาจไม่รู้เลยว่าในวันถัดมา 30 พ.ย. 2566 จะเป็นวันที่ PDD หรือ “พินตัวตัว” (Pinduoduo) สตาร์ตอัปน้องใหม่อายุ 8 ปี ที่เขาหยิบยกขึ้นมาอ้างถึง ได้สร้างสถิติครั้งประวัติศาสตร์ด้วยการทำมาร์เก็ตแคป “แซงหน้าอาลีบาบาได้เป็นครั้งแรก”

บลูมเบิร์กรายงานว่า หุ้นของอาลีบาบาที่ร่วงลง 1.4% ในตลาดฮ่องกง ได้ฉุดให้มูลค่าตลาดร่วงลงมาแตะระดับ 1.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือต่ำกว่ามูลค่าตลาดของ PDD ที่ 1.883 แสนล้านดอลลาร์ จากราคาปิดที่ตลาดหุ้นสหรัฐ ทำให้เป็นครั้งแรกที่อาลีบาบาเสียแชมป์อีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในจีนหลังก่อตั้งมา 24 ปี

แม้ว่านี่อาจจะเป็นเพียงแค่การวัดมูลค่าตลาดในช่วงสั้นๆ แต่ในเชิงพื้นฐานแล้วอาจกล่าวได้ว่า “จะช้าหรือเร็ว อาลีบาบาก็จะถูกบริษัทรุ่นใหม่แซงหน้าไปได้อยู่ดี” แม้ว่าครั้งหนึ่งจะเคยสร้างตำนานเป็นยักษ์อีคอมเมิร์ซที่ไม่มีใครเทียบได้ และเป็นบริษัทจีนเพียงรายเดียวที่มีมูลค่าตลาดใกล้แตะหลัก 1 ล้านล้านดอลลาร์ก็ตาม

นับจากวันที่แจ๊ค หม่า กล่าววิพากษ์วิจารณ์ถึงระบบแบงก์จีนเมื่อเดือน ต.ค. 2020 อาณาจักรอาลีบาบาก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป “แอนท์ กรุ๊ป” ถูกพับแผนเข้าตลาดหุ้น อาลีบาบาถูกปรับเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์เรื่องผูกขาดตลาด รัฐบาลเข้ามาปรับทัศนคติและคุมแนวทางกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีในประเทศครั้งใหญ่

ทำไม ‘แจ๊ค หม่า’ ต้องพูดถึง ‘พินตัวตัว’ คู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดของอาลีบาบา

หลังจากนั้นแม้ว่าอาลีบาบาจะปรับกลยุทธ์ใหญ่โดยมีแผนจะแตกอาณาจักรออกเป็น 6 บริษัทและเอาเข้าตลาดหุ้นทั้งหมด โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ธุรกิจ “คลาวด์และเอไอ” แต่ก็เจออุปสรรคใหญ่ขวางอีกจากปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-จีน ที่แย่ลงทุกวัน จนกระทบต่อการส่งออกและควบคุมเรื่องชิปและเอไอ ในขณะที่การทำธุรกิจ อีคอมเมิร์ซก็ถูกคู่แข่งไล่บี้เพิ่มขึ้นทุกปี

ในทางตรงกันข้าม PDD กลับมีแต่ข่าวดี โดยแทบไม่มีข่าวร้ายใหญ่ๆ เหมือนอาลีบาบา และไม่ถูกสกัดขาธุรกิจหมือน “ไบท์แดนซ์” อีกหนึ่งคู่แข่งที่เจอทั้งแรงสกัดทางการเมืองในสหรัฐ และกำลังเจอสกัดการทำอีคอมเมิร์ซบน “ติ๊กต็อก”

PDD เป็นอีคอมเมิร์ซน้องใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 โดย คอลิน หวง หนุ่มหัวกะทิจากเจ้อเจียง ที่เคยไปฝึกงานกับไมโครซอฟต์และทำงานกับกูเกิลหลังเรียนจบที่วิสคอนซิน จากนั้นกลับมาเปิดธุรกิจที่บ้านโดยก่อตั้งสตาร์ตอัป 4 แห่ง โดยมีพินตัวตัวประสบความสำเร็จมากที่สุด

ทำไม ‘แจ๊ค หม่า’ ต้องพูดถึง ‘พินตัวตัว’ คู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดของอาลีบาบา

แรกเริ่มนั้นพินตัวตัวก็เหมือนอีคอมเมิร์ซรายอื่นๆ ที่แข่งขันด้วยราคากับกลยุทธ์สินค้าราคาถูก แต่สิ่งที่แตกต่างและทำให้ประสบความสำเร็จอาจกล่าวได้ว่ามาจาก 2 ปัจจัยหลักๆ คือการทำ “โซเชียลคอมเมิร์ซ” และการผูกกับ “WeChat” โซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในจีนจากค่ายเทนเซนต์ ซึ่งค่ายนี้ยังเป็นนายทุนหลักให้ด้วย

กลยุทธ์โซเชียลคอมเมิร์ซที่เน้นเรื่องความบันเทิง ทำให้พินตัวตัวไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มซื้อขายของเหมือนอาลีบาบา แต่ทำให้คนมาใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มนี้พร้อมดึงเพื่อนฝูงครอบครัวมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมต่างๆ การแจกรางวัล การไลฟ์ขายของ และอื่นๆ จนมียอดผู้ใช้งานเติบโตอย่างรวดเร็วจากหลักประมาณ 15 ล้านคนต่อเดือนในปีแรก มาเป็นเฉลี่ย 750 ล้านคนต่อเดือนในปัจจุบัน

ขณะที่การรุกตลาดต่างประเทศก็ไปได้สวยโดย Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่พินตัวตัวตั้งขึ้นในสหรัฐเมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว และในผลประกอบการไตรมาส 3 ปีนี้ PDD มีรายได้เติบโตถึง 94% เมื่อเทียบปีก่อน อยู่ที่ประมาณ 9,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าเมื่อเทียบอาลีบาบาที่โตได้เพียง 9%