ประชุม COP28 ได้อะไร? เมื่อการควบคุมสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงของโลกไม่คืบหน้า

ประชุม COP28 ได้อะไร? เมื่อการควบคุมสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงของโลกไม่คืบหน้า

การประชุมสุดยอดสภาพอากาศ (COP28) เป็นที่น่าจับตาว่าโลกจะเดินหน้าบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อนในทิศทางใด ในเมื่อที่ผ่านมา พวกเรายังดำเนินการได้ไม่ดีพอ ก๊าซเรือนกระจกยังเพิ่มสูงต่อเนื่อง

ก่อนถึงการประชุมสุดยอดสภาพอากาศ (COP28) ที่ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ในปีนี้ หน่วยงานของสหภาพยุโรป (ยูเอ็น) ได้เผยแพร่รายงานหลายฉบับที่อัปเดตเกี่ยวกับกระบวนการจำกัดสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงของโลก และดูเหมือนว่าการดำเนินการลดโลกร้อนของพวกเรายังไม่คืบหน้าสักเท่าไร

โดยรายงานหลายสำนักพบว่ามีหลายปัจจัยที่อาจบรรลุเป้าหมายสภาพอากาศล่าช้า ดังนี้

  • ก๊าซเรือนเรือกระจกยังคงเพิ่มสูงขึ้น

จากรายงานของ U.N. Emissions Gap Report ระบุว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น 1.2% จากปี 2564-2565 สู่ระดับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 57.4 กิกะตัน

ถ้าหลายประเทศไม่วางแผนเร่งลดก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิทั่วโลกอาจสูงเกือบ 3 องศาเซลเซียส มากกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมภายในศตวรรษนี้ ซึ่งมากกว่าเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส ที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่าอาจเริ่มก่อให้เกิดผลกระทบเลวร้ายตามมา

รายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ได้เปรียบเทียบการดำเนินการด้านสภาพอากาศที่หลายประเทศวางแผนกับสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อบรรลุเป้าหมายสภาพอากาศโลก พบว่า คำมั่นสัญญาเหล่านั้นทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2.5-2.9 องศาเซลเซียส

แม้แต่กรณีมองโลกในแง่ดีที่สุด ก็ยังพบว่ามีโอกาสเพียง 4% เท่านั้นที่เราสามารถควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้

  • หลายประเทศขาดเป้าหมายลดมลพิษ

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกคาดว่า ลดลงเพียง 2% ภายในปี 2573 จากระดับก๊าซเรือนกระจกในปี 2562 ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายลด 43% ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่บอกว่าระดับนี้จะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ได้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ขณะที่รายงาน NDC Synthesis Report วิเคราะห์คำมั่นสัญญาลดโลกร้อนของหลายประเทศ เพื่อหาว่ารัฐบาลมีความพยายามลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในระดับใด โดยสำรวจโครงการ 200 รายการ รวมถึง 20 โครงการใหม่ หรือคำมั่นสัญญาที่อัปเดตใหม่จนถึง ก.ย. 2565 พบว่า แผนระดับชาติพัฒนาดีขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า แต่คาดว่าที่ผ่านมา การปล่อยมลพิษยังคงเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยมลพิษในปี 2553

  • แผนเชื้อเพลิงฟอสซิลภัยเป้าหมายลดโลกร้อน

รายงาน Production Gap Report ที่เผยแพร่โดย U.N. Environment Programme (UNEP) ระบุว่า การผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกอาจมากกว่าระดับเชื้อเพลิงที่ต้องควบคุมอุณหภูมิโลกเพิ่มไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียล เป็น 2 เท่า

รายงานดังกล่าววิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างแผนผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล และปริมาณเชื้อเพลิงที่สอดคล้องกับเป้าหมายสภาพภูมิอากาศโลก พบว่า ประเทศที่ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล 20 อันดับแรกของโลกอาทิ จีน, นอร์เวย์, กาตาร์, ยูเออี และสหรัฐ เป็นต้น ต่างวางแผนผลิตเชื้อเพลิงดังกล่าวมากกว่าปริมาณเชื้อเพลิงที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิโลกเพิ่มไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียล ถึง 110% ภายในปี 2573 และมากกว่าปริมาณเชื้อเพลิงที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิโลกเพิ่มไม่เกิน 2 องศาเซลเซียลถึง 69%

ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ 20 ประเทศดังกล่าว ตั้งเป้าลดการผลิตถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ได้สอดคล้องกับเป้าหมายข้อตกลงปารีส

  • ประเทศร่ำรวยช่วยเหลือน้อย

คำมั่นสัญญาของประเทศร่ำรวยที่จะดำเนินการช่วยเหลือประเทศยากจนปรับตัวต่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงยังคงล่าช้า และตอนนี้เงินทุนยังคงขาดแคลนและต่ำกว่า 50% ที่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีพี) คาดการณ์ไว้

จากรายงาน Adaptation Gap Report พบว่า ความพยายามปรับตัวรับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมีต้นทุนประมาณ 387,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีในปี 2564 ขณะที่เงินทุนเพื่อช่วยเหลือความพยายามเหล่านั้นมีเพียง 21,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งยังขาดแคลนอีกประมาณ 366,000 ล้านดอลลาร์

ในปี 2564 ประเทศพัฒนาแล้วให้คำมั่นว่าจะจัดหาเงินทุนเพื่อสภาพอากาศ 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ให้กับประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่คำมั่นสัญญาดังกล่าวควรสร้างความสมดุลระหว่างการปรับตัว และการบรรเทาผลกระทบ แต่กลับไม่เคยเกิดความสมดุลเลย เนื่องจากโครงการบรรเทาผลกระทบหรือความพยายามควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมักเป็นที่นิยม เพราะมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนทางการเงินจากการลงทุนมากกว่า