เปิด 10 ห้วงเวลาสู้โลกร้อน รับการประชุม COP28

เปิด 10 ห้วงเวลาสู้โลกร้อน รับการประชุม COP28

การประชุม COP28 กำลังจะเปิดฉากขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กว่าจะถึงวันนี้ โลกได้ผ่าน 10 ช่วงเวลาสำคัญในการต่อสู้โลกร้อน

2531: ระฆังเตือน

หลังได้รับเสียงเตือนจากเหล่านักวิทยาศาสตร์ว่าผิวโลกกำลังร้อนขึ้น สหประชาชาติ (ยูเอ็น) จึงแต่งตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ขึ้นมาตรวจสอบในปี 2531

สองปีต่อมาคณะกรรมการรายงานว่า ก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์กำลังเพิ่มขึ้นยิ่งทำให้โลกร้อนหนัก

ผลการศึกษาหลายชิ้น หลักฐานมากมายชี้ว่า กิจกรรมของมนุษย์ อาทิ การเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ, การตัดไม้ทำลายป่าฝน และการทำเกษตรแบบทำลายล้าง ทำให้อุณหภูมิผิวโลกสูงขึ้น ปฐมบทของระบบภูมิอากาศปั่นป่วน

2535: เอิร์ธ ซัมมิต

 อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ยูเอ็นเอฟซีซีซี) จัดการประชุม “เอิร์ธ ซัมมิต” ที่นครริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ในปี 2535 ด้วยวัตถุประสงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ปี 2538 เริ่มมีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) เพื่อบรรลุเป้าหมายอันยิ่งใหญ่นั้น

2540: พิธีสารเกียวโต

ปี 2540 นานาชาติเห็นชอบร่วมกันที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น กำหนดกรอบเวลาปี 2551-2555 ให้ประเทศอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเฉลี่ย 5.2% จากระดับของปี 2533

ประเทศกำลังพัฒนา อาทิ จีน อินเดีย และบราซิล ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามเป้าหมายดังกล่าว แต่ในปี 2544 สหรัฐที่ขณะนั้นเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่สุดของโลกไม่ยอมให้สัตยาบันพิธีสารเกียวโตที่จะมีผลในปี 2548

2550: รางวัลโนเบล

ต.ค.2550 ไอพีซีซีและอดีตรองประธานาธิบดีอัล กอร์ ของสหรัฐ รับรางวัลโนเบลสันติภาพร่วมกันจากความพยายามเตือนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

2552: ประชุมล่ม

การประชุม COP15 ที่กรุงโคเปนเฮเกนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ ประเทศปล่อยก๊าซรายใหญ่หลายสิบประเทศรวมถึงจีนและสหรัฐ ประกาศเป้าหมายควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก 2 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคก่อนอุตสาหกรรม แต่ไม่ชัดเจนว่าจะบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร

2558: หมุดหมายใหม่ ณ ปารีส

ธ.ค.2558 เกือบทุกประเทศบนโลกมุ่งมั่นจำกัดอุณหภูมิโลกให้สูงกว่าระดับก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสและพยายามจำกัดให้อุณภูมิโลกต่ำกว่านั้นประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส

2561: เกรตา ธุนเบิร์ก

ปี 2561 เกรตา ธุนเบิร์ก วัยรุ่นชาวสวีเดนเริ่มโดดเรียนวันศุกร์ ไปนั่งอยู่นอกรัฐสภา เรียกร้องให้มีปฏิบัติการอย่างจริงจังต่อสู้โลกร้อน แม้การประท้วงของเธอจะยุติลงเมื่อเรียนจบในปี 2566 แต่ได้สร้างแรงบันดาลใจไปทั่วโลกให้โดดเรียนทุกวันศุกร์เรียกร้องให้ผู้นำโลกพยายามให้มากขึ้น

2565: ปล่อยก๊าซทุบสถิติ

ปี 2565 สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) รายงานว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โลกจะทุบสถิติรายปี แต่การประชุม COP27 ที่เมืองชาร์มเอลชีคในอียิปต์ ผู้ร่วมประชุมตกลงกันไม่ได้เรื่องการลดปล่อยก๊าซให้มากขึ้น

2565: ข้อตกลงความหลากหลายทางชีวภาพ

เดือน ธ.ค.2565 มีการบรรลุข้อตกลงความหลากหลายทางชีวภาพที่มอนทรีออล เรียกร้องให้กำหนดแผ่นดินและมหาสมุทร 30% เป็นเขตคุ้มครองภายในปี 2573 และยุติการสูญพันธุ์ของสายพันธุ์ที่ถูกคุกคามเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์

2566: คำเตือนใหม่

ยูเอ็นเตือนว่า แม้พยายามมาจนถึงขณะนี้ โลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมในช่วงต้นทศวรรษ 2030

หน่วยงานสังเกตสภาพอากาศสหภาพยุโรป “คอเปอร์นิคัส” รายงานว่า อุณหภูมิโลกในฤดูร้อนปีนี้ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมี