‘บริโภคเนื้อให้น้อยลง’ เสียงจากโรดแมปอาหารครั้งแรกใน COP28

‘บริโภคเนื้อให้น้อยลง’ เสียงจากโรดแมปอาหารครั้งแรกใน COP28

ปศุสัตว์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางการเมือง แต่เราก็ต้องเข้าไปแตะเรื่องที่อ่อนไหวเช่นนี้หากจะแก้ปัญหากันจริงๆ ถ้าเราไม่แก้ปัญหาที่การทำปศุสัตว์ เราก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาโลกรวนได้ เพราะหัวใจสำคัญอยู่ที่การบริโภคมากเกินไป

ไม่ได้มีแต่อุตสาหกรรมหนักทั่วไปที่ต้องเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อรับยุค ‘เน็ตซีโร่’ หรือการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์เท่านั้น แต่อุตสาหกรรมอาหารโดยเฉพาะการทำฟาร์มปศุสัตว์ ก็เป็นอีกหนึ่งภาคสำคัญที่ต้องปรับตัวเช่นกัน

ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (UNFCCC COP 28) ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 12 ธ.ค. 2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สำนักงานอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) กำลังเตรียมเปิดเผย “โรดแมป” การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรของโลกสู่เป้าหมายเน็ตซีโร่เป็นครั้งแรก

บลูมเบิร์กระบุว่าโรดแมปของอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียสนั้น คาดว่าจะได้รับการตีพิมพ์โดยเอฟเอโอ ระหว่างการประชุม COP28 ที่จะถึงนี้

หนึ่งในหัวใจสำคัญของแผนการนี้ก็คือ การส่งสารไปถึง “กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว” ที่มีการบริโภคเนื้อสัตว์มากเกินไป ให้ลดการบริโภคลงมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่จะทำให้อุตสาหกรรมการเกษตรโลกเข้ามาอยู่ในกรอบความตกลงปารีส (Paris Agreement) ขณะที่ “กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา” ก็จะต้องพัฒนาปรับปรุงกระบวนการทำฟาร์มปศุสัตว์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน

อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรนั้นคิดเป็นสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 1 ใน 3 ของโลก และคาร์บอนฟุตพรินต์ส่วนใหญ่ก็มาจากการทำฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซมีเทน การถางป่า และการสูญเสียความหลากหลายเชิงระบบนิเวศ เอฟเอโอจึงเตรียมออกพิมพ์เขียวเพื่อเป็นแนวทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งยังตามหลังภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ

จากข้อมูลของเอฟเอโอระบุว่า ปัจจุบันชาวอเมริกันบริโภคเนื้อสัตว์โดยเฉลี่ยมากถึง 127 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งมากกกว่าหลายเท่าตัวเมื่อเทียบการบริโภคโดยเฉลี่ยในไนจีเรียที่ 7 กิโลกรัม ขณะที่ตัวเลขแนะนำการบริโภคที่เหมาะสมอยู่ที่ไม่เกิน 15.7 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

อย่างไรก็ตามโรดแมปนี้เป็นแนวทางแนะนำ ไม่ใช่กฎหมายที่บังคับใช้ “จึงมีความเสี่ยงที่การส่งสารไปยังรัฐบาลประเทศต่างๆ อาจไม่ได้รับการตอบรับกลับมา” เนื่องจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมักจะหลีกเลี่ยงการออกนโยบายที่กระทบต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจะให้ลดการบริโภคในชีวิตประจำวันลง

“ปศุสัตว์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางการเมือง แต่เราก็ต้องเข้าไปแตะเรื่องที่อ่อนไหวเช่นนี้หากจะแก้ปัญหากันจริงๆ ถ้าเราไม่แก้ปัญหาที่การทำปศุสัตว์ เราก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาโลกรวนได้ เพราะหัวใจสำคัญอยู่ที่การบริโภคมากเกินไป” ธานุช ดิเนช ผู้ก่อตั้งองค์กรไคลม์อีท กล่าว

ทั้งนี้ เอฟเอโอกำลังมองหาทางรักษาสมดุลระหว่างการเปลี่ยนผ่านทางด้านสิ่งแวดล้อมกับการรักษาความมั่นคงทางอาหารสำหรับประชากรโลกที่ขยายตัวขึ้น ดังนั้นในขณะที่เรียกร้องให้ลดเรื่องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มากเกินความจำเป็น (over-consumption) ในอีกฝั่งหนึ่งก็ต้องสนับสนุนการทำปศุสัตว์ต่อไปในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้มีการเพิ่มผลผลิตโดยให้กระบวนการเป็นไปอย่างยั่งยืนมากขึ้น

ข้อเสนอของเอฟเอโอในโรดแมปนี้ยังครอบคลุมประเด็นต่างๆ อาทิ การช่วยให้เกษตรกรปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่แปรปรวนมากขึ้น ไปจนถึงการแก้ไขปัญหาแหล่งที่มาสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น เศษอาหาร ความเสียหายหลังการเก็บเกี่ยว หรือการใช้ปุ๋ยเคมี โดยโรดแมปจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะไปจนถึงช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เพื่อให้ครอบคลุมถึงข้อเสนอแบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายประเทศเอาไว้ด้วย

โซเฟีย คอนเดส หัวหน้าฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของ แฟร์ อินนิชิเอทีฟ ซึ่งเป็นเครือข่ายนักลงทุนที่มุ่งเน้นด้านอีเอสจีในอุตสาหกรรมอาหาร ระบุว่าแผนโรดแมปของเอฟเอโอในครั้งนี้มีความสำคัญในการแชร์ทิศทางให้กับนักลงทุนและบริษัทที่ทำธุรกิจด้านปศุสัตว์ เพื่อให้สามารถวางแผนเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อมได้ เพราะยิ่งคอยท่านานเท่าใด การเปลี่ยนผ่านก็จะยิ่งรุนแรงและมีความเสี่ยงที่จะถูกดิสรัปมากขึ้นเท่านั้น

โรดแมปของเอฟเอโอเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมอาหารที่คาดว่าจะมีการประกาศคำมั่นและการดำเนินการต่างๆ ในการประชุม COP28 ครั้งนี้ ซึ่งโดยปกติแล้ว ที่ประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมักจะหลีกเลี่ยงการแตะต้องเรื่องอาหารและเกษตร เนื่องจากมีความอ่อนไหวต่อประเด็นความมั่นคงทางอาหาร แต่ในปีนี้ ผู้ก่อตั้งองค์กรไคลม์อีทระบุว่า มีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านนี้มากขึ้น นอกเหนือไปจากแค่การร่วมประชุมกัน

“ผมเห็นว่ามีผู้คนเข้าร่วมเยอะขึ้น มีอีเวนต์มากขึ้น และมีกิจกรรมหลากหลายขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรในปีนี้” ดิเนช กล่าว

ทั้งนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมได้เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ลงนามในปฏิญญาเพื่อให้คำมั่นว่า จะทำให้อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรในประเทศของตนเอง เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามนี้ด้วย และยังเป็นครั้งแรกที่การประชุม COP มีการจัดวาระทั้งวันให้เป็นเรื่องของอาหาร เกษตร และน้ำ ในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ ในขณะที่การเสิร์ฟอาหารภายในงานมากถึง 2 ใน 3 ยังเป็นอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์เทียมที่สังเคราะห์ในห้องแล็ปอีกด้วย