การเมืองโลกกำลังกลับมาสู่ยุคขวาจัด?

การเมืองโลกกำลังกลับมาสู่ยุคขวาจัด?

ในสัปดาห์นี้โลกกำลังได้ผู้ชนะเลือกตั้งหน้าใหม่ใน 2 ประเทศ คือ “อาร์เจนตินา” และ “เนเธอร์แลนด์” ซึ่งแม้จะอยู่กันคนละทวีป แต่ก็มีความคล้ายกันอย่างหนึ่งคือ เป็นผู้นำขั้วการเมือง “ขวาจัด” (Far-right) เหมือนกัน

ฆาบิเยร์ มีเล (Javier Milei) คือผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอาร์เจนตินาที่ถูกเรียกว่าเป็น “โดนัลด์ ทรัมป์” แห่งละตินอเมริกา เพราะถูกมองว่ามีแนวคิดขบฏแบบคนนอกที่เสนอแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ อย่างสุดโต่ง เช่น ในเมื่อประเทศมีปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงชนิด 140% ของจีดีพี รัฐบาล-ธนาคารกลางแก้ปัญหาไม่ได้ เงินก็แทบจะกลายเป็นแบงก์กงเต๊ก ถ้าอย่างนั้นก็ยกเลิกมันให้หมด ยกเลิกแบงก์ชาติที่แก้ปัญหาเงินเฟ้อไม่ได้ และยกเลิกสกุลเงินเปโซ หันไปใช้เงินดอลลาร์สหรัฐแทน (Dollarization)

ส่วนในเนเธอร์แลนด์นั้น เคียร์ต วิลเดอร์ส (Geert Wilders) หัวหน้าพรรคเสรีภาพ (พีวีวี) ที่คร่ำหวอดในการเมืองมาหลายสิบปีแล้ว ผลเอ็กซิตโพลล่าสุดระบุว่าพรรคของเขามีคะแนนมากที่สุดได้ไป 35 ที่นั่ง จากทั้งหมด 150 ที่นั่งในสภา โดยชนะพรรคใหญ่สุดอันดับหนึ่งที่เป็นขั้วพันธมิตรพรรคแรงงาน/ฝ่ายซ้าย ของฟรานซ์ ทิมเมอร์มานน์ ไป 10 ที่นั่ง

วิลเดอร์มีชื่อในเรื่องแนวคิดต่อต้านมุสลิม โดยเฉพาะบรรดาผู้อพยพชาวมุสลิมที่หนีภัยหรือเข้ามาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในยุโรป เขาเคยเป็นข่าวดังเมื่อหลายปีก่อน เมื่อครั้งที่เกิดกระแสต่อต้านผู้อพยพในยุโรป ก่อนที่กระแสจะจางลงไป จนกระทั่งกลับมาชนะเลือกตั้งได้เป็นครั้งแรกในปีนี้

คำถามก็คือ ชัยชนะของการเมืองฝ่ายขวาจัดเหล่านี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ตามมาขนาดไหน และจะกลายเป็นการก่อคลื่นการเมืองขวาจัดไปทั่วโลก หรือไม่

ต้องยอมรับว่าการที่โลกกำลังจับตากระแสการเมืองขวาจัดนั้น ก็เพราะ “สหรัฐ” กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปีหน้า และกระแสตอนนี้ก็คือ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังมีคะแนนนำในโพลสำรวจความเห็นประชาชนของหลายสำนัก โดยที่ฝั่งเดโมแครตกำลังเพลี่ยงพล้ำ เพราะทำผลงานเรื่องเศรษฐกิจไว้ไม่ค่อยเข้าตาคนโดยเฉพาะการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ 

จึงไม่น่าแปลกใจที่การเลือกตั้งทั่วโลกจะถูกจับตาเรื่องสัญญาณขั้วการเมืองกัน โดยทยอยปรากฏมาตั้งแต่ปีที่แล้วกับการเลือกตั้งในอิตาลีและฮังการี ที่ได้ขั้วฝั่งขวามา และยิ่งตอกย้ำทิศทางอีกกับอาร์เจนตินาและเนเธอร์แลนด์ในปีนี้

ทว่ายังไม่มีความแน่ชัดมากพอว่า 2 ประเทศหลังโดยเฉพาะอาร์เจนตินา จะพลิกขั้นจากซ้ายไปขวาได้มากพอหรือไม่ เนื่องจากเสียงในสภาของมีเลยังไม่มากพอ จึงอาจมีการงัดข้อการออกกฎหมายต่างๆเช่น แผนการหั่นงบประมาณครั้งใหญ่ การเปลี่ยนไปใช้เงินดอลลาร์ หรือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

ส่วนเนเธอร์แลนด์นั้นก็ยังไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าวิลเดอร์สจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพราะต้องผ่านด่านการเจรจากับพรรคร่วมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย 

แต่ไม่ว่าจะได้หรือไม่ได้เป็นนายกฯ ผลเลือกตั้งในสองประเทศนี้ก็กำลังสะท้อนให้เห็นถึง “เสียงของประชาชน” และการปฏิเสธความเจ็บปวดในปัจจุบัน

ปัญหาใหญ่ที่สะท้อนในแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งเนเธอร์แลนด์คือ “คลื่นผู้อพยพ” ซึ่งทะลักเข้ามาถึงกว่า 2.2 แสนคนในปี 2565 ในประเทศที่มีประชากรเพียง 18 ล้านคน

ส่วนปัญหาใหญ่ในอาร์เจนตินาคือ เงินเฟ้อที่สูงถึง 140% ของจีดีพี จนสร้างผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า ราคาสินค้าเกือบทุกประเภทไปจนถึงร้านอาหารต้องอัปเดตราคาสินค้ากันเป็นรายสัปดาห์ หรืออาจมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ การเกษตรที่เป็นรายได้หลักของประเทศก็มีปัญหา หลายครอบครัวต้องกระเสือกกระสนหาเงินแบบเดือนชนเดือน เช่น ขายเสื้อผ้ามือสองและของใช้ส่วนตัว สื่อต่างประเทศเคยทำรายงานถามความรู้สึกของประชาชน ซึ่งหลายคนก็ไม่ได้ชอบมีเลอะไรนัก เพราะรู้สึกว่ามีแนวทางสุดโต่งเกินไปหน่อย

แต่ถ้าต้องเลือกพรรครัฐบาลเพื่อมาเจอกับเงินเฟ้อแบบเดิม เจอปัญหาเดิมๆ เหมือนที่เป็นอยู่ หลายคนจึงขอเสี่ยงไปทางเลือกใหม่ หรืออาจเรียกได้ว่าขอไปตายเอาดาบหน้ากับการเมืองที่เดาทางไม่ได้ดีกว่า