กต.ตำหนิการเผยคลิปกลางที่ประชุม UN อ้างเป็นตัวประกันชาวไทยถูกฮามาสสังหาร

กต.ตำหนิการเผยคลิปกลางที่ประชุม UN  อ้างเป็นตัวประกันชาวไทยถูกฮามาสสังหาร

กระทรวงต่างประเทศออกแถลงการณ์ ตำหนิกรณีเปิดคลิปสะเทือนขวัญกลางที่ประชุมยูเอ็น อ้างเป็นแรงงานไทยถูกสังหารระหว่างฮามาสบุกโจมตีวันที่ 7 ต.ค. ชี้การเผยแพร่ภาพที่ไม่คำนึงถึงและไม่เคารพต่อผู้เสียชีวิตและครอบครัว พร้อมประณามการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์

วันนี้ (29 ต.ค. 2566) กระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีที่ กิลาด เออร์ดาน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ ได้เปิดคลิปวิดีโอสั้นระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (UN) เมื่อวันที่ 26 ต.ค. โดยอ้างว่าเป็นภาพแรงงานชาวไทยกำลังถูกกลุ่มอาวุธฮามาสสังหาร ระหว่างการบุกเข้าโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา 

แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศ มีใจความดังนี้

"ตามที่เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมสหประชาชาติได้มีการแสดงคลิปภาพของเหยื่อที่ถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด โดยอ้างว่าเป็นคนไทยนั้น ภาพการสังหารดังกล่าวได้สร้างความสะเทือนใจอย่างยิ่ง ไม่ใช่เฉพาะต่อประชาชนคนไทยเท่านั้น แต่ต่อคนทั่วโลกด้วย

กระทรวงการต่างประเทศรู้สึกสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นรายงานคลิปภาพของเหยื่อ และไม่เห็นด้วยกับการเผยแพร่ภาพที่ไม่คำนึงถึงและไม่เคารพต่อผู้เสียชีวิตและครอบครัว

กระทรวงการต่างประเทศประณามการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะกระทำต่อคนชาติใด โดยฝ่ายใด และด้วยเหตุผลใดก็ตาม

กระทรวงต่างประเทศเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่มีพี่น้องคนไทยเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบนี้แล้วถึง 32 คน บาดเจ็บ 19 คน และถูกจับไป 19 คน (ตัวเลขสถานะคืนวันที่ 28 ตุลาคม 2566) และขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันทุกสัญชาติทุกคนในทันที"

กต.ตำหนิการเผยคลิปกลางที่ประชุม UN  อ้างเป็นตัวประกันชาวไทยถูกฮามาสสังหาร

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ ได้ใช้แทบเล็ตเปิดคลิปวิดีโอสั้นๆ ที่อ้างว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธฮามาสพยายามตัดศีรษะชายคนหนึ่งด้วยจอบทำสวน และกล่าวกับที่ประชุมยูเอ็นว่า "เหยื่อที่เห็นในคลิปไม่ใช่ชาวอิสราเอลหรือชาวยิว แต่เป็นแรงงานด้านเกษตรกรรมจากประเทศไทย"

กต.ตำหนิการเผยคลิปกลางที่ประชุม UN  อ้างเป็นตัวประกันชาวไทยถูกฮามาสสังหาร

นอกจากการเปิดคลิปสั้นและภาพถ่ายในห้องประชุมแล้ว ยังมีรายงานด้วยว่า บรรดานักการทูตอิสราเอลได้นำกระดาษที่มีคิวอาร์โค้ดพร้อมข้อความระบุว่า "ปลดปล่อยกาซาจากฮามาส" และ "สแกนเพื่อดูความโหดร้ายของกลุ่มฮามาส" ไปติดตามที่นั่งภายในห้องประชุม เพื่อให้ทุกคนสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดดูภาพและคลิปวิดีโอการโจมตีของฮามาส เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ได้