'จีน' เสนอแนวคิด 'ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน'

'จีน' เสนอแนวคิด 'ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน'

จีนต้องการบอกอะไรแก่โลกและอเมริกา ด้วยการเสนอแนวคิด "ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน" วางตัวเป็นผู้นำความร่วมมือทั่วโลก

ถ้าหากใครที่ได้ติดตามข่าวการกล่าวปาฐกถาหรือแสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำจีนและเจ้าหน้าที่ของจีนในประเทศและเวทีระหว่างประเทศ จะเห็นว่านับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เป็นต้นมา จีนพยายามชูคีย์เวิร์ดสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศ นั่นคือ พหุภาคี และอีกหนึ่งคำคือ ชุมชน หรือ "ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน" 

อย่างในการกล่าวแสดงความคิดเห็นต่อนโยบาย ฟรีวีซ่า ของรัฐบาลไทยที่ทาง นักท่องเที่ยวจีน ได้รับสิทธิประโยชน์ด้วย และทางนายกรัฐมนตรีไทยก็ได้ไปต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนชุดแรกที่เข้ามาไทยด้วยนโยบายฟรีวีซ่าด้วยตนเอง

ทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ในนามของทั้งกระทรวงการต่างประเทศจีนและจีน ได้เอ่ยชื่นชมไทยและกล่าวถึงความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนในทุกระดับตั้งแต่ระดับประชาชนและระดับรัฐต่อรัฐที่มีมาอย่างยาวนาน พร้อมเอ่ยถึงเรื่อง "ชุมชนที่มีอนาคตร่วมกัน"

เวลาที่ จีน กล่าวถึงความร่วมมือกับประเทศอื่น หรือทางการทูต มักจะใช้คำนี้อยู่เสมอ และเมื่อปลายเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา ทาง "รัฐบาลจีน" ได้เผยแพร่ "หนังสือปกขาว (White paper)" ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญของจีนเวลาออกนโยบายหรือเน้นย้ำวิสัยทัศน์-มาตรการสำคัญที่ส่งผลต่อระดับชาติและระหว่างประเทศ

เอกสารปกขาวว่าด้วยประเด็น "ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน" หรือ Global Community of Shared future ก็ตอกย้ำถึงความพยายามของจีนในการวางตัวเป็นผู้นำของการร่วมมือกับทั่วโลก ตามที่จีนย้ำเสมอในเวทีโลก และแม้แต่เวลาที่ตอบโต้ หรือเจรจากับอเมริกา ที่มักมีข้อพิพาทบ่อยๆ จีนก็กล่าวถึงประเด็นนี้ในแนวที่ว่า "มาร่วมมือกันแบบได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ภายใต้แนวคิดประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกันเถอะ"

พอเล่าถึงเอกสารปกขาวประเด็น Global Community of Shared Future ก็ขอนำประเด็นสำคัญที่ อ้ายจง ได้อ่านและวิเคราะห์จากเอกสารฉบับเต็ม Full Text : A Global Community of Shared Future : China's Proposals and Actions เผยแพร่โดยกระทรวงการต่างประเทศจีน มาสรุปให้ทุกคนได้ทราบ ดังนี้

1. จีนระบุถึง "วิสัยทัศน์ของชุมชนระดับโลกที่มีอนาคตร่วมกัน" ว่า เป็นสิ่งที่จะนำความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงมาสู่โลก และสร้างผลประโยชน์ที่สำคัญให้กับประชาชน

2. จีนระบุว่า "ผู้แข็งแกร่งกว่าไล่ล่าผู้อ่อนแอกว่า" ไม่ใช่วิธีที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันได้ และการกระทำที่เป็นแบบ "แนวคิดเกมผลรวมเป็นศูนย์ (Zero Sum Game)" จะทำลายทุกฝ่าย โดยประเด็น "แนวคิดเกมผลรวมเป็นศูนย์" คือสิ่งที่จีนยกมาตอบโต้อเมริกา เวลาที่มีข้อพิพาทและอเมริกามีการกระทำที่จีนมองว่า "กีดกันจีน" เช่น การตั้งข้อจำกัดทางการค้า ด้วยกำแพงทางภาษี โดยจีนยกประเด็นการร่วมมือแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน แนวคิดพหุภาคี และประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกันมาตอบโต้

3. จีนระบุว่า "จีนและโลกเจริญรุ่งเรืองไปพร้อมกัน" โดยประเด็นนี้อ้ายจงวิเคราะห์ได้ว่า การที่จีนกล่าวประเด็นนี้ในเอกสารแนวคิด ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน คือเป็นตามที่จีนออกมาตอบโต้อเมริกาและบางประเทศที่ตั้งข้อกังขาถึงการพัฒนาของจีนว่า เป็นความเสี่ยง 

4. จีนระบุว่า "การสร้างชุมชนระดับโลกที่มีอนาคตร่วมกัน" คือการแสวงหาความเปิดกว้าง การไม่แบ่งแยก ผลประโยชน์ร่วมกัน ความเสมอภาค และความยุติธรรม เป้าหมายไม่ใช่การแทนที่ระบบหรืออารยธรรมหนึ่งด้วยระบบอื่น แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเทศที่มีระบบสังคม อุดมการณ์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน มารวมกันเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน สิทธิร่วมกัน และความรับผิดชอบร่วมกันในกิจการระดับโลก

5. จีนยกว่า "วิสัยทัศน์ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน" แตกต่างจากแนวคิดของการรวมกลุ่ม และคุณค่าสากลที่เคยถูกกำหนดโดยประเทศตะวันตกเพียงไม่กี่ประเทศ (ระบุอยู่ในเอกสารปกขาว อ้ายจงไม่ได้เอ่ยเอง)

6. จีนเสนอแนวคิดดังกล่าว โดยยกข้อสนับสนุนที่ว่า "เมื่อมองจากมุมมองของอนาคตร่วมกัน โลกนี้กว้างใหญ่และเต็มไปด้วยโอกาสในการร่วมมือ" แต่ถ้ามองโดยเอาประเทศตนเองเป็นหลัก หรือประเทศตนเองมาก่อน โลกจะมีขนาดเล็กและแออัด และจะตกอยู่ในห้วงของ "การแข่งขันที่ดุเดือด" 

7. จีนยังระบุในเอกสารว่า "ควรสร้างโลกแห่งสันติภาพที่ยั่งยืน" สร้างโลกแห่งความปลอดภัยร่วมกันสำหรับทุกคน สร้างโลกแห่งความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน สร้างโลกที่เปิดกว้างและครอบคลุม และเริ่มชื่นชมความเข้มแข็งของอารยธรรมอื่น ควรทำให้โลกของเราสะอาดและสวยงาม โดยเน้นที่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากร หยุดการทำลายทรัพยากร

ในข้อนี้ก็จะสอดคล้องกับข้อคิดริเริ่มที่จีนโดย สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เสนอในเวทีโลกตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เป็นต้นมา ไล่ตั้งแต่ GDI – Global Development Initiative (ข้อคิดริเริ่มการพัฒนาระดับโลก) GSI – Global Security Initiative (ข้อริเริ่มด้านความมั่นคงระดับโลก) และ GCI- Global Civilization Initiative (ข้อริเริ่มอารยธรรมโลก) การเคารพอารยธรรมซึ่งกันและกันของแต่ละประเทศ โดยก้าวข้ามความบาดหมางและการแก่งแย่ง

8. การเปิดประเทศควรเป็นการเดินทางสองทาง ไม่ใช่ถนนเดินรถทางเดียว เราไม่สามารถเรียกร้องให้ประเทศอื่นเปิดประเทศในขณะที่ปิดประตูของตัวเองได้

9. ประชาธิปไตยไม่ใช่ "โคคา-โคลา" ที่จะมีรสชาติเหมือนกันทั่วโลกเพียงใช้น้ำเชื่อมผลิตจากประเทศเดียว และประชาธิปไตยก็ไม่ใช่เครื่องประดับ แต่ "เป็นวิธีแก้ปัญหาที่แท้จริง" จีนระบุในเอกสารทางการว่าด้วย "แนวคิดประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน"

โดยการออกมากล่าวถึงเรื่องประชาธิปไตยในแบบตนของจีน ว่ากันตามตรงก็เป็นการตอบโต้ทางอเมริกาและบางประเทศที่ตั้งข้อกังขาจีนในประเด็นประชาธิปไตยและแบ่งขั้วฝ่าย 

จีน ประกาศจุดยืนว่าจีนเองก็มีประชาธิปไตยแบบจีน และทุกประเทศล้วนมีลักษณะเฉพาะของตนเอง มีอิสระในการเลือกรูปแบบรวมถึงการตีความคำว่าประชาธิปไตยตามที่เหมาะสมกับตน มองว่าการแบ่งขั้วที่บอกว่าประเทศนั้นเป็นประเทศมีและไม่มีประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดเชิงลบมากกว่าผลบวก ดังนั้นเราจึงเห็นจีนพูดถึงประชาธิปไตยแบบจีนในเอกสารทางการที่ว่าด้วยประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน ในฐานะตัวอย่างของการเปิดกว้าง และมีลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศ แต่ร่วมมือกันได้

10. จีนกล่าวถึง โลกาภิวัฒน์ ในมุมมองที่ว่า โลกาภิวัฒน์ได้ก่อให้ประเทศต่างๆ และโลกมีความก้าวหน้า ทั้งด้านการผลิต ตลาด เทคโนโลยี คุณภาพชีวิต และอื่นๆ โดยแต่ละประเทศได้เชื่อมโยงถึงกันแบบไม่เคยมีมาก่อน โดยย้ำถึงโลกาภิวัฒน์ "ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือความจริงและวิถีชีวิต" ซึ่งจีนกล่าวถึงประเด็นนี้เป็นการเกริ่นให้เห็นถึงความสำคัญในสิ่งที่จีนนำเสนอ คือ ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน นั่นเอง

เขียนโดย : ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าของเพจอ้ายจง เพจเล่าเรื่องเมืองจีนทุกแง่มุม