จับตาฐานะการคลัง‘ลาว’ หลังหนี้สาธารณะพุ่งระดับวิกฤต

จับตาฐานะการคลัง‘ลาว’ หลังหนี้สาธารณะพุ่งระดับวิกฤต

หนี้สาธารณะและหนี้ที่มีการค้ำประกันของลาวมีสัดส่วน 123% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2566 โดยจีนเป็นเจ้าหนี้ในสัดส่วนเกินกว่าครึ่งหนึ่ง

หลังจากที่มีการติดตั้งป้าย “ความช่วยเหลือจากจีน” บริเวณหน้าอนุสาวรีย์ประตูไซในนครเวียงจันทน์ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของลาวจากฝรั่งเศส ภาพดังกล่าวสร้างความพอใจให้กับหลาย ๆ คนในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้

แต่ข้อความสีแดงบนพื้นสีดำที่ว่า“เพื่ออนาคตที่มีร่วมกัน” ดูจะเป็นเรื่องยากที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในลาวจะมองข้ามไปได้ ในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อ และหลายคนกลัวว่าอธิปไตยของประเทศอาจถูกบั่นทอนอีกครั้ง

ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า หนี้สาธารณะของลาวและหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันมีสัดส่วน 123% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2566 และผู้เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่คือประเทศจีน ที่ให้เงินทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายแห่งในลาวตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเรียกสถานการณ์นี้ว่า “การทูตกับดักหนี้”เนื่องจากโครงการต่างๆทำให้ลาวประสบปัญหาในการชำระหนี้ และจีนก็ปล่อยกู้อย่างไม่โปร่งใส จงใจปิดบังขนาดหนี้ที่แท้จริง ยิ่งเพิ่มความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแผ่อิทธิพลของจีนในประเทศแห่งนี้

“แมริซา คูเรย์” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำศูนย์พัฒนาอินโดแปซิฟิก จากสถาบันโลวีในนครซิดนีย์ ที่กำลังสร้างโมเดลแนวโน้มเศรษฐกิจของลาว ให้สัมภาษณ์กับนิกเคอิว่า“วิกฤติหนี้สินลาวรุนแรงมากกว่าที่โลกรับรู้ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปกปิดข้อมูลที่น่ากังวล และการเผยแพร่สถิติและข้อมูลที่มีคุณภาพต่ำ”

โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่สุดของลาวที่ได้รับทุนสนับสนุนจากจีนคือ การเปิดตัวเส้นทางรถไฟมูลค่า 5,900 ล้านดอลลาร์ (2.12 แสนล้านบาท) เมื่อเดือน ธ.ค. ปี2565 ซึ่งเป็นทางรถไฟเชื่อมเมืองคุนหนิง ทางภาคใต้ของจีนกับกรุงเวียงจันทน์เมืองหลวงของลาว

ทางรถไฟลาว-จีน เส้นนี้ช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงที่สำคัญ จากความพยายามสร้างทางรถไฟของรัฐบาลปักกิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (บีอาร์ไอ)

บริษัทที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของและถือหุ้นเส้นทางรถไฟลาว-จีน 70% ส่วนรัฐบาลลาวถือหุ้นอยู่ 30% ต้องใช้หนี้ 1,900 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างทางรถไฟดังกล่าว

จับตาฐานะการคลัง‘ลาว’ หลังหนี้สาธารณะพุ่งระดับวิกฤต
 

แม้ลาวตั้งเป้าก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกไฟฟ้าของภูมิภาค แต่ประเทศนี้ยังคงแบกรับภาระหนี้้สินก้อนใหญ่ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากลาวสร้างเขื่อนหลายสิบแห่งในแม่น้ำโขงและแควน้ำ ด้วยความช่วยเหลือจากต่างชาติ โดยในปี 2564 ที่ลาวประสบปัญหาหนี้สิน รัฐบาลได้ให้สัมปทานกับการไฟฟ้าลาว (อีดีแอล-ที) บริษัทก่อตั้งใหม่ โดยมีเจ้าของส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ซึ่งเป็นสัมปทานควบคุมโครงข่ายพลังงานส่วนใหญ่ของลาวเป็นเวลา 25 ปี

“เคียร์ริน ซิมส์” นักวิชาการด้านการพัฒนาจากมหาวิทยาลัยเจมส์คุก ในอสสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า “การลงทุนจากต่างชาติส่วนใหญ่ทุ่มไปกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและน้ำ รวมถึงการขยายโครงสร้างพื้นฐาน แต่ลาวไม่มีการพัฒนาทักษะแรงงาน หรือลงทุนในด้านการศึกษาและบริการด้านสุขภาพที่สำคัญเลย”

 ขณะที่รัฐบาลลาวยังคงปฏิเสธให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

ขณะที่ข้อมูลของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า การใช้จ่ายกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้รัฐบาลลาวต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านบริการสาธารณะรายปีเฉลี่ย 1,200 ล้านดอลลาร์ ตลอดระยะ 5 ปี ข้างหน้า

“เอ็มมา อัลเลน” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำลาวของเอดีบี คาดการณ์ว่า จีดีพีลาวอาจมีมูลค่าแค่ 14,090 ล้านดอลลาร์ในปี 2566

ตอนนี้ระดับหนี้สินสาธารณะลของาวอยู่ในระดับวิกฤติ และสะท้อนถึงความเสี่ยงในการชำระคืนหนี้ ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของลาว

คูเรย์ ยังเตือนอีกว่า หากเงินกีบของลาวในปัจจุบันไม่มีเสถียรภาพ “หนี้สาธารณะอาจเพิ่มขึ้น” และถ้าลาวยังคงดำเนินนโยบายที่ทำให้เงินกีบอ่อนค่า การชำระคืนหนี้อาจทำได้ยากลำบาก ภายในปี 2568

เงินกีบของลาวอ่อนค่าต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน ก.ย. เกือบ 20,000 กีบต่อดอลลาร์ 

อัลเลนจากเอดีบี  ระบุว่า เนื่องจากค่าเงินกีบอ่อนค่ารุนแรง ราคาสินค้าของลาวที่เป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการนำเข้าอย่างมากจึงแพงขึ้น และเงินเฟ้อด้านอาหารระหว่างเดือนม.ค. และเดือนส.ค. เฉลี่ยอยู่ที่ 46%

ส่วนจีนแสดงท่าทีเหมือนอยากเลื่อนการชำระหนี้จากลาวออกไป ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ค่อยมีความชัดเจน ด้วยความหวังว่าจะปกป้องลาวจากการผิดนัดชำระหนี้้ เพราะรัฐบาลปักกิ่งเองไม่อยากให้เศรษฐกิจของประเทศที่เข้าร่วมโครงการบีอาร์ไอมีปัญหาเหมือนศรีลังกา

คูเรย์ บอกว่า เธอมองไม่เห็นทางออกของประเทศลาวในเรื่องของการผ่อนผันชำระหนี้ และเชื่อว่ารัฐบาลปักกิ่งไม่น่าจะเต็มใจให้ลาวเลื่อนชำระหนี้

เมื่อมองไปยังอนาคตข้างหน้า ซิมส์ บอกว่า รัฐบาลเวียงจันทน์ ไม่ได้ส่งสัญญาณที่น่าเชื่อถือว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร เพียงแต่ย้ำว่า จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการบริหารเศรษฐกิจครั้งใหญ่

“เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของลาว เพื่อสร้างโอกาสในการจ้างงานมากขึ้น ซึ่งการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเพียงอย่างเดียวและการที่อัตราว่างงานในลาวยังสูงต่อเนื่องไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาระยะยาวแก่ลาวเลย” ซิมส์ เตือน